17 เส้นทางตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 (ภาคเหนือ) (ตอน1)
ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านจากฤดูฝนย่างเข้าสู่ฤดูหนาว และปีนี้นับเป็นปีแห่งความเศร้าโศกของคนไทยทั้งชาติ วันนี้ TerraBKK จึงขอนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 เส้นทาง ตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่คนไทยควรไปเห็น เรียนรู้ และควรไปสัมผัสด้วยตัวเอง
1.โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย
จากแนวพระราชดำริของสมเด็จย่า และในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงต้องการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านบนดอยตุง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เมื่อครั้งอดีต ทำให้โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2531 ครอบคลุมพื้นที่ อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง และอ.แม่สาย ประกอบด้วย ชนเผ่าอาข่า ลาหู่ จีนก๊กมินตั๋ง ไทใหญ่ ไทลื้อ และไทลัวะ กว่า 11,000 ชีวิต
วันนี้โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เผยความงดงามทั้งทัศนียภาพ-วัฒนธรรม ที่ได้รับการสืบสาน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนแวะเวียนมาสูดอากาศบริสุทธิ์ ชมนานาพรรณไม้ที่งอกงาม และสัมผัสทัศนียภาพอันร่มรื่นสบายตาอย่างไม่ขาดสาย
ทริปตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยว จ.เชียงราย 3 วัน 2 คืน
วันแรก เช้า : อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ศึกษาประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตชาวเชียงราย
บ่าย : ชมขัวศิลปะ ร่วมกิจกรรมงานศิลปะกับศิลปิน และ ชมศิลปะบ้านดำของ อ.ถวัลย์ ดัชนี
วันที่สอง เช้า : พระตำหนักดอยตุง ชมสวนแม่ฟ้าหลวง หอแห่งแรงบันดาลใจ
บ่าย : ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานจากดอยตุง ซื้อผลิตภัณฑ์ดอยตุงชมโรงงานทอผ้า เซรามิก
วันที่สาม เช้า :หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน /อุมงคมุข อุโมงค์กาลเวลาที่รวบรวมเรื่องฝิ่นที่สมบูรณ์ที่สุด
บ่าย :ตลาดแม่สาย เลือกซื้อสินค้าจากไทย-เมียนมาร์
การเดินทาง
จากตัวเมืองเชียงราย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ราว 45 กม. เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1149 ไปอีกประมาณ 15 กม.
อัตราค่าเข้าชม
เด็กสูงไม่เกิน 120 cm. ฟรี /ชาวไทย-ต่างชาติ ราคา 150 บาท
เปิดให้เข้าชม: ทุกวัน เวลา 07:00 - 17:00 น.
2. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง จ.เชียงราย
อดีตเคยเป็นหน่วยย่อยของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง ภายหลังได้รับถวายฎีกาการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่จากชาวบ้านหมู่บ้านผาตั้ง บ้านร่มฟ้า ผาหม่น และบ้านศิลาแดง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประทานมูลนิธิโครงการหลวง โปรดให้จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้งขึ้นวันที่ 9 เม.ย 50 เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่ชาวบ้าน
ศูนย์แห่งนี้ มีการปรับพื้นที่ ภายในสำหรับวางแผนทดสอบ สาธิตวิธีการปลูกผัก ไม้เมืองหนาว และเลี้ยงสัตว์อาทิ กระต่าย แพะ ไก่กระดูกดำ และหมู เพื่อหล่อเลี้ยงคนในชุมชน ประกอบด้วย คนจีนคณะชาติ ม้ง เย้า มูเซอ อีก้อ ไทลื้อ และคนพื้นเมืองมากกว่า 600 ครัวเรือนอย่างทั่วถึง
ทริปตัวอย่าง 3 วัน 2 คืน
วันแรก เช้า :นั่งเรือหางยาวชมวิวแก่งผาได จุดที่แม่น้ำโขง ไหลออกจากเมืองไทยสู่ลาวเป็นจุดแรก
บ่าย:ชมผาบ่อง ประตูรักแห่งขุนเขา ชมวิวพระอาทิตย์ตกที่ จุดชมวิวเนิน 102 ดอยผาตั้ง
วันที่สอง เช้า:ชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางทะเลหมอกที่ภูชี้ดา/โครงการหลวงผาตั้ง ชมแปลงพืชผักเมืองหนาว
บ่าย:ขี่จักรยานชมเมืองเชียงของ /ชมการทอผ้าทอไทลื้อแบบดั้งเดิมที่พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ
วันที่สาม เช้า: ตักบาตรรับอรุณริมโขงที่เชียงของ /ลันเจีย ลอดจ์ เยี่ยมชมโฮมสเตย์ ทำกิจกรรมในชุมชน ชมการแสดง
การเดินทาง
จากตัวเมืองเชียงราย ใช้เส้นทาง เชียงราย-เวียงชัย-พญาเม็งราย- บ้านเต่า (ทางหลวงหมายเลข 1233, 1733 และ 1152) ประมาณ 50 กม. ต่อมาถึงบ้านเต่า บ้านท่าเจริญ เวียงแก่น-ปางหัด (ทางหลวงหมายเลข 1155) ระยะทางประมาณ 17 กม. และต่อไปยังบ้านปางหัด-ดอยผาตั้ง อีก 15 กม.
เปิดให้เข้าชม: ทุกวัน 08:00 - 16:00 น.
3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน จ.เชียงราย
"จากเมล็ดชาหน้าตาคล้ายเกาลัดที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อศึกษาหาวิธีนำมาปลูกในไทยวันนี้ จึงเกิดศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันขึ้น ในปี 2554 เพื่อสานต่อพระราชดำริ "
ชาน้ำมันได้ชื่อว่าเป็นน้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออกในเมืองไทยมีการปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์คามีเลียโอลีเฟร่า ซึ่งได้มาจากเมืองจีน และผ่านจากศึกษาวิจัยจนสามารถเพาะปลูกได้ผลผลิตเต็มที่ ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายของนักท่องเที่ยว ที่สนใจในสุขภาพ เพราะเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาและพืชน้ำมันอื่นๆ ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติกว่า 150 ไร่
จุดเด่นที่ไม่ควรพลาด คือ ร้านอาหาร “เมล็ดชา” ชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ นำเสนออาหารเหนือสไตล์โมเดิร์น โดยใช้น้ำมันชาเป็นวัตถุดิบหลัก มี 2 เมนูพระราชทาน คือ โครเก็ตเบคอน แป้งขนมปังทอดไส้มันฝรั่งผสมหมูเบคอนบด และซุปมะเขือเทศ
การเดินทาง
ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน มุ่งหน้าแม่สาย เมื่อถึงฌาปนสถาน สาธารณะแม่สายจะเจอสี่แยกตัด ถนนสาย 1149 ให้เลี้ยวซ้าย ศูนย์วิจัยฯ จะตั้งอยู่ทางขวามือ
เปิดให้เข้าชม: ทุกวัน เวลา 08:00 - 20:00 น.
4.พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่
ในปี พ.ศ.2504 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ขึ้นบนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ เพื่อใช้เป็นที่ประทับในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน มาประทับแรมที่จังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะ
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นสถานที่ ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมที่ประทับของพระราชวงศ์อย่างใกล้ชิด พร้อมศึกษาประวัติศาสตร์การเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศของพระราชอาคันตุกะ และยลโฉมสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่วิจิตรงดงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ที่เที่ยวห้ามพลาด
- พระตำหนักพฤกษาวิสุทธิคุณที่ประทับของสมเด็จย่า และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
- พระตำหนักสิริส่องภูพิงค์หรือพระตำหนักยูคาลิปตัส ที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- อ่างเก็บน้ำ/น้ำพุทิพย์ธาราของปวงชนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ภายในพระตำหนัก
กิจกรรมห้ามพลาด
นั่งรถไฟฟ้านำเที่ยว ค่าบริการ 300 บาท/คัน (นั่งได้ไม่เกิน 3 คน)
การเดินทาง
ใช้เส้นทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ จากหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ ถึงพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นระยะทาง 17 กม.
