ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้เราอยู่ในสังคมออนไลน์เกือบตลอดเวลาที่ตื่นเลยทีเดียว ทนายที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีสื่อสาร, คอมพ์ฯ จะได้เปรียบนิดนึง เท่าที่พี่ตุ๊กตานึกออก กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ พ.ร.บ. ความรับผิดทางคอมพิวเตอร์ ในอนาคตอันใกล้ คาดว่า คดีประเภทนี้จะขึ้นสู่ศาลมากขึ้นแน่นอน พี่ตุ๊กตาขอนำคำพิพากษาล่าสุด มาลงไว้ให้ทุกท่านได้ศึกษาเป็นแนวทางในการทำคดีค่ะ

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544

มาตรา 7  ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใด เพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

มาตรา 8  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙ ในกรณีที่กฎหมายกําหนดให้การใดต้องทํา เป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทําข้อความขึ้นเป็นข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนํากลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความ นั้นได้ทําเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว

เรื่อง ยืม พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนเสร็จ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

     พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ โดยโจทก์อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานประกอบพยานเอกสารรวม 5 ฉบับแล้ว เห็นว่า โจทก์ได้ทำการโอนเงินให้แก่จำเลย รวม 4 ครั้งๆ ละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาทด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ และเงินที่โอนดังกล่าวได้มีการโอนจากบัญชีโจทก์เข้าไปยังบัญชีจำเลย ตามสำเนาสมุดเงินฝาก ใบคำขอเปิดบัญชีเงินฝาก หลักฐานการโอนเงิน และรายการเดินบัญชี เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 โดยอ้างว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ ตามบันทึกการติดต่อในระบบไลน์ เอกสารหมาย จ.5 กรณีจึงถือว่านิติกรรมระหว่างโจทก์และจำเลยที่เกิดขึ้นเป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ประเภทการกู้ยืมเงินประเภทหนึ่ง

     ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4 ซึ่งแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วางหลักว่า ในการกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาท จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7 และมาตรา 8 ได้บัญญัติรับรองสถานะและความผูกพันทางกฎหมายของธุรกรรมดังกล่าวนี้เอาไว้ว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมาย และในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลงให้ถือว่า ข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว และมาตรา 9 บัญญัติว่า

     ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น ว่าเป็นของตน ซึ่งเมื่อพิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับการโอนเงินซึ่งโจทก์อ้างเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมระหว่างกัน ตามเอกสารหมาย จ.3 แล้ว เห็นว่า เอกสารดังกล่าวถือเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ เนื่องจากมีข้อมูลเชื่อมโยงถึงกันได้ เป็นที่น่าเชื่อถือว่า มีการโอนเงินจากบัญชีของโจทก์เข้าในบัญชีของจำเลยจริง เอกสารเกี่ยวกับการโอนเงินดังกล่าวจึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ที่ตัวโจทก์ทำการรับรองว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นของตน อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7 และมาตรา 9

     เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับบันทึกการติดต่อในระบบไลน์ เอกสารหมาย จ.5 ระหว่างโจทก์และจำเลยเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ที่มีข้อความว่า ยังมีการชำระเงินยืมไม่ครบถ้วนแล้ว ยิ่งทำให้พยานหลักฐานโจทก์รับฟังมีน้ำหนักน่าเชื่อได้ว่า การโอนเงินระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการกู้ยืมเงินกันจริง ประกอบกับจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นประการอื่น พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบจึงรับฟังข้อเท็จจริงมีน้ำหนักเป็นที่เชื่อได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้องในส่วนของดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีที่โจทก์ขอมานั้น เห็นว่า หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน ถึงกำหนดชำระแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 กำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในกรณีดังกล่าวได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราดังกล่าวจึงเหมาะสมแล้วเห็นควรกำหนดให้ตามขอ ทั้งนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

     พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 5 พฤษภาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี./

หมายเหตุ : คำพิพากษาหรือรายงานการพิจารณาใด ๆ ศาลเป็นเจ้าของ มิใช่ทนายเจ้าของคดีเป็นเจ้าของ อนึ่ง ผู้ที่มีสิทธิคัดถ่ายคำพิพากษาคือ คู่ความ, ทนายคู่ความ, ผู้มีส่วนได้เสีย

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thailaw.info