เครดิตบูโร กับความเข้าใจผิดๆ ที่เราควรรู้!!
วันนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องเกี่ยวกับเงินที่ใกล้ตัวเรามาก แต่ก็มักจะมีคนเข้าใจผิดกัน ซึ่งเรื่องที่ว่าก็คือ เครดิตบูโร นั่นเอง หลายๆ คนเข้าใจว่าที่ตัวเองนั้นสมัครบัตรเครดิต ขอสินเชื่อเท่าไหร่ก็ไม่ได้รับการอนุมัตินั่นเพราะเครดิตบูโร มาทำ Black list (แบล็คลิส) ไว้ที่รายชื่อเรา จนส่งผลให้เราทำไม่ผ่านสักที ซึ่งวันนี้ MoneyGuru.co.th ก็มีรายละเอียดของเรื่องนี้มานำเสนอกัน เพื่อที่จะช่วยให้หลายๆ คนเลิกเข้าใจผิดเกี่ยวกับเครดิตบูโร และหันมาเข้าใจถึงประโยชน์ให้ถูกต้องกัน
Black list (แบล็คลิส) ในที่นี้หมายถึง ผู้ที่มีประวัติธุรกรรมการเงินที่ไม่ดี ไม่มีความน่าเชื่อถือ เช่น กู้เงินมาแล้วไม่ยอมใช้คืน จ่ายคืนเงินที่กู้ยืมไปช้ากว่าที่กำหนด เป็นต้น
เครดิตบูโร คือ Blacklist?
- เครดิตบูโร ไม่ใช่ Black list (แบล็คลิส) อันที่จริงแล้วเครดิตบูโร หรือ บริษัทข้อมูลเครดิต (Credit Bureau) ทำหน้าที่เพียง บันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ของเราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร แล้วนำมารวบรวมและจัดทำเป็นภาพรวมข้อมูลเครดิตให้กับเรา (เจ้าของข้อมูลผู้ทำธุรกรรมการเงิน)
- และเมื่อเรา (เจ้าของข้อมูลผู้ทำธุรกรรมการเงิน) หรือ สถาบันการเงิน ต้องการเรียกดูข้อมูลรายงานส่วนนี้ ก็สามารถจะดูได้แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กฏหมายกำหนดเท่านั้น ทางบริษัทข้อมูลเครดิตจึงจะสามารถเปิดเผยข้อมูลและรายงานให้ได้
อะไรบ้างที่นำมาคิดและไม่นำมาคิดในเครดิตบูโร?
สิ่งที่นำมาคิด
ประวัติการชำระหนี้
จ่ายตรงเวลา จ่ายครบจำนวน
สัดส่วนการสร้างหนี้ต่อรายได้
ไม่ควรเกินร้อยละ30
ระยะเวลาการสร้างเครดิต
ยิ่งนาน ยิ่งถือว่าดี
การสมัครสินเชื่อใหม่ๆ
อย่าสมัครบัตรหรือสินเชื่อ บ่อยจนเกินไป
สิ่งที่ไม่นำมาคิด
รายได้ มีผลต่อ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราจะสมัครเท่านั้น เพราะต่อให้มีรายได้สูงแต่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้มาก่อนก็ไม่ช่วยอะไร เพราะถือว่าพฤติกรรมทางการเงินไม่ดี
สถานภาพสมรส
ข้อมูลประวัติเครดิตบูโรของสามีและภรรยาจะแยกกัน ยกเว้นแต่สามีภรรยาไปทำบัตรเครดิตร่วมกัน เป็นบัตรร่วม หากมีการเป็นหนี้จากบัตรนี้ พฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ดีก็จะบันทึกลงในเครดิตบูโรของทั้งคู่ สินทรัพย์ที่มี
เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าจะเป็นลูกหนี้ที่ดีหรือไม่ดีได้ อายุ
เพราะคนทุกวัยมีโอกาสเป็นลูกหนี้ที่ดีได้ พฤติกรรมทางการเงินที่ดีไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ
เครดิตบูโร สำคัญอย่างไร ?
สำคัญมาก หากต้องการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ข้อมูลจากเครดิตบูโรนี้จะใช้ส่วนหนึ่งในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติการกู้ให้เรา หรือในบางครั้งการต้องการกู้เงินก้อนใหญ่ๆ เช่น กู้ซื้อบ้าน ก็จะมีการดูประวัติส่วนนี้ด้วย ถ้าหากมีประวัติที่ดีก็มีโอกาสในการอนุมัติค่อนข้างสูงแต่ต้องดูข้อพิจารณาอื่นๆ ประกอบไปด้วย แต่หากเราไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ บางครั้งอาจจะมีผลให้เราไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะว่าทางสถาบันการเงิน อาจจะไม่สามารถประเมินพฤติกรรมทางการเงินของเราได้ เป็นต้น
จะมีข้อมูลของเราบันทึกในเครดิตบูโรได้อย่างไร?
ธุรกรรมการเงินพื้นฐานง่ายๆ เช่น บัตรเครดิต เป็นต้น แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะใช้อย่างมีวินัยนะครับ เพราะเราแค่ต้องการมีข้อมูลในส่วนนี้ ไม่ได้ต้องการหนี้ครับ
มีประวัติเครดิตไม่ดีแล้วจะกู้ไม่ผ่าน?
โดยส่วนใหญ่จะกู้ไม่ผ่านครับ เพราะว่าอาจจะพิจารณาได้ว่ามีพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ค่อยดีนั่นเอง แต่ก็มีบางกรณีที่อาจจะได้รับการอนุมัติครับ ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสถาบันการเงิน
ถ้าเครดิตเสียแก้อย่างไร?
จ่ายหนี้ที่ค้างไว้ให้ครบ และรอให้ทางสถาบันการเงินเจ้าหนี้ส่งเรื่องให้กับเครดิตบูโร เพื่อบันทึกรายละเอียดว่าเรานั้นชำระหนี้คืนครบตามจำนวนแล้ว แต่ประวัติไม่ดีของเรานั้นปกติจะบันทึกไว้ประมาณ 36 เดือน หรือ 3 ปี แต่ก็มีเงื่อนไขอื่นๆ ที่จะทำการลบประวัติก่อนครบกำหนด
(ขอบคุณข้อมูลจาก : บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(NCB))
เมื่ออ่านมาถึงตอนสุดท้าย เรารู้แล้วใช่ไหมล่ะครับ ว่าที่เคยเข้าใจผิดกันว่า เครดิตบูโรมีหน้าที่หมายหัวเราๆ นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะไม่มีใครเขามาทำให้เราเป็น Black list (แบล็คลิส) หากแต่เป็นตัวเราเองต่างหากที่มีพฤติกรรมการเงินที่ไม่ดี จนไม่สามารถเชื่อใจปล่อยกู้ให้ได้ ดังนั้นเราควรที่จะมีวินัยอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาลำบากหาเงินปลดหนี้ หรือ ต้องเดือดร้อนทำธุรกรรมการเงินกับสถาบันการเงินไม่ได้ ใช้บัตรเครดิตได้ กู้สินเชื่อได้ครับ แต่ใช้อย่างมีวินัย จ่ายคืนให้ตรงเวลา ให้ครบตามจำนวน แค่นี้ก็ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้วครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.moneyguru.co.th