เลือกเก้าอี้ ใช้กับคอมพิวเตอร์
ผู้เขียนถูกถามว่า “เลือกเก้าอี้ใช้กับคอมพิวเตอร์อย่างไรดี” มากที่สุดคำถามหนึ่งจากการเป็นวิทยากรบรรยาย
จากการเดินตามงานขายเฟอร์นิเจอร์พบว่ามีเก้าอี้ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์หรือใช้ในสำนักงานขายกันหลายยี่ห้อ ทำให้ยากต่อการเลือกซื้อ อีกทั้งแต่ละยี่ห้อก็มีจุดเด่นที่นำมาเสนอขายกัน แต่ใช่ว่าเก้าอี้ที่มีจุดเด่นเหล่านั้นจะเป็นเก้าอี้ที่ดีหรือเหมาะสม เพราะจุดเด่นของเก้าอี้นั้นอาจไม่มีความจำเป็นก็ได้
บรรดาผู้ขายมักนำเสนอจุดเด่น แต่ไม่ได้พูดถึงจุดด้อย หรืออาจไม่รู้ว่าสินค้าของตนเองมีจุดด้อยอย่างไร ทำให้ผลเสียตกอยู่กับผู้ซื้อที่ไม่ทราบว่าต้องเลือกเก้าอี้อย่างไร ถึงจะเหมาะสมกับตนเอง
ฉบับนี้ขอนำเสนอสิ่งที่เก้าอี้ต้องมี เพื่อให้ผู้อ่านใช้พิจารณาเลือกซื้อเก้าอี้ได้ ทั้งนี้จะไม่พูดถึงเรื่องคุณภาพของวัสดุและความสวยงาม
สิ่งที่เก้าอี้ควรมีและควรปรับได้
สิ่งที่ต้องมี หมายถึง ต้องมีขาดไม่ได้
สิ่งที่มีถือว่าดี หมายถึง ถ้ามีจะถือว่าเก้าอี้มีสิ่งที่พิเศษมากขึ้นสามารถช่วยปรับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้มากขึ้น หรือทำให้นั่งสบายขึ้น
สิ่งที่อาจมีหรือไม่มีก็ได้ หมายถึงเป็นสิ่งที่พิจารณาแล้วแต่บุคคล อาจเหมาะสำหรับบางคน
เบาะนั่ง
“เบาะนั่ง” เป็นชิ้นที่สำคัญที่สุด ควรมีขนาดใหญ่พอดี นั่งแล้วไม่รู้สึกอึดอัดคับแคบ ขณะเดียวกันก็ไม่ใหญ่จนเมื่อนั่งแล้วก้นหรือหลังไม่สามารถพิงเบาะได้ หรือมีการกดขอบหน้าเบาะกับด้านหลังเข่า หรือเมื่อวางแขนกับที่วางแขนแล้วศอกต้องกางมากจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อบ่าต้องทำงาน เบาะนั่งที่ดีควรมีการปรับได้ (รูปที่ ๑)
รูปที่ ๑ เบาะนั่งเลื่อนหน้าหลัง และที่พักแขนปรับหมุนได้
สิ่งที่มีถือว่าดี ปรับความเอียงไปด้านหน้าหรือหลังได้ (ปรับเอียงหน้าจะเหมาะสำหรับงานเขียนและงานคอมพิวเตอร์ที่ต้องโน้มตัวไปข้างหน้า ปรับเอียงหลังเหมาะสำหรับการนั่งที่ต้องพิงพนักพิง เช่น การนั่งพัก หรือนั่งฟัง)
ปรับเลื่อนเบาะหน้าหลังได้ หมายถึงเบาะสามารถเลื่อนให้ยื่นหรือหดได้ และล็อกการเลื่อนนั้นได้ตามต้องการ เพราะคนมีความยาวขาส่วนบนไม่เท่ากัน
อย่างไรก็ตาม หากเก้าอี้นั้นปรับไม่ได้ให้เลือกซื้อเก้าอี้ที่เบาะลึกหน่อยก็ได้แล้วใช้หมอนมาหนุนเพิ่มที่ด้านหลังของก้นและหลังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ตัวเตี้ย
สิ่งที่อาจมีหรือไม่มีก็ได้ ปรับเอนไปพร้อมๆ กับพนักพิง เมื่อต้องการเอนหลังพัก และสามารถล็อกการเอนนี้ได้ ลักษณะการปรับนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการการเอนตัวจนเกือบนอน หากต้องการใช้งานในลักษณะนี้ควรทดลองนั่งและใช้งานให้ดี เพราะหากเก้าอี้ที่ออกแบบมาไม่ดีเวลาเอนอาจส่งผลต่อสมดุลของเก้าอี้ทำให้ล้มไปข้างหลังได้
เบาะนั่งแยกเป็นหลายชิ้น อาจเหมาะสำหรับคนที่มีการขยับหรือเคลื่อนไหวบ่อย แต่บางครั้งอาจรู้สึกรำคาญเนื่องจากความไม่นิ่งของเบาะ และทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวมากกว่าปกติเพื่อทำให้การนั่งสมดุล
พนักพิงหลัง
“พนักพิงหลัง” ควรมีขนาดใหญ่ รองรับแผ่นหลังทั้งแผ่นได้ดี นั่นหมายถึงความสูงของพนักพิงควรถึงระดับไหล่ และเมื่อนั่งแล้วความโค้งนูนเว้าของเบาะต้องเข้ากับส่วนหลังของเรา ดังนั้นเบาะจึงมักมีการปรับได้เช่นกัน (รูปที่ ๒)
