การรีโนเวทบ้าน อาจไม่ใช่การปรับปรุงบ้านทั้งหลังเสมอไป โดยเราอาจจะรีโนเวทบ้านเฉพาะส่วน หรือห้องที่ต้องการปรับปรุง ซึ่งในทางปฏิบัติ ต่างก็มีข้อคำนึงเฉพาะที่เจ้าของบ้านควรทำความเข้าใจก่อนลงมือวางแผนดำเนินงาน

การรีโนเวทหรือปรับปรุงแต่ละส่วนของบ้าน โดยหลักแล้วจะต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของโครงสร้าง  ความยากง่ายและความเป็นไปได้ในการติดตั้งรื้อถอนวัสดุ ซึ่งแต่ละส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลังคา ผนัง ฝ้าเพดาน พื้นภายในและภายนอกบ้าน ห้องน้ำ รวมถึงงานระบบก็จะมีข้อคำนึงในรายละเอียดที่ต่างกันไป
 
รีโนเวทปรับปรุงหลังคา 
       เราอาจปรับปรุงหลังคา กันเพื่อความสวยงาม เพื่อแก้ปัญหา หรือทั้งสองอย่าง กรณีบ้านเดี่ยวจะมีอิสระในการตัดสินใจได้มาก แต่หากเป็นบ้านแฝดหรือทาวน์โฮมซึ่งใช้หลังคาร่วมกับเพื่อนบ้านต้องพิจารณาข้อจำกัดว่าเราจะมีสิทธิ์ปรับปรุงได้มากน้อยแค่ไหนด้วย  สำหรับบ้านทั่วไปการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาที่ต่างจากรุ่นเดิม จะต้องคำนึงเรื่องระยะแปและความชันหลังคาที่เหมาะสมกับกระเบื้องรุ่นนั้นๆ รวมถึงน้ำหนักของกระเบื้องชุดใหม่ควรจะเท่าหรือเบากว่าวัสดุเดิมเพื่อไม่ให้เพิ่มภาระแก่โครงสร้างเดิม ทั้งนี้ การปรับปรุงหลังคาทุกครั้ง ถือเป็นโอกาสดีที่จะตรวจสอบโครงสร้างหลังคาว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์เพียงใด มีรอยผุพังที่ต้องซ่อมแซมหรือไม่

ภาพ: ระยะแปซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง ในการเปลี่ยนรุ่นกระเบื้องหลังคา

รีโนเวทปรับปรุงฝ้าเพดาน
       การปรับปรุงฝ้าเพดานโดยรื้อของเดิมออกเปลี่ยนให้สวยใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนชนิดและรูปแบบฝ้า ทั้งหมดนี้ ควรคำนึงเรื่องความสมบูรณ์ของโครงคร่าวที่ได้มาตรฐานและเหมาะกับรูปแบบฝ้า กรณีอยากรื้อฝ้าออกโชว์ท้องพื้นควรคำนึงเรื่องการจัดระเบียบสายไฟ ท่อประปาที่ซ่อนอยู่เหนือฝ้าเดิม  รวมถึงอาจต้องตกแต่งซ่อมแซมท้องพื้นให้สวยงามด้วย และกรณีที่ชั้นบนเป็นไม้พื้นปูบนตง หากรื้อฝ้าออกจะต้องยอมรับเรื่องเสียงรบกวนที่จะลอดถึงกันระหว่างชั้นได้ง่ายขึ้นตามช่องระหว่างแผ่นไม้พื้น
 

