17 เส้นทางตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 (ภาคเหนือ) (ตอน2)
ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านจากฤดูฝนย่างเข้าสู่ฤดูหนาว และปีนี้นับเป็นปีแห่งความเศร้าโศกของคนไทยทั้งชาติ วันนี้ TerraBKK จึงขอนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 เส้นทาง ตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่คนไทยควรไปเห็น เรียนรู้ และควรไปสัมผัสด้วยตัวเอง
7. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จ.เชียงใหม่
เมื่อปี 2521 ชาวเขาเผ่าม้งได้ถวายฎีกาถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อขอที่ทำกินแห่งใหม่ ทดแทนที่เก่าที่สภาพดินไม่เหมาะสม ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้โครงการหลวงเข้าช่วยเหลือ ร่วมให้ความรู้การบูรณะพื้นที่ทำกินบ้านห้วยลึก แม้จะใช้เวลานานในการปลูกป่าทดแทนและดูแลผืนป่า แต่ในที่สุดพื้นที่ห้วยลึกก็กลับกลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติสวยงาม เหมาะสมในการทำการเกษตร
โครงการหลวงห้วยลึก รับผิดชอบ 2 หมู่บ้าน ประกอบด้วย เผ่าม้ง กะเหรี่ยง และคนเมือง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ สลับกับหมู่ภูเขาทับซ้อน และมีอากาศเย็น เหมาะแก่การท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ และถูกจัดสรรเป็นพื้นที่เพื่อทำเกษตรแบบยั่งยืน ส่งเสริม วิจัย และเพาะพันธุ์ให้เกษตรกรชาวไทยภูเขา มีแปลงพืชเมืองหนาว อย่าง แคนตาลูป ผักสลัด แปลงผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวปลี แปลงสมุนไพร และแปลงดอกเบญจมาศ ซึ่งพืชพรรณทั้งหมดนี้จะเพาะปลูกสลับกันตลอดปี ทำให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก กลายเป็นอีกหนึ่งปลายทางที่ไม่ควรพลาด
" เริ่มจากฎีกา ของชาวเขา ที่ขอพระราชทานผืนดิน ทำกินกับพ่อหลวง
กลายเป็นโครงการหลวง ที่สร้างรายได้และอาชีพเกษตรกรรม ที่ยั่งยืนให้กับชาวเขา ทุกคน "
ที่เที่ยวห้ามพลาด
- พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์เจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยมแต่ละด้านมีแผ่นศิลาสลักลวดลายเรื่องราวพระประวัติ
- ถ้ำเชียงดาวหินงอกหินย้อยตามธรรมชาติและมีธารน้ำสวยงามอยู่ทางหน้าถ้ำ
- วัดถ้ำผาปล่องสถานปฏิบัติธรรมเงียบสงบเข้าถึงธรรมชาติโดยรอบ
กิจกรรมห้ามพลาด
- เข้าชมแปลงไม้ดอกของเกษตรกรอย่างใกล้ชิด
- เลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตร ที่สดใหม่และหาได้ยากในราคาย่อมเยา
ทริปเส้นทางท่องเที่ยวโครงการหลวง จ.เชียงใหม่ 4 วัน 3 คืน
วันแรก เช้า : ชมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย
บ่าย : ชมวิถีเรียบง่ายของปกาเกอะญอ
วันที่สอง เช้า: บ้านห้วยฮ่อม ศึกษาเส้นทางธรรมชาติพืชผักเมืองหนาว จิบชาถ้วยไม้ไผ่
บ่าย: บ้านวัดจันทร์ ดูป่าต้นน้ำที่นาอูรู ชมวิหารแว่นตาดำ ที่อ.กัลยาณิวัฒนา
เย็น: ชมทิวทัศน์ ณ โคว่โพหลู่
วันที่สาม เช้า :ชมธรรมชาติยามเช้า ณ โครงการหลวงห้วยลึกอ่างห้วยอ้อ
บ่าย: พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 แหล่งผลิตสินค้าดอยคำ
เย็น: สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
วันที่สี่ เช้า: ชมวิถีชีวิตชุมชนชาวปะหล่องที่บ้านนอแล และชาวมูเซอดำที่ บ้านขอบด้ง
การเดินทาง
เดินทางมุ่งสู่ทางหลวงสาย 107 สายเชียงใหม่-ฝาง และวิ่งตรงไปประมาณ 92 กม. จนถึงวัดห้วยลึก จึงเบี่ยงขวาไปประมาณ 500 เมตร เพื่อเข้าสู่โครงการ
เปิดให้เข้าชม : พฤศจิกายน-มีนาคม ทุกวัน 09.00-18.00 น.