เปิดให้เข้าชม: วันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 08.30-15.30 น
5. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จ.เชียงใหม่
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างศูนย์ฯ เพื่อเสริมความรู้ทางเกษตรให้กับชาวบ้าน "
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ถือเป็นหนึ่งปลายทางยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน ที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ มีความลาดชันสูง ทำให้เกิดวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เหมาะกับการพักผ่อนในช่วงวันหยุดทุกฤดูกาล
ที่นี่เน้นงานวิจัย ปลูกเห็ดหอมและกาแฟ ภายในพื้นที่กว่า 4 ไร่ มีการเตรียมเพาะกล้าให้กับเกษตรกร ใครที่ชื่นชอบดอกไม้งามหาชมยาก ก็สามารถเข้าชมหมู่ไม้กระถางที่จัดให้ชมภายในศูนย์ฯ อาทิ ต้นบีโกเนีย กล้วยไม้ปีกผีเสื้อและอื่นๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ในเรือนเพาะชำ ส่วนใครที่ต้องการค้างคืน โครงการหลวงตีนตกก็มีห้องพักราคากันเอง ไว้บริการอีกด้วย
ที่เที่ยวห้ามพลาด
- วัดคันธาพฤกษาสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ และโบสถ์ กลางน้ำแสนสวย
- บ้านแม่กำปองหมู่บ้านที่โด่งดังด้านโฮมสเตย์ ไปสัมผัสวิถีชีวิตและประเพณีพื้นบ้านได้อย่างใกล้ชิด
- Flight of the Gibbon สนุกสุดเหวี่ยงไปกับซิปไลน์ 5 กม. ที่ขึ้นชื่อว่ายาวที่สุดในเอเซีย
กิจกรรมห้ามพลาด
- จิบกาแฟเอสเพรสโซ่รสชาติดีเยี่ยมที่ร้านกาแฟของโครงการ
- เดินป่าขึ้นลงน้ำตก 7 ชั้น ที่น้ำตกแม่กำปอง
การเดินทาง
จากเชียงใหม่ ประมาณ 55 กม. ใช้เส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง-แม่ออน ผ่าน้ำพุร้อนสันกำแพงไปทางบ้านแม่กำปอง ศูนย์ตีนตกจะอยู่ซ้ายมือ ก่อนถึงบ้านแม่กำปอง
เปิดให้เข้าชม: ลูกค้าในโครงการ 07.00-20.00 น./ลูกค้าทั่วไป 10.00-16.00 น.
6. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ จ.เชียงใหม่
ภูเขาสูงซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านม่อนเงาะ อ.แม่แตง แต่เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งมีฐานะยากจน และมักปลูกฝิ่น ซึ่งโครงการหลวงได้เริ่มเข้าพัฒนาและส่งเสริมการปลูกผัก โดยเน้นแก้ปัญหาพื้นที่สูง ยากต่อการเพาะปลูก พืชผักที่เลือกปลูกจึงต้องเหมาะสมที่สุดกับพื้นที่เนินเขา เช่น ผักกาดสายพันธ์ุต่างๆ กะหล่ำปลี ฟักทองญี่ปุ่น หัวไชเท้าญี่ปุ่น หลังจากได้รับการฟื้นฟูทำให้ทุกวันนี้ ดอยม่อนเงาะกลับมา เขียวชอุ่ม กลายเป็นจุดท่องเที่ยวในฝัน
นอกจากนี้โครงการได้จัดเตรียมบ้านพักให้บริการ พร้อมร้านอาหาร ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรด้วย จากแปลงไม้ดอก พืชผัก ไร่ชาและไร่กาแฟ
ทริปตัวอย่าง เส้นทางท่องเที่ยวโครงการหลวง จ.เชียงใหม่ 2 วัน 1 คืน
วันแรก เช้า :โครงการหลวงม่อนเงาะ สัมผัสวิถีชาวม้ง ชมแปลงปลูกชาลุงเดช โรงเพาะเห็ดระบบปิด แปลงกล้วยไม้ซิมบิเดียม ภูมิปัญญาการทำเหมี้ยงแบบดั้งเดิม
บ่าย :ดอยหลวงเชียงดาว ชมพรรณไม้หายากที่เดียวในไทย เช่น ค้อเชียงดาว สิงโตเชียงดาว
วันที่สอง เช้า : เยี่ยมชมโครงการหลวงห้วยลึก
บ่าย : เรียนรู้วิถีพอเพียงที่ ดารา ดาเล บ้านดินฟาร์ม /เดินเล่นถนนคนเดินท่าแพ เชียงใหม่
การเดินทาง
วิ่งเส้นทางหลวงสาย 107 มุ่งหน้า ไปทางแม่ริม ตรงไปราว 30 กม. เมื่อถึงอำเภอแม่แตงให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงสาย 1095 วิ่งตรงไปประมาณ 13 กม. ให้เลี้ยวขวา ตามป้ายของโครงการ วิ่งตามทาง มาอีกประมาณ 7 กม. ให้เลี้ยวซ้าย ไปก็จะถึงที่หมายคือบ้านม่อนเงาะ ถนนปลายทางค่อนข้างแคบควร ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง (หากเดินทางมาในฤดูฝน ควรเดินทางด้วยรถโฟร์วีล)
เปิดให้เข้าชม : ทุกวันเวลา 08.00-18.00 น.
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)