เล่นเบอร์ไหน? ถึงจะเรียกว่าเป็น โรคติดเกม
แค่จั่วหัว หลายคนก็เตรียมง้างกันเต็มที่แล้ว ช้าก่อนสหาย วันนี้เราไม่ได้มาใส่ความเหล่าเกมเมอร์แต่อย่างใด แต่นี่คือข้อมูลล่าสุดจาก WHO หรือ องค์กรอนามัยโลก ที่ได้เพิ่ม อาการติดเกม เข้าในลิสต์อาการทางสุขภาพจิตร้ายแรงชนิดหนึ่งแล้ว
rabbit finance จะพาไปรู้จักอาการที่ว่านี้ให้มากขึ้น บอกเลยว่านี่ไม่ได้ปั่น แต่มาสำรวจกันดีกว่า ว่าคุณเข้าข่ายบ้างรึเปล่านะ ?
โรคติดเกมมากแค่ไหน ถึงเกินขอบเขตเกมเมอร์?
-
โรคติดเกม มีจริง หรือแค่จ้อจี้ ?
เราอาจจะเคยได้ยินประโยคขำๆ ว่า ‘ติดเกม’ มาไม่มากก็น้อย ถ้าให้แซวเล่นๆ ยังพอว่า แต่ถึงขนาดเป็นโรคจริงๆ เนี่ย มันจริงแท้มากน้อยแค่ไหน ?
บอกเลยว่าเรื่องนี่เราไม่ได้โม้ ใส่ไข่เองแต่อย่างใด แต่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศ และจัดให้ความผิดปกติจากการเล่นเกมหรือติดเกม (Gaming disorder) เป็นอาการทางสุขภาพจิต ที่ต้องได้รับการรักษา
โรคติดเกมนี้ ถูกเผยแพร่ผ่านคู่มือสำหรับการวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ (The International Classification of Diseases) ฉบับปรับปรุง 2018 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมานี่เอง
ประกาศออกข่าวกันใหญ่โตขนาดนี้ แน่นอนว่าอาการดั่งกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาแน่นอน เพราะผ่านการพิจารณามาแล้วว่า ระดับการติดนั่น จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต คล้ายกับอาการของผู้ที่ติดสารเสพติดและคนติดการพนัน
โดยคนที่เป็นโรคติดเกมจะมีลักษณะคือ ให้ความสำคัญหลักกับการเล่นเกมมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว สังคม และไม่สามารถควบคุมตนเองไม่ให้เล่นเกมได้ แม้จะมีผลด้านลบต่อสุขภาพก็ตาม
แน่นอนว่าอาการเหล่านี้ต้องเป็นติดต่อกันนานถึง 12 เดือน ขึ้นไป ถึงบอกได้ว่า คุณเป็นโรคติดเกมหรือเปล่า
-
ติดแค่ไหน ถึงเกินขอบเขตเกมเมอร์
หลายคนน่าจะสงสัยอยู่ดีว่า แบบไหนกันล่ะ ที่จะบอกว่าเราติดเกมเกินขอบเขตไปแล้ว ไม่ใช่อาการเห่อเล่นเกมแค่ครั้งคราว หรือเป็นแค่ เกมเมอร์หัวร้อน ไฟลุก ธรรมดาทั่วไป ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า โรคนี้ไม่ได้แพร่หลายนัก แม้กระทั่งเหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายก็ไม่ได้มีอาการดั่งกล่าวไปเสียทุกคน
โดยผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ใน The International Journal of Mental Health Addiction ที่เขียนโดย Daria Joanna Kuss และ Mark D.Griffiths ได้ระบุ ภาวะของผู้ติดเกมมาให้คุณได้เช็กสภาพเบื้องต้นกันคร่าวๆ ดังนี้
- ความนับถือตนเองต่ำ (low self-esteem)
- วุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำ (low emotional intelligence)
- หลีกเลี่ยงสังคมและมีความสันโดษ (avoidant and schizoid personality disorders)
- มีความประนีประนอมลดลง (agreeableness)
- หลงตัวเอง (narcissism)
- ประพฤติตัว ‘เลวร้าย’ ในสถานการณ์จริง และ ‘ยิ่งใหญ่’ ในสถานการณ์สมมุติ (ตัวอย่าง การเป็นนักเลงคีย์บอร์ด, หรือ การแสดงตัวก้าวร้าวในโลกออนไลน์) เป็นต้น
