บอกให้โลกรู้ “แก่แต่เก๋า” สูงวัยไม่ใช่ภาระ  

            ใครว่าแก่แล้ว ต้องปลดระวาง ถ้าเป็นความเชื่อเมื่อ 20 ปีก่อนอาจจะใช่ แต่ในวันที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว หลายธุรกิจเริ่มปรับแผนหาช่องทางจับตลาดกลุ่มสูงวัย ซึ่งกำลังครองตำแหน่งเจ้าตลาด เห็นทีต้องพลิกมุมคิดเสียใหม่ เพราะสัดส่วนประชากรที่เปลี่ยนไป ไม่ได้มีผลให้ทิศทางตลาดผู้บริโภคเปลี่ยนเท่านั้น แต่รวมถึงความหลากหลายในองค์กรที่เปลี่ยนไปด้วย เมื่อกลุ่มผู้สูงวัยได้กลายเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ในตลาดงานเช่นกัน

            ปัญหา คือ หลายคนที่เริ่มเช็คอินเข้าสู่หลักไมล์ใหม่ของชีวิต ถูกเกลี่ยเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย เริ่มรู้สึกไม่มั่นใจในศักยภาพแห่งวัยของตัวเองเหมือนสมัยเป็นวัยใสที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ จนทำให้ผลลัพธ์ของงานแห้งเหี่ยวตามผลงานที่หดหาย เพราะฉะนั้น เพื่อปฏิวัติคุณคนเก่าให้ไม่เฉาไปตามวัย ลองปรับวิธีคิดด้วย 5 ข้อนี้ดู แล้วจะรู้ว่า แก่แต่เก๋าเป็นยังไง

            1.วัยที่เพิ่มคือสินทรัพย์ จงภูมิใจกับตัวเลขแห่งวัยที่เพิ่มขึ้น และ แสดงศักยภาพให้คนทั้งโลกเห็นว่า วัยที่เพิ่มขึ้นไม่ได้พรากความสดใส ทิ้งไว้แต่ความร่วงโรย แต่เป็นวัยที่คุณได้อัพเลเวลทักษะด้านต่างๆ ให้พร้อมรับมือกับโจทย์ใหม่ในโลกธุรกิจ พูดง่ายๆ จงใช้ความรู้ และ ประสบการณ์การทำงานที่หาไม่ได้ในหนังสือ มหาวิทยาลัย หรือส่งต่อเป็นมรดกตกทอดกันไม่ได้ให้เป็นประโยชน์ กำจัดแนวคิดลบๆอย่าง เทคโนโลยีเป็นของแสลงสำหรับคนรุ่นเก่าทิ้งไป แต่เปิดใจที่จะเรียนรู้เครื่องมือทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ทันเด็กยุคมิลเลนเนียน และ เจนวาย

           

 2.บอกตัวเองคุณมีทักษะการสื่อสารที่เหนือชั้น ข้อดีของคนวัยเก๋าที่เกิดมาในยุคก่อนที่การสื่อสารผ่านข้อความ หรือโซเชียลมีเดียจะเป็นที่นิยม ทำให้พวกเขาเข้าใจและรู้ซึ้งถึงคุณค่าและประโยชน์ของการสื่อสารแบบเห็นหน้า (Face to face)เป็นอย่างดี ซึ่งการสื่อสารแบบเก่าๆที่ว่านี้ ยังเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ไม่มีวันตายและจำเป็นเสมอในโลกธุรกิจ เพราะฉะนั้นจงนำทักษะนี้มาใช้เป็นแต้มต่อในการทำงานจะเกิดผล

            3.โฟกัสในสิ่งที่ทำ เพราะเห็นโลกมามาก ผ่านประสบการณ์ชีวิตและการทำงานมาเยอะ ทำให้กลุ่มสว.(สูงวัย)ค้นพบแล้วว่าตัวเองต้องการอะไร จึงหยุดที่ค้นหาหรือไขว้คว้าสิ่งที่คิดว่าจะใช่ให้กับตัวเอง และโฟกัสกับงานที่ทำอยู่อย่างเต็มที่ ยืนยันจากผลการสำรวจของสำนักวิจัยพิวจากสหรัฐ พบว่า 54%ของกลุ่มพนักงานที่อายุเกิน 65 ปีที่ยังทำงาน เพราะพวกเขาต้องการที่จะทำงานนั้น ไม่ใช่เพราะเงิน โดยเมื่อลงลึกลงไปอีกยังพบว่า 54% ของกลุ่มพนักงานที่มีอายุเกิน65 ปี ค่อนข้างพึงพอใจกับงานที่ทำ ขณะที่ในกลุ่มพนักงานอายุระหว่าง 16-64 ปี พบว่ามีระดับความพึงพอใจในงานที่ทำเพียง 29 %

           4.ใช้คอนเนกชั่นในสายงานที่แน่นปึกให้เป็นประโยชน์ ด้วยอายุงานที่ยาวนาน ทำให้พนักงานที่มีอายุมาก มีโอกาสพบปะเพื่อนร่วมวงการจำนวนไม่น้อย ถ้าจะวัดชั่วโมงบินกับเด็กจบใหม่ ก็ต้องบอกว่าห่างกันหลายไมล์ทะเล เพราะฉะนั้น อย่ามองข้ามคุณค่าแห่งความสัมพันธ์ที่สั่งสมด้วยกาลเวลานี้ และเลือกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะจากผลการสำรวจของ Center on Aging and Work มหาวิทยาลัยบอสตัน พบว่า 43% ของนายจ้างต่างยอมรับว่า พนักงานสูงวัยมีคอนเนกชั่นในสายงานมากกว่ากลุ่มยังเจนซึ่งมีเพียง 30 % ที่นายเจ้ายอมรับว่ามีคอนเนกชั่นในสายงาน

           5.ขายผลงานไม่ใช่อายุงาน ไม่ว่ายุคไหน สิ่งที่องค์กรต้องการคือผลงาน ต่อให้คุณจะเป็นเจนเอ็กซ์ ที่อายุเป็นแม่น้องใหม่ในแผนกได้ ก็อย่าได้สน ใช้วิธีแมนๆคุยกันด้วยผลงาน อย่านำประสบการณ์ 20 ปีที่คุณมีมาเป็นแต้มต่อ แต่ให้ใช้ผลงานความสำเร็จและประสบการณ์ที่มีมาแสดงตัวตนให้คนในบริษัทเห็นดีกว่า