ตีแตก ธุรกิจโรงแรม เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ( ผลประกอบการ ปี 60)
ปี 2560 ที่ผ่านมา เห็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งปี หลักฐานชัดเจนคือตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงขึ้นกว่า 8.77% สร้างรายได้เข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น 11.6% จากปีก่อน ปัจจัยเอื้อหนุนมาจากหลายส่วน เช่น ICAO ประกาศปลดธงแดงด้านการบินให้กับประเทศไทย, ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี, คุณภาพของนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น หลังจากปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย เป็นต้น แต่ในแง่ของผู้ประกอบการโรงแรมแล้ว ยังอยู่ในภาวะการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นการตัดราคา หรือ ตัวเลือกการพักแรมอื่น ๆ เช่น เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์รายวัน เป็นต้น
TerraBKK Research สรุปสาระสำคัญ ผลประกอบการ 10 บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2560 รายละเอียดดังนี้
ภาพรวมอุตสาหกรรมโรงแรม
TerraBKK Research เริ่มต้นด้วย การเปรียบเทียบขนาดธุรกิจ จาก มูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมของหลักทรัพย์จดทะเบียน Market Capitalization (Mkt Cap.) ประเมินจากการนําราคาปิดของหลักทรัพย์จดทะเบียน คูณกับจำนวนหลักทรัพย์จดทะเบียนปัจจุบัน (Listed Shares) ณ เมษายน 2561 พบว่า ยักษ์ใหญ่ระดับหมื่นล้านบาทมีเพียง 3 บริษัท คือ โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) 6.54 หมื่นล้านบาท, ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) 2.05 หมื่นล้านบาท และโอเอชทีแอล(OHTL)1.20 หมื่นล้านบาท
สัดส่วนรายได้ ผลประกอบการ การประกอบธุรกิจโรงแรม จะเป็นรายได้ห้องพักเฉลี่ย 60% รองลงมา รายได้อาหารและเครื่องดื่มเฉลี่ย 32% และ 8% ที่เหลือ จะเป็นรายได้อื่นๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการจัดเลี้ยง งานสัมมนา เป็นต้น
จำนวนห้องพัก กรณีนับเฉพาะโรงแรมที่ผู้ประกอบเป็นเจ้าของ 100% สูงสุดจะเป็น ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) กว่า 7,016 ห้อง ทั้งนี้ หากนับรวมโรงแรมที่เป็นเจ้าของเองและรับจ้างบริหาร อาจสูงเป็นระดับหมื่นห้องได้ เช่น โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) บริหารกว่า 58 แห่ง รวม 11,891 ห้อง เป็นต้น
อัตราการเข้าพักเฉลี่ย ( Occupancy - OCC) ภาพรวม ผลประกอบการ ปี 2560 อยู่ที่ 73.5% ผู้ประกอบที่สามารถทำตัวเลขนี้ได้สูงสุดในปี 2560 คือ ดุสิตธานี(DTC) ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเชส เชียงใหม่ 89.4% ส่วนผู้ประกอบการที่ทำตัวเลขได้น้อยที่สุด คือ แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) ที่โรงแรมเชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า 46.7%
ภาพรวม ผลประกอบการ ปี 2560
รายได้และกำไรสุทธิ ผลประกอบการ ปี 2560 โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) ทำตัวเลขสูงสุดทิ้งห่างกลุ่มไปไกล รายได้ปี 2560 ที่ 20,345 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,991 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Up Trend) เช่นเดียวกับ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ที่มีรายได้โตขึ้น 6.82% จากปีก่อน รวมทั้ง ดุสิตธานี(DTC), โอเอชทีแอล(OHTL), โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย)(ROH) และ แมนดารินโฮเต็ล(MANRIN) ส่วนผู้ประกอบการที่มีตัวเลขรายได้ค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านมา คือ ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล(LRH), แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND), แชงกรี-ลา โฮเต็ล(SHANG) และ เอเชียโฮเต็ล (ASIA)
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) สะท้อนประสิทธิภาพของบริษัทในการนําสินทรัพย์ไปลงทุนให้เกิดผลตอบแทนได้ดี ซึ่งผลลัพธ์ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี กิจการที่มีตัวเลขนี้ดีที่สุดในกลุ่ม คือ โอเอชทีแอล(OHTL) 14.09% แต่ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่การเติบโตผันผวน (Sideway) ขณะที่ แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) มีตัวเลขก้าวกระโดดอย่างมาก เป็นผลจากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการไฮด์สุขุมวิท11และขายทรัพย์สินของโรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปาให้แก่กองทรัสต์เป็นหลัก
อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารงานก่อเกิดผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของกิจการ ซึ่งผลลัพธ์ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี โอเอชทีแอล(OHTL) คือ ผู้ชนะที่สามารถบริหารงานทำให้ตัวเลขนี้สูงถึง 28.77% สูงสุดในกลุ่ม หากมองในแง่แนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตัวเลข (Up Trend) นอกจาก แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) จะก้าวกระโดดจากเหตุผลข้างต้นแล้ว ยังมี โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย)(ROH), ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) และ แมนดารินโฮเต็ล(MANRIN) เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
สุดท้ายสำหรับ อัตรากำไรสุทธิ (NPM) อยู่ในช่วงเฉลี่ย 6.20% - 13.10% ผละประกอบการ บริษัทมหาชนที่มี อัตรากำไรสุทธิสูงสุด คือ แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) 24.63% ทั้งนี้ พบเพียง 4 บริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (Up Trend) ในช่วงปี 2558-2560 ที่ผ่านมา คือ โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย)(ROH), โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL), แมนดารินโฮเต็ล(MANRIN) และ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) ---TeraBKK
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก