เลือกการลงทุนให้เหมาะสม สร้างแผนทางการเงิน เพื่อคนวัยเกษียณ
ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ได้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างจับตามองและให้ความสนใจกับกระแสดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อประเทศในหลายทาง เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่น่าจะลดลงตามจำนวนกำลังแรงงานที่ลดลง รายได้ต่อหัวของประชากร และงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อผู้สูงอายุของรัฐบาล เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ในการตื่นตัวต่อปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่คนในยุคปัจจุบันควรทำและเตรียมแผนรับมือกับสภาพทางสังคมที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตให้ดี
จากการสำรวจข้อมูลสำมะโนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติแนวโน้มของจำนวนผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลระหว่างปี 2553 ถึงปี 2559 จำนวนผู้สูงอายุนั้นเพิ่มขึ้นถึง 3-4% ต่อปี และมีจำนวนถึงเกือบสิบล้านคนในปี 2559
สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้นำข้อมูลประชากรทั้งหมดมาทำการวิเคราะห์หาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรในประเทศไทย ได้ผลออกมาว่าในระยะเวลาอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้านั้นประเทศไทยน่าจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากมีประชากรผู้สูงอายุมากเกินกว่า 20% จากประชากรทั้งหมด อีกทั้งจำนวนของประชากรในกลุ่มเด็กและวัยแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
การสร้างแผนทางการเงินที่ดี
การวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งที่จะช่วยตอบสนองให้คนวัยทำงานนั้นสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินในชีวิตได้เมื่อถึงวัยเกษียณ และเป็นสิ่งที่จะช่วยให้คนที่ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุในอีก 20 ถึง 30 ปี ข้างหน้า สามารถปรับตัวเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ การสร้างแผนทางการเงินที่ดีประกอบไปด้วย
สร้างความมั่งคั่ง – การวางแผนเงินออม, การวางแผนค่าใช้จ่าย, การจัดการหนี้สิน
ปกป้องความมั่งคั่ง – การวางแผนประกัน, การวางแผนเพื่อการเกษียณ
เพิ่มพูนความมั่งคั่ง – การวางแผนการลงทุน, การวางแผนทางภาษี
ส่งต่อความมั่งคั่ง – การวางแผนการจัดการมรดก
โดยสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะเน้นย้ำคือการวางแผนการลงทุน เพราะการลงทุนเพิ่มเติมนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยรับประกันความมั่งคั่งในชีวิตของเราได้ ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินที่ไม่แน่นอนของประเทศ ผู้วางแผนลงทุนจึงควรศึกษาเพิ่มเติมว่าการลงทุนรูปแบบใดนั้นเหมาะสมกับความต้องการและสถานะการเงินของตนเอง จึงจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อตอบสนองกับการวัตถุประสงค์ทางการเงินของตนได้
ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท
รูปแบบการลงทุนที่แตกต่างกันก็จะให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภท สินทรัพย์ใดที่มีความเสี่ยงต่ำก็จะให้ผลตอบแทนน้อย ในขณะที่สินทรัพย์ใดที่มีความเสี่ยงสูงกว่าก็จะให้ผลตอบแทนมากกว่า เป็นไปตามกฎทางการเงินในเรื่องของ High Risk - High Return
เงินฝากธนาคาร
กล่าวได้ว่าการฝากเงินธนาคารนั้นเป็นรูปแบบการลงทุนที่คนทั่วไปคุ้นเคยมากที่สุด เพราะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้ง่าย มีความคล่องตัวในการฝากถอนที่สูง และยังมีความเสี่ยงในการลงทุนต่ำที่สุด ส่วนผลตอบแทนของเงินฝากธนาคารนั้นจะอยู่ในรูปดอกเบี้ย ซึ่งมีอัตราแตกต่างกันไปตามประเภทของเงินฝากและระยะเวลาของการฝากเงิน เงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถฝากหรือถอนเมื่อใดก็ได้นั้นจะมีดอกเบี้ยต่ำที่สุด โดยปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น ในขณะที่เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปี ก็จะมีอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 0.9% ถึงประมาณ 1.6% ต่อปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ระดับ 1.5 - 2% ต่อปี เงินฝากจึงเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงใด ๆ เลยเท่านั้น เพราะแทบจะไม่ได้สร้างความมั่งคั่งทางการเงินเพิ่มเติมให้ผู้ลงทุนเลย
