ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทย (SET) กำลังขึ้นแรง  หลายๆคนก็ยังกลัวว่าจะขึ้นจริงไม่จริง  เพราะช่วงนี้ก็มีกระแสข่าวเรื่องร้าย ๆวนเวียนอยู่ไม่ขาดเช่น ความขัดแย้งของรัฐบาลอเมริกากับเกาหลีเหนือ  เหตูการณ์พายุเฮอริเคนเออร์มาพัดเข้าถล่มรัฐฟลอริดาเป็นต้น  TerraBKK จึงรวบรวมข้อมูลดัชนี SET ในแต่ละช่วงที่เผชิญวิกฤติต่าง ๆทั้งของไทยและต่างชาติอย่างละ 5 เหตุการณ์มาให้ดูกัน

 วิกฤติของต่างชาติ

Black Monday

เป็นเหตุการณ์การเกิด Panic Sell ที่ทำให้ตลาดหุ้น Dow Jones ลดลงวันเดียวคิดเป็น % มากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ -22.6% เหตุผลหลักนั้นมาจาก Algorithm Trading (ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์สำหรับการเสนอซื้อขายได้โดยอัตโนมัติที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายสำหรับกองทุนต่าง ๆในช่วงนั้น)  ซึ่งเมื่อเกิดความผิดพลาดบางอย่างที่โปรแกรมไม่สามารถตอบสนองได้ ทำให้เกิดการเทขายแบบไม่สมเหตุสมผล  แผ่กระจายความตระหนกให้นักลงทุนเทขายตาม  โดยมีแรงสับสนุนจากภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจสหรัฐด้วยทำให้ผลลัพธ์ออกมาค่อนข้างรุนแรง  สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้นลดลง 8% ในวันเดียว โดยใช้เวลากว่า 2 เดือนถึงจะเริ่มฟื้นตัว


สงครามอ่าวเปอร์เซีย

เป็นสงครามที่มีพันธมิตรร่วมจาก 34 ชาตินำโดยสหรัฐอเมริกาเข้าต่อต้านประเทศอิรักหลังการบุกยึดครองคูเวตของอิรัก ตั้งแต่ช่วง 2 ส.ค. 2533 – 28 ก.พ. 2534  SET ปรับตัวลดลงเป็นระยะเวลาสามเดือนเต็มจาก 1143 จุด ไปต่ำสุดที่ 598 จุด คิดเป็นประมาณ 52%


เหตุวินาศกรรมสหรัฐ (9/11)

เหตุวินาศกรรม 11 กันยา หรือ ไนน์วันวัน เป็นปฏิบัติการก่อการร้ายที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์  โดยการการโจมตีพลีชีพรวมสี่ครั้งต่อประเทศสหรัฐอเมริกาในนครนิวยอร์กและพื้นที่วอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 11 ก.ย. พ.ศ. 2544  ในช่วงเหตุการณ์นี้ SET ปรับตัวลงไปจาก 330 จุด ไปต่ำสุดที่ 266 จุด ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน  คิดเป็นประมาณ 19% หลังจากนั้นจึงกลับตัวเป็นเทรนด์ขาขึ้นรอบใหญ่


วิกฤติ Hamburger

วิกฤตินี้เริ่มจากการที่ภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกาแตกและการผิดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัว ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2548 - 2549 โดยผู้กู้ยืมนั้นกู้ยืมสินเชื่อที่เกินกำลังโดยคิดว่าตนจะสามารถปรับโครงสร้างเงินกู้ได้  แต่ทว่าการปรับโครงสร้างเงินกู้กลับเป็นไปได้ยากขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้นและราคาบ้านเริ่มต่ำลง การผิดชำระหนี้และการยึดทรัพย์สินจึงเพิ่มมากขึ้น การยึดทรัพย์สินในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี 2549  ปัญหาทางการเงินนี้เริ่มมาส่งผลอย่างรุนแรงในช่วงปี 2551 โดยดัชนี SET ลงจากจาก 842 จุดตอนต้นปีไปสู่ 449 จุด ตอนปลายปี คิดเป็นประมาณ 46%


BREXIT

Brexit มาจากคำว่า Britain+Exit คือเหตุการณ์ที่สหราชอาณาจักร (United Kingdom หรือ Great Britain) หรือที่คนไทยมักจะเรียกกันว่า “อังกฤษ” (England) จนเคยชิน มีผลโหวตอย่างเป็นทางการที่จะออกจากสหภาพยุโรป (European Union)  ผลกระทบต่อไทยนั้นในทางตรงไม่น่าจะมีอะไรกระทบมาก เพราะสัดส่วนการส่งออกไปอังกฤษของไทย เพียงแค่ 1.8 % อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของ Brexit ต่อไทย น่าจะเป็นผลกระทบทางอ้อม ที่จะมาจาก การสั่นคลอนของ EU และระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก  ในส่วนของดัชนี SET นั้นปรับตัวลงแค่ประมาณ 2% ในวันต่อมาหลังจากมีประกาศ BREXIT และใช้เวลาแค่เพียง 5 วันในการกลับสู่ภาวะปกติ