รูปที่ ๒ พนักพิงหลังสามารถปรับขึ้นลงได้
สิ่งที่ต้องมี ปรับความเอนไปด้านหลังได้ โดยการปรับเป็นการแยกแบบอิสระกับตัวเบาะรองนั่ง และสามารถล็อกองศาการเอนได้ด้วย แต่องศาการเอนที่ปรับได้อาจขึ้นกับราคา หากเก้าอี้ที่ราคาสูงอาจปรับจนมีลักษณะเกือบนอนก็ได้ องศาที่เหมาะสมสำหรับการทำงานจะอยู่ประมาณ ๑๐๐ ถึง ๑๒๐ องศา แล้วแต่บุคคลและชนิดของงาน
สิ่งที่มีแล้วถือว่าดีมาก ปรับระยะความสูงและการรับน้ำหนักที่หลังส่วนล่าง การปรับลักษณะนี้มักพบว่ามีในเก้าอี้ที่ราคาแพงมากๆ ซึ่งต้องอาศัยกลไกการทำงานที่สัมพันธ์กันเมื่อมีการปรับเก้าอี้พนักพิงให้เอนในองศาที่แตกต่างกัน
เก้าอี้ที่ราคาถูกอาจใช้การนูนหรือเว้าเพื่อการรับน้ำหนักหลังส่วนล่างได้ แต่มักเป็นแบบตายตัว และไม่เปลี่ยนแปลงตามองศาการเอียงของเบาะ
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนแนะนำว่าเลือกที่ส่วนโค้งเว้าเหมาะกับเรา แล้วใช้หมอนมาหนุนได้ ซึ่งสามารถรับความหนาตามความต้องการของเราได้เช่นกัน
ปรับความสูงต่ำของพนักพิง เพื่อให้เหมาะกับความสูงต่ำของแต่ละคน ลักษณะการปรับนี้อาจไม่สำคัญมากนักเนื่องจากหากพนักพิงสูงคนตัวเตี้ยก็สามารถนั่งได้ มีพนักพิงศีรษะ เป็นสิ่งที่ใช้เมื่อต้องการเอนหลังพิงกับพนัก สามารถพิงพักศีรษะได้ (เก้าอี้บางตัวอาจปรับระดับความสูงต่ำหรือการก้มหน้า-หลังของพนักพิงศีรษะได้)
สิ่งที่อาจมีหรือไม่มีก็ได้ ปรับเอนไปพร้อมๆ กับพนักพิง เมื่อต้องการเอนหลังพัก และสามารถล็อกการเอนนี้ได้ คุณลักษณะนี้เป็นอันเดียวกับที่ได้กล่าวมาในส่วนของเบาะนั่ง
ที่พักแขน
“ที่พักแขน” เป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นความสำคัญมาก หลายคนไม่ได้ใช้เพราะอาจรู้สึกเกะกะรำคาญ หรือไม่ก็ไม่เห็นความจำเป็นเพราะมักเอาแขนกางวางบนโต๊ะ ที่พักแขนที่ดีต้องสามารถรองรับแขนได้จริงขณะที่นั่งพิมพ์งาน แต่ต้องไม่เกะกะ และต้องสามารถใช้ค้ำยันตัวในขณะลงนั่งหรือขึ้นยืนได้
สิ่งที่ต้องมี ปรับความสูงต่ำของที่พักแขนได้ โดยความสูงสูงสุดที่ปรับคือเมื่อนั่งแล้วสามารถพยุงแขนขณะที่เราทำงานโดยที่บ่าและไหล่ไม่เกร็ง
สิ่งที่มีแล้วถือว่าดีมาก ปรับให้ที่พักแขนสามารถเอียงเข้าหรือออกได้ขึ้นอยู่กับมุมของการกางแขนขณะพิมพ์งานหรือเขียนหนังสือ
ปรับให้ที่วางแขนสามารถเลื่อนในแนวหน้าหลังได้ ทำให้สะดวกต่อการลุกขึ้น นั่งลง หรือสามารถรองรับได้ทั้งแขน
ปรับให้ที่วางแขนสามารถขยับเข้ามาชิดหรือห่างจากตัวได้ ทำให้เมื่อวางแขน แขนจะไม่กางออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ตัวเล็ก
ที่วางแขนที่ปรับไม่ได้ แล้วมีความสูงที่ค่อนข้างต่ำ ใช้เพื่อเอามือยันตัวเมื่อขึ้นยืนหรือลงนั่งเท่านั้น
ลักษณะการปรับได้ในส่วนของเก้าอี้ดังที่ได้กล่าวมาเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อย หลายคนไม่รู้ว่าปรับอย่างไร
ก่อนซื้อขอแนะนำให้ทดลองนั่ง ทดลองปรับจนพอใจ อย่าเชื่อแค่คำพูดชักจูงของผู้ขายอย่างเดียว และขอให้คนที่ได้ใช้จริงๆ เป็นคนที่ได้ทดลองนั่ง ไม่ใช่จากฝ่ายจัดซื้อ หรือพ่อ แม่ เพราะสรีระแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก www.doctor.or.th