ฟังเผินๆ เหมือนจะเหมารวมหล่าเกมเมอร์หัวร้อนจากทั่วโลกไปแล้วว่าเป็นโรคที่ว่านี้กัน แต่หากนับรวมจากการตรวจสอบสภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แบบตรวจสอบสุขภาพจากสมาคมจิตเภท เช่น เกิดการวิตกกังวล หรือมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม และมีอาการ “ลงแดง” เข้าไปด้วย
พบว่ามีเพียง 2-3 % (จาก 19,000 คน) เท่านั้น ที่มีอาการเข้าข่ายชัดเจน (และมีพฤติกรรม จาก 5 ใน 9 ข้อ ข้างต้น)
นอกจากนี้ เราจยังพบผลสำรวจนักเล่นเกม 500 คน โดย ESET (บริษัทความปลอดภัยด้านไอที) พบว่ามีนักเล่นเกมเพียง 10% ที่ใช้เวลาวันละ 10 – 24 ชั่วโมง นั่งติดหน้าจอ หลังจากตรวจสอบก็ไม่พบผลเสียทางสุขภาพจิตที่ชัดเจน (แต่อาจจะมีผลเสียต่อทางร่างกาย เช่น การนั่งนานๆ เป็นออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น)
พูดมาถึงตรงนี้ เราก็สามารถสรุปกันได้คร่าวๆ แล้วว่า อาการติดเกม ถึงขั้นเป็นอาการทางจิต ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ กับทุกคนอย่างที่สื่อบ้านเราหลายๆ เจ้า หรือผู้ใหญ่หลายคนตื่นตระหนก จนต้องห้ามไม่ให้เล่นเกมกันขนาดนั้น
-
แล้วแบบนี้ นักแคสต์เกม เล่นเกมนานๆ จะนับไหม
ในยุคที่ยูปเบอร์ และเหล่านักแคสต์เกมเติบโตแบบนี้ หลายคนก็อาจจะข้องใจไม่มากก็น้อย แบบนี้เหล่านักแคสต์ในดวงใจของเรา จะพัฒนาเป็นโรคติดเกมเข้าสักวันไหมนะข้อนี้ก็อยากให้ทุกคนสบายใจได้ อย่างที่เราพูดๆ ไปแล้วข้างต้นว่า การที่จะติดเกม จนถึงระดับ โรคติดเกม ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ
ถึงแม้ปัญหาการติดเกมจะเป็นปัญหาของผู้ป่วยในระยะยาว และผู้เล่นเกมนานๆ มากๆ สุ่มเสี่ยงก็ตาม แต่ก็ได้ยืนยันว่า อาการติดเกม ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมทุกคนแน่นอน
ซึ่งประเด็นนี้ต้องแยกกันให้ชัดเจนระหว่าง ‘คนที่เล่นเกมเยอะ’ กับ ‘คนที่มีภาวะติดเกม’ และถ้าให้เรายกตัวอย่างง่ายๆ คือ คนที่ชอบดื่มเหล้า ดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็น ผู้ป่วยติดสุรา เป็นต้น สำหรับคนที่เล่นเกมบ่อยๆ นานๆ ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงให้เป็นโรคนคนี้ได้เช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบขนาดนั้นหรอก
ดังนั้น เหล่าเกมเมอร์ ที่เป็นแฟนคลับของนักแคสต์เกม ก็สามารถสบายใจได้เลยว่า การเป็นโรคติดเกม ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ เหมือนกับการไอจาม หรือการติดหวัด แน่นอน
สิ่งที่ควรคิดถึงคือ การติดแล้วส่งผลเสียต่อชีวิตประจำหรือเปล่า บางคนอาจจะไม่ได้มีอาการติดเกม แต่การที่เติมเงินในเกมจนเกินลิมิต จนถึงขั้นขโมยเงินพ่อแม่มา ต่อให้ไม่ใช่โรค ก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่น่ายกย่องอยู่ดี!
อีกหนึ่งเรื่องที่เหล่าเกมเมอร์ต้องระวังก็คือ พฤติกรรมหัวร้อน ในเกมออนไลน์ เพราะมันอาจส่งผลกระทบมากกว่าที่คิดก็เป็นได้นะ ฉะนั้นการเล่นเกมที่ดี ควรเล่นแต่พอดี เล่นให้คลายเครียด อย่าจริงจัง หรือหมกหมุ่นจนเกินพอดี ถึงจะดีที่สุด!
ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com