มองภาพเศรษฐกิจเวียดนาม
พัฒนาการของเวียดนามในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้นถือว่าค่อนข้างโดดเด่น ทั้งด้านการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศใช้นโยบายปฏิรูปโด่ยเหม่ย (Doi moi Renovation) ในปี 1986 (ในภาษาเวียดนาม “โด่ย”แปลว่า เปลี่ยน “เหม่ย”แปลว่า ใหม่) ซึ่งเป็นการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่ตลาดเสรี โดยยังควบคุมกิจการของรัฐไว้ แต่เริ่มผ่อนปรนอนุญาตให้ประชาชนสามารถประกอบกิจการดำเนินธุรกิจการค้าตัวเองได้ การปฏิรูปนี้ได้กระตุ้นการการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนประเทศเวียดนามจากประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง
เวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา GDPต่อหัวของเวียดนามมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 6.4%ต่อปี ถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี 2000 ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีความไม่แน่นอน แต่เศรษฐกิจของเวียดนามก็ยังคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แนวโน้มในระยะกลางของประเทศยังคงเป็นที่น่าพอใจเห็นได้จากการเติบโตของ GDP ซึ่งสูงถึง 6% ในปี 2016 ส่วนจุดเด่นที่ปัจจัยขับเคลื่อนพื้นฐานของประเทศคือความต้องการบริโภคในประเทศ ซึ่งเติบโตประมาณ 6% ในปี 2016 และการผลิตที่มุ่งเน้นการส่งออก โดยสัดส่วนการส่งออกของเวียดนามประมาณครึ่งหนึ่งจะเป็นการส่งออกไปกลุ่มประเทศในเอเชีย ส่วนกลุ่มสินค้าส่งออกสามอันดับแรกได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า รองเท้า และเครื่องจักร
ความยากจนของประชากรที่ลดลงอย่างมากและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในปี 1993 ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของเวียดนามใช้ชีวิตด้วยเงินน้อยกว่า 1.9 ดอลลาร์ต่อวัน แต่ในปัจจุบันอัตราความยากจนระดับดังกล่าวลดลงเหลือเพียงแค่ 3% จากสัดส่วนประชากรทั้งหมด จำนวนประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงมาอยู่ที่ 13.5% ในปี 2014 จากจำนวน 60% ในปี 1993 คิดเป็นตัวเลขแล้วแสดงถึงประชากรกว่า 40 ล้านคนที่สามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาเหนือเส้นความยากจนได้
*เส้นความยากจน คือ เครื่องมือในการกำหนดเกณฑ์ความต้องการพื้นฐานขั้นต่ำของบุคคล ถ้าบุคคลใดมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ก็พิจารณาได้ว่าบุคคลนั้นเป็นคนจน
ความก้าวหน้าด้านการให้บริการขั้นพื้นฐาน
ประชากรชาวเวียดนามในปัจจุบันนั้นมีการศึกษาและสุขภาพดีกว่าในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาค่อนข้างมากเห็นได้จากทั้งคุณภาพการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อัตราการตายของทารกและเด็กอายุน้อยกว่าห้าปีซึ่งลดลงมากเหลือเพียง 19 - 24 คนต่อเด็กหนึ่งพันคนต่อปีในปี 2012 และการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ยคนในประเทศมาอยู่ที่ 76 ปี จาก 69 ปี ในปี 1987
ถึงแม้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปัจจุบันจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ยังคงต้องระวังช่องโหว่บางประการเช่น ความไม่สมดุลทางการคลัง ปัญหาด้านคุณภาพของสินทรัพย์ของธนาคารในประเทศ เป็นต้น การเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนและการเร่งปฏิรูปภาครัฐวิสาหกิจ จึงเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหานี้
รัฐบาลเวียดนามยังคงแสดงถึงความมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศผ่านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม (SEDS) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะเวลา 10 ปี (2011-2020) แผนนี้จะเน้นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปโครงสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมความเสมอภาคทางสังคมและปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเน้นย้ำในสามหัวข้อคือ
1) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่และนวัตกรรม
2) การปรับปรุงสถาบันทางการตลาด
3) การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน
จุดเด่นความได้เปรียบของประเทศ
สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
โดยทั่วไปเวียดนามถือว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองและสังคม เวียดนามไม่ค่อยเผชิญกับประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาหรือเชื้อชาติเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆในอาเซียน เวียดนามมีอัตราการเติบโตของ GDP ที่สูง จากการปกครองที่ประสบความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามซึ่งเป็นที่ยอมรับมานับสิบปี
ความเป็น emerging market
ในปัจจุบัน GDP ของเวียดนามนั้นขึ้นไปสูงถึง 200 พันล้านดดอลลาร์ มีมูลค่าการส่งออก 170 พันล้านดอลลาร์ มูลค่าการนำเข้า 161 พันล้านดอลลาร์ และมูลค่าสินค้าส่งออกหลักต่าง ๆ นั้นมีอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดด ทำให้เวียดนามกลายเป็นตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยี
ทรัพยากรมนุษย์
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรและความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในโลก จัดเป็นอันดับที่ 14 ของโลก โดยมีประชากรเฉลี่ยประมาณ 92.7 ล้านคน และมีความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 263 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกถึง 5 เท่า บ่งบอกถึงศักยภาพด้านกำลังแรงงานที่มีสูง
ทรัพยากรธรรมชาติ
ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของเวียดนามยังมีอยู่มาก โดยกลุ่มทรัพยากรที่โดดเด่นคือ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ฟอสเฟต แมงกานีส บ็อกไซต ์ โครเมต ป่าไม้