ตราสารหนี้
ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนและมีความเสี่ยงสูงกว่าเงินฝาก โดยความเสี่ยงนั้นมาจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลจะเรียกว่าพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำที่สุดในหมวดตราสารหนี้ทั้งหมด และระดับความเสี่ยงจะสูงที่สุดเมื่อเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน ส่วนผลตอบแทนที่จะได้จากตราสารหนี้นั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับระดับความเสี่ยง ยิ่งออกโดยบริษัทที่มีความเสี่ยงมากกว่าผลตอบแทนที่ได้ก็จะยิ่งสูงตาม นอกจากนั้นผลตอบแทนยังขึ้นอยู่กับประเภทของตราสารหนี้ ว่าเป็นตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่ ด้อยสิทธิหรือไม่ และมีการจัดอันดับไว้อย่างไร ยิ่งได้รับการจัดอันดับไว้สูงก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนก็จะต่ำกว่า โดยระดับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะอยู่ที่ประมาณ 2% ต่อปี
กองทุนรวม
กองทุนรวมนั้นมีหลากหลายประเภท ทั้งแบบที่นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้อย่างเดียว หุ้นสามัญอย่างเดียวหรือเป็นแบบผสมที่ลงทุนทั้งตราสารหนี้และหุ้นสามัญในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป ผลตอบแทนจากกองทุนรวมจึงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ สัดส่วนที่ลงทุน และความสามารถในการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุน โดยเมื่อมองในระยะ 5 ปีขึ้นไป ผลตอบแทนของกองทุนที่มีผลประกอบการค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับกองทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 10 -15% ต่อปี กองทุนรวมจึงเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง และต้องการความมั่งคั่งทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
หุ้นสามัญ
หุ้นสามัญถือเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ค่อนข้างสูงภายในระยะเวลาไม่นาน ในขณะที่ความเสี่ยงก็มากตามไปด้วย การลงทุนในหุ้นสามัญสามารถสร้างผลตอบแทนจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นได้มากถึง 100% หรือ 200% ต่อปี หากลงทุนในหุ้นสามัญที่ถูกต้องทั้งตัวบริษัทและเวลาที่ลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่สินทรัพย์ทางการเงินประเภทความเสี่ยงต่ำอย่างเงินฝากธนาคารหรือตราสารหนี้ไม่มีทางให้ผลตอบแทนในระดับเท่ากันนี้ อีกทั้งยังมีโอกาสจากผลตอบแทนอื่น ๆ เช่น เงินปันผล เป็นต้น แต่ระดับความเสี่ยงของการลงทุนก็มากตามเช่นเดียวกัน เพราะสามารถเกิดการขาดทุนได้มากที่สุดถึง 100% เช่นกัน ทั้งจากการปรับตัวลงของราคา หรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับตัวบริษัทที่ลงทุน หุ้นสามัญจึงเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง อีกทั้งต้องมีความสามารถในการศึกษาทำความเข้าใจและติดตามสถานการณ์การดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนรวมทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอีกด้วย
ตราสารอนุพันธ์
การลงทุนในตราสารอนุพันธ์นั้นถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะเป็นการลงทุนกับการอ้างอิงดัชนีหรือราคาสินค้า เช่น ราคาข้าว ราคายางพารา ราคาน้ำมัน ราคาทองหรือดัชนีราคาหุ้น เป็นต้น แต่เดิมนั้นการทำสัญญาตราสารอนุพันธ์มีไว้เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ทั้งสำหรับผู้ที่มีสินค้าในมืออย่างเกษตรกร ผู้ถือหุ้นหรือผู้ถือทองคำและผู้ที่ต้องการซื้อสินค้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าในอนาคต แต่ในปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีทางด้านสื่อสารสนเทศและทางการเงินเริ่มมีมากขึ้น จึงเกิดกระบวนการทางการเงินเพื่อใช้ตราสารอนุพันธ์ในการเก็งกำไรขึ้นมา โดยผลตอบแทนของตราสารอนุพันธ์จะสามารถเกิดขึ้นได้มากและรวดเร็วยิ่งกว่าหุ้นสามัญเป็นเท่าตัวขึ้นไป แต่ระดับความเสี่ยงนั้นก็มากกว่าหุ้นสามัญหลายเท่าตัวเช่นกัน เพราะเป็นรูปแบบการลงทุนที่สามารถขาดทุนได้ไม่จำกัด
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก