สังคมสูงวัย ( Ageing Society ) กลายเป็นกระแสมาเป็นระลอก TerraBKK มองว่ากระแสนี้คือเรื่องจริงที่แอบแฝงด้วยความน่ากังวลไม่น้อย อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต หาก สังคมสูงวัย ( Ageing Society ) เพิ่มขึ้น มาพร้อมกับการลดลงของช่วงวัยแรงงาน ที่เป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การผลักดันนำเอาเทคโนโลยี หรือ AI มาช่วยการทำงานเป็นไอเดียที่ดี แต่ประเทศไทยเราจะก้าวถึงขีดความสามารถนั้นหรือไม่ ลองกลับมาถามใจตนเองดู ?

  กรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์  

            ในแง่การพัฒนาประเทศได้อย่างน่าสนใจ หนึ่งประเทศที่ต้องนึกถึง TerraBKK ยกให้ประเทศสิงคโปร์ ย้อนกลับ ค.ศ. 1960 สิงคโปร์ยังมีสภาพไม่น่าอยู่ ชาวสิงคโปร์ราว 2/3 ของประเทศ (1.6 ล้านคน) ต้องอยู่อาศัยในเขตสลัม แต่ด้วยการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยของหน่อยงานพัฒนาเคหะแห่งชาติ (Housing and Development Board - HDB) ทำให้ปัจจุบันสามารถสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชากรถึง 84% ที่เหลืออีก 16% เป็นที่อยู่อาศัยสร้างโดยภาคเอกชน แน่นอนว่า ประเทศสิงคโปร์ ก้าวหน้าไปอีกขั้นใน ด้านที่พักอาศัยรอบรับ สังคมสูงวัย ( Ageing Society ) ไม่ใช่แค่การสร้างที่อยู่อาศัย แต่ยังวางนโยบายลงลึกถึงการอยู่อาศัยร่วมกันของผู้สูงอายุ และ การส่งเสริมการอยู่อาศัยพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก อีกด้วย รายละเอียดดังนี้

  นโยบายส่งเสริมที่อยู่อาศัยของ สังคมสูงวัย ( Ageing Society )  

        • Senior Priority Scheme นโยบายส่งเสริมสัดส่วนที่พักอาศัยผู้สูงอายุ ด้วยสัดส่วนอย่างน้อย 40%ของอาคาร ผู้สูงอายุ สามารถสมัครลงทะเบียน รอรับสิทธิ์จับสลากเลือกที่พักอาศัย 2 ห้องนอนที่ HDB สร้างไว้ตามลำดับ
        • Multi-Generation Priority Scheme นโยบายส่งเสริมให้ครอบครัวพักอาศัยด้วยกันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูกหลาน โดยจะได้สิทธิ์เลือกทำเลที่ตั้ง และพื้นที่ห้องกว้างขึ้น เช่น ห้องพักขนาด 2-3 ห้องนอน เป็นต้น

  นโยบายส่งเสริมที่อยู่อาศัยสำหรับการมีลูก  

        • Married Child Priority Scheme นโยบายส่งเสริมให้ผู้เป็นลูกที่เพิ่งแต่งงานแยกครอบครัว สามารถรับสิทธ์จับสลากเพื่อเลือกที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้ที่อยู่อาศัยของผู้เป็นพ่อแม่ก่อนได้
        • Parenthood Priority Scheme นโยบายส่งเสริมให้ครอบครัวคู่สามีภรรยาที่มีลูกวัยศึกษาอายุต่ำกว่า16ปี สามารถรับสิทธิ์จับสลากเพื่อเลือกที่อยู่อาศัยก่อนได้
        • Third-Child Priority นโยบายส่งเสริมให้ครอบครัวคู่สามีภรรยาที่มีลูกคนที่ 3 วัยศึกษาอายุน้อยกว่า16ปี สามารถรับสิทธิ์จับสลาก เพื่อเปลี่ยนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ขึ้นได้
        • Assistance Scheme for Second-Timers (Divorced/Widowed Parents) นโยบายส่งเสริมให้ครอบครัวที่หย่า/หม้ายและมีลูกติดวัยศึกษาอายุน้อยกว่า16ปี สามารถรับสิทธิ์จับสลากก่อน ในการเลือกที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับครอบครัวได้

            สำหรับ ประเทศไทย เรายังไม่ทราบนโยบายส่งเสริมด้านที่อยู่อาศัยของ สังคมสูงวัย ( Ageing Society ) แน่ชัด และจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ องค์กรที่รับหน้าที่ติดตามและปรับปรุงแผนผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลง พบว่า สิ่งที่ท้าทาย สังคมสูงวัย ( Ageing Society ) สำหรับประเทศไทยยังมีไม่น้อย อาทิ


             1. ความยากจนของประชากร
                 ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ ไม่มีหลักประกันทั้งในรูปแบบเงินออม และเงินบำนาญ ประกอบการครองตัวเป็นโสดมากขึ้น ทำให้ขาดผู้เกื้อหนุนด้านการเงิน ความยากจนในวัยผู้สูงอายุจึงอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
             2. ขนาดประชากรวัยทำงานลดลง
                 ครอบครัวประชากรไทยปัจจุบัน แนวโน้มการมีบุตรลดลง ต่างไปจากครอบครัวไทยแบบดั่งเดิม บุตรซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มย้ายแหล่งงานเข้า กทม. หรือทำงานในถิ่นฐานไกลบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุที่มีบุตรหลายกลุ่มกลับไม่ได้อาศัยอยู่กับบุตร สรุปได้ว่า การหวังพึ่งบุตรในยามวัยชราแต่เพียงอย่างเดียวเป็นไปได้ยาก
             3. ความจำเป็นต้องการพึ่งพาและการดูแลระยะยาว
                 ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอายุยืนยาวมากขึ้น ภาวะเจ็บป่วยหรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองก็เพิ่มมากขึ้นตามอายุเช่นกัน ประกอบการการหวังพึ่งบุตรหลานได้ยากในปัจจุบัน ทำให้ผู้สูงวัยย่อมต้องการการดูแลระยะยาวเพิ่มขึ้น คาดว่า ผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาว จากภาวะทุพพลภาพ หรือภาวะความจำเสื่อม จะมีมากกว่า 700,000 คนในปี 2563
             4. ขาดโอกาสนำศักยภาพผู้สูงอายุมาสร้างประโยชน์
                  ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยยังคงมีศักยภาพการทำงานและองค์ความรู้ความสามารถที่สะสมมา แต่กลับขาดโอกาสแสดงศักยภาพสร้างประโยชน์แก่สังคมและประเทศ และที่ผ่านมาองค์กรที่เกี่ยวข้องยังขาดการสื่อสารเชื่อมโยงประสานงานกัน

              ท้ายนี้ TerraBKK มองว่า ในฐานะที่เราเป็นประชากรไทยและต้องแก่เฒ่ากลายเป็น ผู้สูงวัย ในวันใดวันหนึ่ง จะดีกว่าไหม หากเราเพิ่มความรับผิดชอบต่อตนเอง วางแผนการใช้ชีวิตในยามเกษียณได้ โดยไม่เป็นภาระต่อลูกหลานและประเทศไทย ก่อนเรียกร้องเอาอะไรจากประเทศชาติ ลองย้อนกลับมาถามตนเองดูก่อนว่า เราสามารถช่วยเหลืออะไรประเทศชาติได้บ้าง เมื่อวันที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัย ( Ageing Society ) อย่างเต็มตัว --- TerraBKK

#สำรวจความพร้อมของไทยสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ 
#รวมแบบบ้านผู้สูงอายุดาวน์โหลดฟรี
#8ไอเดียสร้างสินค้าผู้สูงอายุ
#6มาตรฐานบ้านพักผู้สูงอายุ

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก