จั่วหัวมาแบบนี้ ออเจ้า สาวกพี่หมื่น (หมื่นสุนทรเทวา) หรือขุนศรีวิสารวาจาทั้งหลาย อย่าเพิ่งจิ้นไปไกล เพราะคันฉ่องที่ว่านี้ไม่ได้เอาไว้ส่องดูนางในใจคุณพี่(หมื่น) แต่เอามาเพื่อพิสูจน์ว่าผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโตที่ว่าคนเราสามารถตัดสินความรวย-ความจนได้จากหน้าตานั้นจริงหรือไม่

         เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโตค้นพบความลับอันน่าทึ่งว่า แม้คนเราจะไม่แสดงสีหน้าใดๆ แต่โครงสร้างของใบหน้าก็สามารถบ่งบอกได้ว่าคนผู้นั้นเป็นคนยากดีมีจนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

         ผลการศึกษาดังกล่าวซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำด้านจิตวิทยาสังคม (Journal of personality and social psychology) นี้เป็นผลงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ Nicholas O.Rule และ Thora Bjornsdottir  นักศึกษาปริญญาเอกที่กำลังอยู่ระหว่างทำดุษฎีนิพนธ์ พวกเขาใช้วิธีรวบรวมภาพถ่ายขาว-ดำของกลุ่มตัวอย่างจากหลายเชื้อชาติ หลากหลายภูมิหลังที่มีอายุระหว่าง18-22 ปี จำนวน 160 รูป ในจำนวนนี้เป็นภาพผู้ชาย 80 รูป และภาพผู้หญิง 80 รูป โดยเกณฑ์ในการคัดกรองกลุ่มตัวอย่าง คือ ต้องมีทั้งผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 60,000 เหรียญสหรัฐ และ ส่วนกลุ่มที่มีรายได้เกิน 100,000 เหรียญสหรัฐ จัดว่าอยู่ในกลุ่มรวย

         

จากนั้น ทีมนักวิจัยได้นำภาพของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่แสดงสีหน้าใดๆ มาตัดให้เหลือเฉพาะส่วนใบหน้า เพื่อตัดองค์ประกอบอื่นๆที่จะเป็นตัวชี้วัดถึงฐานะออกไป แล้วนำภาพทั้งหมดมาให้กลุ่มนักศึกษาดูโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที จากนั้นให้จำแนกออกมาว่า ภาพไหนควรจัดอยู่ในกลุ่มรวยหรือกลุ่มจน  

         ผลปรากฏว่า คำตอบที่ได้รับเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากถึง 68% ซึ่งสะท้อนว่า คนเราสามารถใช้สัญชาตญาณตัดสินฐานะของคนที่เจอได้ในครั้งแรก ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ได้แสดงสีหน้าหรือารมณ์ใดๆออกมาก็ตาม

         ทั้งนี้สองนักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการศึกษาเชื่อว่า เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เกี่ยวพันกับการทำงานของสมองที่มีผลกับการแสดงออกทางสีหน้าของคนเราอย่างแยกไม่ออก เป็นไปได้ว่า คนที่มีความกังวลทางการเงิน มักมีความเครียดสะสม และ แสดงออกทางสีหน้าบ่อยๆโดยไม่รู้ตัว ทำให้หางคิ้วมีรอยเหี่ยวย่นมาก ตรงกันข้ามกับคนรวย ที่โลกทั้งใบมีแต่สีชมพู ไร้ซึ่งความกังวล วันทั้งวันมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ จึงเป็นไปได้ว่าริ้วรอยแห่งความสุขนี้จะไปปรากฏที่บริเวณริมฝีปากมากกว่า

         อย่างไรก็ตาม นักวิจัยทั้งสองตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง บางครั้งคนเราอาจใช้การแสดงออกทางสีหน้าเพื่อเก็บงำความจริงบางอย่างในใจ ซึ่งอาจทำให้การใช้สัญชาตญาณตัดสินคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน เพราะจากผลการทดสอบพบว่า เมื่อภาพตัวอย่างที่นำมามีการแสดงสีหน้า เช่น ยิ้มหรือ หัวเราะ มีผลให้คำตอบมีแนวโน้มผิดพลาดมากขึ้น

         ทั้งนี้ในอนาคต นักวิจัยทั้งสองยังมีความมุ่งมั่นที่จะไขความลับนี้ต่อไป เพราะเขาเชื่อว่า หากแม้แต่กลุ่มตัวอย่างวัยทีนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาเพียงไม่นาน ใบหน้ายังสามารถฟ้องถึงความกังวลที่มีต่อฐานะการเงินได้เพียงนี้ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ผ่านเรื่องราวในชีวิตมาอย่างโชกโชนอาจจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างมีนัย

         เอาเป็นว่า ใครที่สนใจต้องรอติดตามผลกันต่อไป

ขอบคุณที่มา  www.inc.com