คำขอร้องจากสมองถึงออเจ้าทั้งหลาย...อย่าใช้งานบ่าวหนักนักเลยเจ้าค่ะ
ในยุคดิจิทัลที่การแข่งขันวัดกันนาทีต่อนาที จะคิดหรือตัดสินใจอะไรต้องรวดเร็วฉับไว จะมัวทำงานแบบสโลว์ไลฟ์คงไม่ทันบริษัทคู่แข่ง ดังนั้นหนึ่งในทักษะจำเป็นที่มนุษย์งานยุคนี้พึงมีเพื่อก้าวให้ทันโลกจึงหนีไม่พ้น ทักษะ “Multitasking” หรือความสามารถในการทำงานหลายๆอย่างไปพร้อมกัน เพื่อให้งานลุล่วงตามเป้าหมายทันเวลา
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันแล้วว่า พฤติกรรมดังกล่าวอาจทำให้ 1 วันของคุณคุ้มเกินคุ้ม สามารถทำงานอะไรหลายอย่างมากขึ้นก็จริง แต่ผลเสียที่ตามมา คือ คุณกำลังเป็นวายร้ายทำลายสมองให้นับวันยิ่งพัง
ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า การทำงานหลายอย่างไปพร้อมกันนอกจากจะทำให้ทำงานได้ช้าและประสิทธิภาพลดลงแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ทำอะไรไปทีละอย่าง ยังพบว่าคนที่ทำงานหลายอย่างไปพร้อมกันจะไม่สามารถจัดระบบความคิดให้เป็นระเบียบ ตลอดจนเรียบเรียงความคิดและคัดกรองข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกไปได้ดีนัก
ขณะที่ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้ชัดว่า การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะทำให้ระดับไอคิวลดลงได้ถึง 15 จุดหรือเทียบเท่ากับการสูบกัญชาหรือการอดนอนมาทั้งคืนเลย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนถึงหลายๆ คนที่ยังพึงใจกับการใช้งานสมองอย่างหนักหน่วงว่า สมองของคนเราไม่ได้ถูกออกแบบให้ทำงานมากกว่าหนึ่งอย่างในเวลาเดียว เพราะฉะนั้น อย่าได้คาดหวังว่า ผลงานจากการใช้งานสมองเกินหน้าที่ออกมาดีดั่งใจ
เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเวลาขับรถระหว่างคุยโทรศัพท์ ถึงรถจะยังแล่นไปถึงจุดหมาย คุณสามารถสื่อสารกับปลายทางได้อย่างชัดเจน แต่หารู้ไม่ว่า สมอง ซึ่งต้องควบคุมทั้งการขับรถและประมวลผลจากการพูดคุยกับปลายสายในเวลาเดียวกันต้องทำงานหนักแค่ไหน จากผลการศึกษาด้วยการสแกนสมองกลุ่มตัวอย่างที่คุยโทรศัพท์ขณะขับรถ พบว่า ขีดความสามารถของสมองที่มีต่อการมองเห็นลดลง ประหนึ่งว่าคุณกำลังขับรถโดยไม่ได้มองถนนแม้แต่น้อย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบางครั้งเราถึงขับรถมาถึงจุดหมายหรือที่ไหนสักแห่งโดยที่ไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ใครที่ยังทำร้ายสมองโดยรู้เท่าไม่ทันการณ์ซ้ำๆ เช่น ประชุมไปพร้อมกับตอบอีเมลลูกค้า หรือ แต่งหน้าระหว่างขับรถ ฯลฯ ถ้ารักและเห็นใจสมองขอให้เลิกด่วน เพราะอย่างน้อยยังมีข่าวดีพอให้ยิ้มได้ว่า ไม่มีคำว่าแก่เกินไปสำหรับการเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าคุณจะใช้ชีวิตอยู่กับการทำงานหลายสิ่งในคราวเดียวจนสมองบอบช้ำมานานขนาดไหน แต่มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่พบแล้วว่า หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ สมองที่เคยอ่อนล้าจนแทบจะหมดแรง ก็พร้อมกลับมาสตรองอีกครั้ง
หนึ่งในวิธีง่ายๆ ในการคืนความอ่อยนเยาว์ให้สมองที่ทำได้แบบไม่ต้องรอคือ ลองจินตนาการในหัวว่า มีชั้นวางของที่ผนังอยู่ 1 ชั้น แต่ละชั้นบรรจุด้วยกล่องมากมาย กล่องแต่ละใบนี้หมายถึงงานและความรับผิดชอบแต่ละอย่างของคุณ กติกา คือ คุณต้องค่อยๆเปิดกล่องทีละใบเพื่อจัดการกับสิ่งที่อยู่ในนั้นให้เสร็จลุล่วง จึงค่อยเปิดกล่องใบต่อไป สำหรับใครที่เป็นสายนอยด์กังวลว่าจะใช้เวลากับกล่องใบไหนนานเกินไป จนเสียงาน แนะนำให้จัดลำดับความสำคัญของแต่ละกล่อง เพื่อเปิดตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง
ถ้าพร้อมแล้ว ไปสร้างชั้นวางของในจินตนาการกันเถอะ...
ขอบคุณที่มา www.talentsmart.com และ www.forbes.com