ภาพ: การทำเพดานเปลือยฝ้าสไตล์ลอฟต์ ซึ่งต้องกำหนดแนวท่อสายไฟให้เป็นระเบียบ สวยงาม

รีโนเวทปรับปรุงผนัง
       การปรับปรุงผนังอาจเป็นได้ตั้งแต่การเปลี่ยนวัสดุปิดผิว ซึ่งต้องคำนึงเรื่องข้อจำกัดในการติดตั้งวัสดุใหม่เข้ากับผนังเดิม เช่น ผนังยิปซัมจะปูกระเบื้องทับไม่ได้ เป็นต้น ส่วนการสกัด เจาะ หรือทุบรื้อผนังออกจะทำได้กับผนังที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเท่านั้น  (หากเป็นผนังรับน้ำหนัก เช่น ผนังหล่อ ค.ส.ล. ผนัง Precast จะไม่สามารถทำได้)  นอกจากนี้ยังมีเรื่องต้องคำนึงเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นงานระบบที่ฝังหรือเดินไว้ตามผนัง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (เช่น เจาะผนังทึบเป็นหน้าต่าง ควรพิจารณาระยะห่างระหว่างหน้าต่างกับที่ดินตามกฎหมายควบคุมอาคาร)  รวมถึงผลกระทบส่วนอื่นๆ ที่อาจตามมา อย่างกรณีรื้อผนังก่ออิฐออก จะต้องเก็บงานวัสดุพื้นและฝ้าเพดานในตำแหน่งที่เคยเป็นแนวผนังด้วย เป็นต้น
 

ภาพ: การเจาะช่องบนผนังก่ออิฐฉาบปูนให้เป็นประตูหน้าต่าง

รีโนเวทปรับปรุงประตู-หน้าต่าง
       

ในเรื่องของการปรับปรุงประตู-หน้าต่าง  หากมีการเปลี่ยนวงกบด้วยมักมีข้อควรคำนึงเพิ่มเติม เช่น การรื้อถอนวงกบไม้ออกจากผนังปูน หากช่างไม่ชำนาญอาจทำผนังเสียหายมาก กรณีติดตั้งวงกบไวนิลหรือวงกบอะลูมิเนียม ควรเน้นเรื่องระนาบผนังที่ได้ฉากได้ระดับ และการอุดรอยต่อระหว่างวงกบกับผนังให้มิดชิดแน่นหนา   หรือหากต้องการเปลี่ยนหน้าต่างบานเปิดเป็นบานเลื่อน จะต้องยอมรับว่าขนาดพื้นที่ช่องเปิดที่ลมเข้าได้จะลดเหลือครึ่งเดียว เป็นต้น

ภาพ: เปรียบเทียบปริมาณช่องลมระหว่างหน้าต่างบานเปิด กับหน้าต่างบานเลื่อน

รีโนเวทปรับปรุงพื้นในบ้าน
       สำหรับการปรับปรุงพื้นในบ้าน หากเป็นการเปลี่ยนวัสดุปิดผิวโดยทั่วไปมักไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง แต่อาจต้องพิจารณาว่าสามารถติดตั้งทับวัสดุเดิมได้เลย (เช่น ติดกระเบื้องยาง พรม ไม้พื้นลามิเนตทับพื้นกระเบื้องเดิม) หรือควรรื้อวัสดุเดิมออกก่อนแล้วค่อยติดตั้งวัสดุใหม่ทับ (เช่น ควรรื้อกระเบื้องชุดเดิมที่มีสภาพเสียหายออกก่อนจะปูกระเบื้องชุดใหม่) นอกเหนือจากการเปลี่ยนวัสดุปิดผิวแล้ว การปรับปรุงพื้นทุกครั้งจะต้องระวังไม่ให้กระทบโครงสร้างเดิม เช่น อยากเพิ่มระดับพื้นให้สูงขึ้นเกิน 10 ซม. ไม่ควรเทคอนกรีตทับเพราะจะทำให้น้ำหนักเพิ่มมากเกินไป หรืออยากเปลี่ยนพื้นสำเร็จรูปของเดิมให้เป็นพื้นคอนกรีตหล่อในที่ จะต้องปรึกษาวิศวกรถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากระบบโครงสร้างของพื้นทั้งสองแบบนั้นแตกต่างกัน เป็นต้น
 

ภาพ: หากยกพื้นในบ้านสูงเกิน 10 ซม. ไม่ควรเทคอนกรีตทับพื้นเดิม แต่ควรใช้ระบบพื้นโครงเบาแทน

รีโนเวทปรับปรุงห้องน้ำ
       การปรับปรุงห้องน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการย้ายตำแหน่งหรือเปลี่ยนรุ่นอุปกรณ์ในห้องน้ำ จะต้องคำนึงเรื่องระบบท่อ จุดจ่ายน้ำดีและระบายน้ำเสียที่เหมาะสม ส่วนการปรับปรุงพื้นห้องน้ำเพื่อผู้สูงวัยมักต้องคำนึงเพิ่มในเรื่องการทำพื้นให้เป็นระดับเดียวด้วย สำหรับการปรับปรุงห้องน้ำที่ไม่กระทบงานระบบเลย เช่น เปลี่ยนแค่กระเบื้องพื้น/ผนัง อาจลองพิจารณาเรื่องการทำระบบกันซึมใหม่ไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหารั่วซึมระยะยาว

ภาพ: การติดตั้งรางระบายน้ำแทนการทำพื้นต่างระดับ ในห้องน้ำผู้สูงวัย 

รีโนเวทปรับปรุงงานระบบ
       การปรับปรุงงานระบบ บางครั้งอาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากการรีโนเวทส่วนต่างๆ ของบ้าน เช่น ทุบรื้อผนังเดิมที่มีการเดินหรือฝังท่อต่างๆ ไว้จึงต้องโยกย้ายตำแหน่งท่อใหม่  หรือติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับห้องที่กั้นเพิ่ม เป็นต้น สำหรับการรีโนเวทบ้านครั้งใหญ่ที่มีการปรับปรุงหลายพื้นที่ อาจถือโอกาสพิจารณาปรับปรุงงานระบบไปด้วย โดยเฉพาะบ้านที่มีอายุ 15-20 ปี แนะนำให้ปรับปรุงระบบไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย ในส่วนของระบบประปา หากพบความผิดปกติ เช่น มีน้ำรั่วซึมตามจุดต่างๆ น้ำประปาที่ใช้มีกลิ่นสนิมจากท่อเหล็ก ก็ควรตรวจสอบหาสาเหตุและซ่อมแซมแก้ไขให้เรียบร้อย

รีโนเวทปรับปรุงพื้นที่รอบบ้าน
       เนื่องจากพื้นที่รอบบ้านมักมีแนวทางทำโครงสร้างพื้นได้หลากหลาย ตั้งแต่การลงเสาเข็มแบบต่างๆ การทำพื้นหล่อคอนกรีตวางบนคาน/วางบนดิน หรือปูวัสดุทับพื้นดินโดยไม่มีโครงสร้าง (เช่น ปูหญ้า/หญ้าเทียม บล็อกคอนกรีต) ดังนั้น ในการปรับปรุงพื้นที่รอบบ้านจึงควรพิจารณาเรื่องการใช้งาน  (เช่น ปรับปรุงเป็นที่จอดรถ ทางเดิน พื้นที่นั่งเล่น) ควบคู่กับสภาพพื้นเดิมและรูปแบบพื้นที่จะปรับปรุง เพื่อความพึงพอใจและตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

ภาพ: รูปแบบเสาเข็มที่นิยมใช้สำหรับพื้นนอกบ้าน

ภาพ: บล็อกคอนกรีตหรือบล็อกปูพื้น สามารถปูทับบนพื้นดินได้โดยไม่ต้องมีโครงสร้างรองรับ

       จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการปรับปรุงบ้านแต่ละส่วน ต่างมีข้อคำนึงเฉพาะให้เจ้าของบ้านหาข้อมูลเพิ่มเติมกันต่อไป ซึ่งบางครั้งอาจถือโอกาสปรับปรุงต่อยอดเพิ่มเติมไปด้วยเลยทีเดียว เช่น ปัญหาโครงสร้างหลังคาแอ่น ต้องรื้อโครงสร้างใหม่ อาจถือโอกาสเปลี่ยนรูปทรงหลังคาพร้อมติดตั้งระบบ Cool Roof System เพื่อลดความร้อนในบ้าน หรือจะกั้นห้องนอนใหม่สำหรับปู่ย่าตายาย อาจถือโอกาสปรับปรุงห้องน้ำให้เหมาะกับการใช้งานของผู้สูงวัยไปด้วย เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก www.scgbuildingmaterials.com