กรณีศึกษาหุ้น “TKN หุ้นที่ตกหลุมอากาศ”
สำหรับนักลงทุนหุ้น การซื้อหุ้นตอนที่อย่าง “ดูดี” นั้นเรามักจะได้หุ้นราคาแพงลิบลิ่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หุ้นเติบโต” ที่มี story หรือ เรื่องราวที่น่าสนใจจะช่วยผลักดันราคาหุ้นให้ไปถึง “ดาวอังคาร” ก็มีให้เห็นกันมาแล้ว ... ซึ่งนี่คือหนึ่งในเหตุการณ์ที่ เราต้องใช้ “จิตวิทยาลงทุนหุ้น” เพื่อป้องกันความอยากซื้อ หรือความโลภในภาวะหุ้นเป็นขาขึ้น
กรณีศึกษานี้เราจะมาดู หุ้นเถ้าแก่น้อย หรือ TKN เป็นหุ้นที่สร้างปรากฏการณ์การเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านยอดขาย และราคาหุ้นในห้วงที่ผ่านมา หากเราย้อนกลับไปดูราคาหุ้นตัวนี้จะพบว่า มันได้ขยับปรับขึ้นมาหลายเท่าตัวจากตอน IPO จนไปสุดที่ราคาราว 30 บาทต่อหุ้น
(ที่มา ... big chart)
หลังจากขึ้นไปทำจุดสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว จู่ ๆ ราคาหุ้นก็ “หล่น” ลงมาเรื่อย ๆ ราวกับเครื่องบินที่กำลังแล่นฉิว แต่พลัน “ตกหลุมอากาศ” ทำให้ราคาขยับปรับลงกว่าครึ่งหนึ่งของราคา ณ.จุดยอดดอย ... คำถามก็คือ “อะไร” คือสาเหตุของการตกหลุมอากาศในครานี้ และเขามีวิธีบริหารจัดการอย่างไร เรามาดูกัน ...
ประการแรก “ต้นทุนสาหร่ายขยับปรับตัวสูงขึ้น”
รายได้ หักลบกับ ต้นทุน ก็คือส่วนต่างซึ่งจะไปกระทบ “กำไร” สาเหตุที่กำไรลดลงส่วนใหญ่มักจะมาจากการควบคุมต้นทุนการผลิตไม่ได้ และต้นทุนการผลิตของ TKN ก็คือ “สาหร่ายดิบ” นั่นเองครับ
หากเรามาดูรายได้จากการขายต้องบอกว่า “เติบโต” ในสามปีที่ผ่านมา รายได้จากการขายขยับปรับขึ้นจาก 3,499 ล้านบาท มาเป็น 5,263 ล้านบาทในปี 2560
อย่างไรก็ตามสิ่งที่โตเร็วไม่แพ้ยอดขายก็คือ “ต้นทุนขาย” ที่เติบโตงอกงามจนในปี 2560 มีต้นทุนขายสูงเกินกว่า 3.5 พันล้านบาท
โดยทางบริษัทได้ชี้แจงว่า ปริมาณผลผลิตวัตถุดิบฟาร์มสาหร่ายที่เมืองจีนลดลงร้อยละ 35 (ข้อมูลจากรายงานผลการดำเนินงานของบริษัท) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมสาหร่ายทั่วโลก
และอีกสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นก็คือ การเปิดดำเนินงานโรงงานใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้น และกระบวนการผลิตสาหร่ายยังไม่เข้าที่ ต้องปรับต้องแก้อีกพอสมควร ซึ่งต้นทุนที่สูงจากสองสาเหตุนี้กดดันกำไร และราคาหุ้นให้ตกต่ำลงมาอย่างที่เห็น
ประการที่สอง “แนวทางการแก้ปัญหาของ TKN”
เมื่อเราทราบสาเหตุที่ทำให้หุ้นตกหลุมอากาศแล้ว นักลงทุนก็ต้องมาดูว่า วิธีการแก้ปัญหาของเขาคืออะไร สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาของ TKN สรุปได้ดังนี้
- บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างต้นทุนใหม่ ด้วยการล็อกราคาสาหร่ายไว้ล่วงหน้า ทำให้ต้นทุนสาหร่ายควบคุมได้มากขึ้น และมีการปรับอัตราการใช้กำลังการผลิตสาหร่ายสำเร็จรูปให้ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่าค่าเฉลี่ยเดิม โดยแจ้งไว้ว่าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นมากขึ้นร้อยละ 35
- มีการติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพิ่มเติมทั้งสองโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
- มีการขยายตลาดใหม่เพิ่มเติม เช่น สหรัฐอเมริกา
หากเรามาดูสัดส่วนลูกค้าของหุ้นตัวนี้จะพบว่า ยอดขายจากประเทศจีนแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว โดยที่จีนมีสัดส่วนยอดขายกว่า 40% ในขณะที่ขายในประเทศแค่ 39% สิ่งนี้บ่งบอกเราว่า ในอนาคตผลกระทบต่อกิจการนั้นอาจมาจากต่างประเทศมากกว่าในประเทศนั่นเองครับ
ประการสุดท้าย “หุ้นตกหลุมอากาศชั่วคราวหรือไม่”
จากข้อสรุปที่กล่าวมาทั้งหมด หากเราเป็นนักลงทุนก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าหุ้นตัวนี้ประสบภาวะตกหลุมอากาศชั่วคราว หรือกิจการกำลังดิ่งเหว หรือแม้แต่มันอิ่มตัวไปหรือยัง
สิ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือ ยอดขายยังคงเติบโต แต่สิ่งที่โตเร็วกว่าคือ ต้นทุนขาย สาเหตุหลัก ๆ มาจากต้นทุนสาหร่ายดิบ และการเปิดโรงงานใหม่ ในส่วนของต้นทุนสาหร่ายเป็นอะไรที่คาดเดายาก แต่ในส่วนของการเปิดโรงงานนั้นน่าจะเป็นค่าใช้จ่ายชั่วคราว และหากโรงงานดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพก็จะทำให้ต้นทุนขายลดลงจากส่วนนี้ได้
ข้อสรุปปิดท้าย ... นักลงทุนที่มีจิตวิทยาในการลงทุน มักจะชอบซื้อหุ้นตอนมีข่าวร้ายชั่วคราว และถ้าประเมินราคาหุ้นแล้วถือว่ารับได้ ไม่แพง ก็น่าสะสมเก็บเข้าพอร์ต ผิดกับตอนที่เราไปไล่ราคาซื้อแห่ตามฝูงชนจำนวนมาก ๆ ก็จะเจ็บตัวอย่างหนัก สำหรับ TKN คงต้องให้เวลาพิสูจน์ว่าเขาจะกลับมาได้หรือไม่ และเป็นแค่การ “ตกหลุมอากาศ” ชั่วคราวหรือเปล่านั่นเองครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก นายแว่นลงทุน