วิกฤติของประเทศไทย

พฤษภาทมิฬ

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค. 2535 ซึ่งสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 ที่รสช.เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในช่วงวันเหล่านั้นเกิดเหตุความไม่สงบ ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างรุนแรงทันที 65 จุดเหลือเพียง 667 จุด จาก 732 จุด ก่อนจะดีดกลับ 61 จุดในวันที่ 21 พ.ค. 2535 หลังเหตุการณ์ความไม่สงบตลาดหุ้นก็ตกอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนัก  แต่พอเริ่มเข้าสู่ช่วงเดือนกันยายนก็กลับมาคึกคักและเข้าสู่เทรนด์ขาขึ้นแบบเต็มตัว

 
วิกฤติต้มยำกุ้ง

วิกฤตินี้เริ่มจากปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน จนผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ขาดความเชื่อมั่น ค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก จากการที่อัตราแลกเปลี่ยนในตอนนั้นเป็นแบบคงที่ จนในวันที่ 2 ก.ค. 2540 จึงมีการตัดสินใจปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวแบบ Managed Float รวมทั้งต้องประกาศปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งอย่างถาวร  ตลาดหุ้นไทยเป็นขาลงอย่างยาวนานถึงเกือบสามปีจึงเริ่มฟื้นตัว


แบ็งค์ชาติ 108 จุด

เหตุการณ์นี้เกิดจากการที่แบ็งค์ชาติออกมาตรการสะกัดกั้นเงินบาทแข็ง โดยกำหนดให้ต้องมีส่วนเงินสำรอง 30% สำหรับการนำเข้าเงินทุนระยะสั้น การประกาศนี้ออกมาในเย็นวันที่ 18 ธ.ค. 2549 หลังตลาดหุ้นปิด  ส่งผลให้วันต่อมาตลาดหุ้นไทยลงไปปิดที่ 622 จุด จาก 730 จุด คิดเป็นประมาณ 15% ในวันเดียว


การปิดล้อมสนามบิน

การบุกยึดท่าอากาศยานในประเทศไทย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พ.ย. - 3 ธ.ค. พ.ศ. 2551 โดยในวันที่ 24 พ.ย. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้บุกเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้สำเร็จ และเหตุการณ์สิ้นสุดเมื่อมีการประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธ.ค.  ในเหตูการณ์ครั้งนี้นั้นเมื่อมีการเข้ายึดสนามบินกลับทำให้ SET เริ่มฟื้นตัวหลังจากอยู่ในภาวะกดดันมานาน และเมื่อมีการยุติการชุมนุมตลาดหุ้นก็กลับเข้าสู่เทรนด์ขาขึ้นอย่างเต็มตัว


เหตุการณ์ก่อการร้ายราชประสงค์

เกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 เวลา 18.55 น. ตามเวลาในประเทศไทย ที่ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และในวันต่อมาได้เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดลงมาจากสะพานตากสิน บริเวณท่าเรือสาทร  ในวันที่ 18 ส.ค. ตลาดหุ้นปรับตัวลง 36 จุด จาก 1408 จุด ไปปิดที่ 1372 จุด  จากนั้นจึงลงไปต่ำสุดที่ 1301 จุด คิดเป็นประมาณ 7% จากนั้นจึงใช้เวลาฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติภายในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์


เราพอจะจัดแบ่งรูปแบบของเหตุการณ์ทั้ง 10 โดยใช้ผลกระทบที่เกิดกับตลาดหุ้นไทยเป็นจุดสังเกตได้ 3 ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง เหตุการณ์ที่มีผลโดยตรงกับเศรษฐกิจการเงินโดยตรง
            เหตุการณ์ประเภทนี้จะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงเป็นระยะเวลายาวนาน และจะเริ่มฟื้นตัวต่อเมื่อปัญหานั้นคลี่คลายหรือถูกแก้ไขไปในทิศทางที่เหมาะสมได้แก่ วิกฤติ Hamburger, ต้มยำกุ้ง, และเหตุการณ์แบ็งค์ชาติ 108 จุด

ประเภทที่สอง เหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ปัญหาทางการเงินโดยตรง
            เหตุการณ์ประเภทนี้จะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงและซึมอยู่ประมาณ 2-3 เดือน  ระดับความร้ายแรงของเหตุการณ์จะส่งผลต่อระดับความรุนแรงในการปรับตัวลง  หลังจากฟื้นตัวส่วนใหญ่ตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือกลับเป็นเทรนด์ขาขึ้นได้แก่ Black Monday, สงครามอ่าวเปอร์เซีย, และการก่อวินาศกรรม 9/11

ประเภทที่สามคือ เหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนก แต่ไม่ได้ส่งผลกับเศรษฐกิจชัดเจนในระยะสั้น
          เหตุการณ์ลักษณะนี้เมื่อเกิดขึ้นจะสร้างความตื่นตระหนก ทำให้นักลงทุนเทขายอย่างรวดเร็วในวันที่ทราบข่าว  แต่ตลาดหุ้นมักจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติภายในไม่กี่วันได้แก่ BREXIT, พฤษภาทมิฬ, การปิดล้อมสนามบิน, และการก่อการร้ายราชประสงค์

            TerraBKK Research มีความเห็นว่าเหตุการณ์วิกฤติแต่ละอย่างนั้นส่งผลต่อตลาดหุ้นในรูปแบบที่หลากหลาย เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเงินโดยตรงมักจะทำให้ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะซบเซา แต่ไม่ใช่ว่าทุกเหตุการณ์จะทำให้ตลาดหุ้นนั้นลงแรงเสมอไป บางเหตุการณ์กลับมีผลทางอ้อมให้สามารถเกิดเทรนด์ขาขึ้นได้ในระยะยาว