8.ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จ.เชียงใหม่
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากชื่นชมบรรยากาศของดอกไม้สีชมพูผลิบานท่ามกลางขุนเขาสีเขียว ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เป็นอีกหนึ่งจุดชมต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทยแห่งสำคัญของเชียงใหม่ ซึ่งจะผลิบานช่วงกลางเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ โดยพื้นที่นี้สูงจากระดับน้ำทะเล 1,100 เมตร
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ตั้งอยู่ในวงล้อมของแนวเทือกเขาอินทนนท์ ระหว่างหมู่บ้านปกาเกอะญอ กับ หมู่บ้านม้ง ต.แม่วิน อ.แม่วาง ตั้งขึ้นภายหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านขุนวางในปี 2523 ซึ่งพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านปลูกฝิ่นจำนวนมาก ทรงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นแหล่งทดลอง ขยายพันธุ์ ส่งเสริม และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชเมืองหนาวบนที่ราบสูงให้กับเกษตรกร ทดแทนการปลูกฝิ่น
ปัจจุบันในพื้นที่โครงการ เป็นแหล่งเพาะปลูก วิจัยพืช ไม้ผลเมืองหนาว เช่น สาลี่ พลัม แมคคาเดเมีย เกาลัดจีน สตรอเบอร์รี นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยอดนิยม เพราะมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี และมีบ้านพักรับรอง 4 หลัง (พักได้4-8 คน) และมีจุดบริการกางเต็นท์ 2 จุด
การเดินทาง
ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 เลี้ยวขวาที่สามแยกบริเวณหมู่บ้านขุนกลาง (ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 31) ขับตรงไปประมาณ 18 กม. จนถึงขุนวาง
เปิดให้เข้าชม : ตุลาคม-กุมภาพันธ์ ทุกวัน 08.00–16.00 น.
9. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
จากป่าเสื่อมโทรม พื้นที่กว่า 8,500 ไร่ มาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 34 ปี ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มุมานะทำการศึกษาวิจัย พัฒนารูปแบบระบบชลประทาน พัฒนาแหล่งน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาป่าไม้และฟื้นฟูผืนดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง
ปัจจุบันห้วยฮ่องไคร้ ได้รับการขนานนามว่าเป็น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต หรือสวนเพื่อการศึกษา โดยนักท่องเที่ยวจะได้รับความรู้การพัฒนาผืนป่าที่เข้าใจง่าย ตามเส้นทางที่จัดทำไว้ ควบคู่การกับฟาร์มสไตล์ภาคเหนือ อาทิ การทำปศุสัตว์ เลี้ยงโคนม สัตว์ปีก และกบนานาพันธุ์
ที่เที่ยวห้ามพลาด
- สวนหกศูนย์ใจกลางของศูนย์พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต
- วัดป่าศาลาปางสัก (วัดหลวงตา)ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
- โครงการพระราชดำริน้ำพุร้อนสันกำแพงธารน้ำร้อน กว้าง ราว 2 เมตร ให้ได้แช่เท้าผ่อนคลายความเมื่อยล้า
กิจกรรมห้ามพลาด
- ชมสาธิตการสร้างฝายไม้ไผ่ แบบง่ายๆ เพื่อเป็นองค์ความรู้ ในการใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติ
- แคมป์ปิ้งริมอ่างเก็บน้ำในอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้
การเดินทาง
วิ่งมาทางหลวง 118 สายเชียงใหม่-เชียงราย และตรงขึ้นทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 24 กม. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยฮ่องไคร้ จะตั้งอยู่ ทางขวามือห่างจากถนนประมาณ 2 กม.
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 08.30-16.30 น
10. สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่
ภาพดอกไม้เมืองหนาวสีสวย พืชผักผลไม้นานาชนิด และดอกซากุระเมืองไทยที่บานสะพรั่ง ช่วยแต่งแต้มภูเขาสีเขียวให้สวยงาม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงดึงดูดใจ นักท่องเที่ยวให้มาเยือนดอยอ่างขาง จนหลายคนอาจจะลืมไปแล้ว ว่าที่นี่เคยเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นใหญ่ที่สุดของเมืองไทย
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเกิดขึ้น ในปี 2513 เพื่อใช้เป็นแปลงทดลอง ปลูกพืชผักเมืองหนาวคุณภาพดีแทนป่าฝิ่น ถือเป็นสถานีแห่งแรกของโครงการหลวง โดยสตรอเบอร์รี เป็นพืชพันธุ์ชนิดแรก ที่นำมาทดลองปลูกที่นี่ จนได้พันธ์ุที่เหมาะสมกับเมืองไทย โดยใช้ชื่อว่า พันธุ์พระราชทาน
ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เป็นแหล่งจำหน่ายพืชผักผลไม้เมืองหนาวคุณภาพดีให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน ที่สร้างรายได้และชุมชนที่แข็งแรงให้กับชาวไทยภูเขาอีกด้วย
" ทรงพลิกฟื้น จากภูเขาฝิ่น จนกลายเป็นพืชผักเมืองหนาวที่สวยงามและ น่าเที่ยวที่สุด ของเมืองไทย "
ทริปเส้นทางท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ 3 วัน 2 คืน
วันแรก เช้า : เดินทางไปที่อ่างขาง รับประทานอาหารกลางวันที่สโมสรอ่างขาง
บ่าย : รับประทานอาหารว่างใต้ต้นซากุระใน สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ชมบอนไซ,ดอกไม้เมืองหนาว
วันที่สอง เช้า : ชิมสตรอเบอร์รีสดจากต้น ในแปลงของชาวปะหล่อง / เลือกซื้องานหัตถกรรมชุมชน บ้านนอแล
บ่าย : ชมสวนกุหลาบอังกฤษ ซากุระ ตามแนวถนน
เย็น :เที่ยวตลาดบ้านคุ้ม/ทานอาหารว่าง จิบชา ชมแปลงชา ชมวิถีชีวิตชาวมูเซอ บ้านขอบด้ง
วันที่สาม เช้า : ชมเรื่องราวความเป็นมาของโครงการหลวง ที่พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 บ้านยาง
บ่าย : ชิมสุกี้ยูนนานที่บ้านดินเล่าจาง
เย็น : ซื้อของฝากที่ตลาดต้นพะยอม
การเดินทาง
จากเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ถึงตำบลเมืองงาย เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวง 1178 ผ่านบ้านอรุโณทัย ไปยังดอยอ่างขาง
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 06.00-18.00 น.
11. ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.น่าน
ศูนย์ภูฟ้าจัดตั้งขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ภายหลังเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรและ ทอดพระเนตรบ่อเกลือสินเธาว์ ที่บ้านบ่อหลวง และทรงทราบปัญหา จึงมีพระราชดำริให้การช่วยเหลือพัฒนา จนกลายมาเป็นศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2542
เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ไปสู่ราษฎรในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ อ.เฉลิมพระเกียรติ ให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศึกษาธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นของจ.น่าน ช่วยลดปัญหาด้านงานเกษตรกรรม
ทำให้โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาจังหวัดน่าน ถือเป็นหนึ่งสถานที่น่าแวะมาเที่ยวชม เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านพื้นถิ่นอีกหนึ่งแห่งของจังหวัดน่าน
ทริปเส้นทางท่องเที่ยว จ.น่าน 3 วัน 2 คืน
วันแรก เช้า : ชมวิถีการเก็บชาเมี่ยงโบราณ 400 ปี/แปรรูปที่บ้านศรีนาป่าน
บ่าย : นั่งรถรางชมเมือง สัมผัสวิถีชาวน่านแวะเที่ยวชมวัด
วันที่สอง เช้า :เดินทางสู่บ่อเกลือ ชมการทำเกลือสินเธาว์บนภูเขา
บ่าย : เยี่ยมชมศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เรียนรู้วิถีเผ่ามละบรีและเผ่าลัวะ
วันที่สาม เช้า : ปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตของชาวบ่อเกลือ
การเดินทาง
จากตัวเมืองน่าน วิ่งไปประมาณ 100 กม. ถึง อ.บ่อเกลือ ข้ามสะพานข้ามคลอง เลี้ยวไปทางศูนย์ภูฟ้า ตรงไปอีก 8 กม. จะจากสามแยกบ่อเกลือ เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง 1336 ขับไปอีก13 กม. จะถึงปากทางเข้าศูนย์ฯ ขับต่อไปอีก 2.5 กม. ก็จะถึงตัวศูนย์ฯ
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 08.30-16.30 น.
12.สถานีพัฒนาเกษตรที่สูง บ้านสะจุก-สะเกี้ยง จ.น่าน
ในอดีตพื้นที่หมู่บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ผาแดง ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำสำคัญที่ประสบปัญหาป่าเสื่อมโทรม ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้นในหมู่บ้าน ให้ความรู้เรื่องการทำนาแบบขั้นบันได พร้อมส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักเมืองหนาว ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านต่างอยู่อาศัยอย่างมีความสุข เพราะสามารถเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้มากขึ้น
สถานีพัฒนาเกษตรที่สูง บ้านสะจุก-สะเกี้ยง นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด แม้จะเดินทางลำบากสักนิด แต่ถ้ามาในฤดูเพาะปลูก คุณจะพบหุบเขาใหญ่ ที่ทำนาขั้นบันไดเป็นระเบียบสวยงาม พร้อมอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี ใหห้คุณได้สัมผัสกับวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวเหนืออย่างแท้จริง
การเดินทาง
จากตัวเมืองวิ่งออกมาทางทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1169 วิ่งตามทางไปประมาณ 37 กม. จะสุดทางให้เลี้ยวขวาเข้าถนนลอยฟ้า 1081 อำเภอสันติสุข-อำเภอบ่อเกลือ ตรงไปจนผ่านอุทยานแห่งชาติขุนน่านแล้วมุ่งตรงไปอีกประมาณ 44 กม. เพื่อเข้าสู่หมู่บ้านสะจุก
การเดินทาง
จากตัวเมืองวิ่งออกมาทางทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1169 วิ่งตามทางไปประมาณ 37 กม. จะสุดทางให้เลี้ยวขวาเข้าถนนลอยฟ้า 1081 อำเภอสันติสุข-อำเภอบ่อเกลือ ตรงไปจนผ่านอุทยานแห่งชาติขุนน่านแล้วมุ่งตรงไปอีกประมาณ 44 กม. เพื่อเข้าสู่หมู่บ้านสะจุก
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 08.30-17.00 น.
ฤดูท่องเที่ยว : สิงหาคม-กันยายน (เที่ยวฤดูฝนดูนาข้าว) /พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ (เที่ยวหน้าหนาว)
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)