สัญญาณเตือน “เสียงดังกรอบแกรบ” ระวังเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม
พออายุเริ่มเข้า 40 ปี กระดูกก็เริ่มที่จะเสื่อมไปตามอายุ บางคนอาจจะมีเสียงดังกรอบแกรบภายในข้อ เกิดจากก๊าซในน้ำไขข้อกลายเป็นฟองนั่นเอง และจากสถิติคนไทยเป็นโรค ข้อเข่าเสื่อม มากถึง 7 ล้านคน หรือร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไรเรามาดูกัน เพื่อจะได้เตรียมตัวป้องกันให้ถูกวิธี
สาเหตุอาการข้อเข่าเสื่อม
โรคดังกล่าวเกิดจากกระดูกอ่อนทำให้เกิดเสียงดังในข้อหรือหัวเข่าลั่นเสียงดังกรอบแกรบขึ้นมา ยิ่งเสื่อมมากกระดูกอ่อนผิวข้อก็จะยิ่งบางลง ผิวจะขรุขระมากขึ้น เสียงหัวเข่าลั่นก็จะเกิดบ่อยขึ้น ไม่แต่เฉพาะการออกกำลังกาย
ต่อมาก็จะเริ่มมีการงอกของกระดูกขึ้นมาเรียกว่า osteophyte เมื่อมีการอักเสบเยื่อหุ้มข้อจะสร้างน้ำเลี้ยงข้อเพิ่ม ทำให้ข้อมีขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อลีบลง การเปลี่ยนแปลงของข้อจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยที่ไม่เราไม่รู้มาก่อน
นอกจากข้อเข่าแล้วสาเหตุดังกล่าวยังเกิดได้จาก กระดูกคอ นิ้ว หลัง และข้อเท้า มีอาการก๊าซในน้ำไขข้อกลายเป็นฟอง เนื่องจากเมื่อหักข้อนิ้วมือ ปลอกหุ้มข้อต่อจะถูกยืดขยายออก ทำให้แรงดันในข้อลดลง ก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำไขข้อจะผุดเป็นฟอง แล้วรวมตัวกันเป็นฟองก๊าซขนาดใหญ่
และเมื่อยืดข้อต่อออกไปอีก น้ำไขข้อจะไหลกลับเข้าสู่ข้ออีกครั้ง ทำให้ฟองก๊าซขนาดใหญ่เหล่านั้น ยุบลงเป็นฟองขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเสียงดังกรอบแกรบภายในข้อนั่นเอง
ขณะเดียวกันยังมีเสียงหรือความรู้สึกอีกอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาขยับข้อขนาดใหญ่ ภาษาอังกฤษเรียกว่า เครพิทุส (Crepitus) ซึ่งสามารถสังเกตอาการนี้ได้โดยวางฝ่ามือไว้ที่ข้อ แล้วขยับข้อนั้นไปมา สังเกตความรู้สึกบริเวณฝ่ามือ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
แบบละเอียด (Fine Crepitus)
เป็นความรู้สึกคล้ายการใช้นิ้วมือขยี้เส้นผม เกิดจากการบดขยี้ของเยื่อบุผิวที่หนาตัวขึ้นจากการอักเสบเรื้อรัง พบได้ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และวัณโรคข้อ
แบบหยาบ (Coare Crepitus)
คล้ายมีเสียงกุกกักหรืออาจได้ยินเสียงลั่นในข้อขณะตรวจ เกิดจากการเสียดสีของผิวกระดูกอ่อนที่ขรุขระ หรือมีเศษกระดูกอ่อนชิ้นเล็กๆ หลุดและแขวนลอยอยู่ภายในข้อ พบบ่อยในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ระยะท้ายๆ ที่ผิวกระดูกอ่อนถูกทำลายอย่างรุนแรง
การรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม
ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาพบแพทย์มักจะมีอาการหัวเข่าลั่นและมีอาการปวดเข่า เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยเน้นตรวจที่ข้อเข่า มีการเอ็กซเรย์ทำ MRI ดูภายในข้อ ถ้าเกิดจากข้อเข่าเสื่อมจริง พบว่าช่องว่างระหว่างกระดูกเข่าแคบลง ก็จะมีการเจาะเลือด เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่า มีโรคที่เกี่ยวกับข้อหรือไม่ และมีการตรวจน้ำเลี้ยงข้อเข่าด้วย
เมื่อตรวจวินิจฉัยได้อย่างแน่นอนและชัดเจนแล้ว แพทย์จะกำหนดแนวทางการรักษา ซึ่งมีด้วยกัน 2 วิธี
- กรณีข้อเข่าเสื่อม การรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัด คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต การควบคุมน้ำหนักไปจนถึงการรับประทานยาและกายภาพบำบัด
- ข้อเข่าเสื่อมมากก็จะต้องใช้การผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic surgery) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบ MIS (Minimal Invasive surgery) อันเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง แผลผ่าตัดเล็กและก็เจ็บน้อยมาก วิธีนี้ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและสามารถรักษาไปพร้อมกัน เมื่อแผลผ่าตัดไม่ใหญ่และเจ็บน้อย จึงทำให้ไม่ต้องพักฟื้นนาน
การป้องกันดูแลร่างกายจากโรคข้อเสื่อม
1.ควบคุมน้ำหนัก
ถ้าปล่อยให้น้ำหนักตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่ จนเกิดเป็นภาวะโรคอ้วนข้อต่อต่างๆ ในร่างกายยิ่งต้องรับภาระอันหนักอึ้งมากขึ้นเท่านั้น การควบคุมน้ำหนักจึงเป็นการช่วยทะนุถนอมข้อกระดูกทางหนึ่งด้วย
2.ไม่อยู่ในท่าเดิมๆ นานจนเกินไป
การนั่งท่าที่ผิดเป็นระยะเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งยอง ๆ นั่งงอขา หรือนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะส่งผลเสียต่อข้อต่อบริเวณคอ และกระดูกสันหลังส่วนเอว ดังนั้นไม่ว่าจะนั่ง นอน หรือยืน ก็ควรอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง ที่สำคัญควรหมั่นขยับเขยื้อนตัว ยืดแขนยืดขาบ้าง เพื่อบริหารข้อต่อให้ใช้งานได้ดีอยู่เสมอ
3.ไม่ออกกำลังกายหนักจนเกินไป
เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อข้อและกระดูก แต่หากอยากออกกำลังกายจริงๆ ควรทำควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อจะช่วยแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ของข้อต่อ เมื่อร่างกายต้องเคลื่อนไหวรุนแรง โดยเฉพาะการมีกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังที่ดี จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังรับภาระการเคลื่อนไหวและแรงต่าง ๆ น้อยลง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเสื่อมได้มาก
4.หยุดใช้ยาบางอย่างจนเกินความจำเป็น
เช่น สเตียรอยด์แบบฉีดเพื่อลดการอักเสบของข้อ เพราะหากใช้บ่อยๆ อาจมีผลต่อข้อกระดูก ทำให้ข้อเสียและกระดูกบางลงได้
6 ประเภท อาหารบำรุงข้อเข่าเสื่อม
1.กินแคลเซียม
ได้แก่ โยเกิร์ต เนยแข็ง แต่ควรเลือกชนิดไขมันต่ำ ผักสีเขียว บร็อคโคลี คะน้า ปลาเค็ม ปลาเล็กปลาน้อยที่เคี้ยวทั้งกระดูกได้ งาดํา เต้าหู้ เพราะแร่ธาตุชนิดนี้ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กระดูกได้
2.วิตามินซีและสารแอนติออกซิแดนท์
สารชนิดนี้และวิตามินซีจะพบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม แถมยังช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื้อ และหลอดเลือดให้แข็งแรงได้อีกด้วย
3.กินผักและผลไม้หลากหลายสีสัน
ผักและผลไม้หลากหลายสีสัน จะให้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกากใยอาหาร หรือ สารแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งเป็นสารอาหารบํารุงข้อที่มีมากใน มะเขือเทศ แครอท กะหล่ำปลีสีม่วง ข้าวโพด ฟักทอง และผักใบเขียวชนิดต่างๆ เป็นต้น
4.กินปลาทะเลน้ำลึก
โดยเฉพาะปลาแซลมอนและปลาแมคเคอเรล อย่างน้อยควรรับประทาน สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพราะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ซึ่งสารอาหารชนิดนี้จะช่วยให้ข้อแข็งแรง ช่วยลดอาการปวด และอักเสบในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบได้ด้วย
5.งดเครื่องดื่มกาเฟอีน
เนื่องจากสารในกาแฟจะทําให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ส่งผลให้ระดับแคลเซียมในร่างกายเสียสมดุล จึงเกิดการสลายแคลเซียมในกระดูกมาใช้แทน และยังทำให้ปริมาณมากเกินไปจะทําให้มวลกระดูกบางลง
6.กินอาหารให้หลากหลาย
การทานอาหารให้หลากหลาย ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินอย่างครบถ้วน หากทําไม่ได้อาจใช้วิธีกินวิตามินรวมเสริม ซึ่งการกินวิตามินรวมจะทําให้คุณได้รับวิตามิน รวมถึงแร่ธาตุที่ขาดไป เช่น แคลเซียม และวิตามินเค ที่มีส่วนช่วยในการสร้างกระดูก วิตามินซีช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ กรดโฟลิก และวิตามินอีช่วยในการบํารุงกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ
การรักษาข้อเข่าไม่ให้เสื่อม หรือยืดอายุออกไปนั่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าลองปฎิบัติตามคำแนะนำในเบื้องต้นได้ แต่ถ้าหากเกิดมีอาการดังกล่าวก็ไม่ควรที่จะทิ้งไว้นานควรรีบปรึกษาแพทย์การที่อาการจะลุกลามจนสายเกินแก้
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิตเวช , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ,พญ.สุมาภา ชัยอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ ,ชีวจิต
ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com