ในปัจจุบันนั้นการแข่งขันเรื่องงานค่อนข้างสูง และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับชีวิตของตัวเอง หลายๆ คน จึงเลือกที่จะไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ หรือค่าที่อยู่อาศัย รวมถึงค่าเงิน ค่อนข้างที่จะแตกต่างกับบ้านเราอยู่พอสมควรครับ วันนี้ MoneyGuru.co.th จึงมีคำแนะนำเกี่ยวกับ 6 เรื่องเกี่ยวกับเงินที่ควรทำเมื่อไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศมาฝากกัน เพื่อเป็นข้อมูลให้คนที่กำลังวางแผนจะไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศกันครับ ว่าแล้วก็มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

6 เรื่องเกี่ยวกับเงินที่ควรทำเมื่อไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ

1.แจ้งสถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตให้กับเรา

          เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกระงับบัตรเครดิต เนื่องจากทางสถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตให้กับเรานั้นได้ตรวจพบความผิดปกติในส่วนของการใช้บัตรเครดิตของเรานั้น ตัวอย่างเช่น ปกติแล้วเราจะรูดใช้จ่ายบัตรเฉพาะในประเทศ แต่อยู่ดีๆ มีการรูดใช้จ่ายในต่างประเทศขึ้นมา ทางสถาบันการเงินอาจจะมองได้ว่าบัตรของเรานั้นถูกขโมยข้อมูลไปใช้งาน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจึงทำการระงับบัตรเครดิตไว้ชั่วคราว เป็นต้น

          ดังนั้นก่อนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ เราควรที่จะแจ้งกับสถาบันการเงินรู้ว่าเราจะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศและอาจจะมีการรูดใช้จ่ายบัตรเครดิตในประเทศที่เราไป รวมถึงควรจะแจ้งล่วงหน้าก่อนออกเดินทางประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ จะเป็นการดีที่สุดครับ

2.เราควรใช้จ่ายบัตรเครดิตอย่างระมัดระวังในต่างประเทศ

          ถึงแม้ว่าการรูดใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศนั้นจะมีความปลอดภัยที่ดี รวมถึงมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกมากมายที่เราจะได้รับจากการรูดใช้จ่ายผ่านบัตร เช่น สะสมคะแนนบัตรเครดิต สะสมไมล์ เป็นต้น ก็ยังมีเรื่องที่เราควรระมัดระวังอยู่อีก ซึ่งเรื่องนั้นก็คือ เรื่องค่าดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการเงินในต่างประเทศ และการชำระเงินคืน นั่นเอง ที่เราควรจะวางแผนก่อนการใช้งานให้ดีเพื่อที่สิ่งเหล่านี้จะได้ไม่มากวนใจในระหว่างที่เรากำลังศึกษาต่อนั่นเอง

3.ใช้บัตรเอทีเอ็มอย่างรอบคอบและระมัดระวังเรื่องการแลกเปลี่ยนเงิน

          การใช้บัตรเอทีเอ็มนั้นนอกจากจะสะดวกสบายแล้ว หากเรานำบัตรเอทีเอ็มของเราไปใช้จ่าย ฝากหรือถอน ในต่างประเทศนั้น เราก็ควรที่จะคำนึงถึงการเก็บค่าธรรมเนียมการฝากหรือถอนที่จะเกิดขึ้นกับบัญชีธนาคารของเราด้วย หากเป็นไปได้ ให้ถอนเงินมาเท่าที่เราจำเป็นและเพียงพอกับการใช้ชีวิตในแต่ละเดือนจะดีกว่าการถอนทุกวันหรือทุกสัปดาห์ เพราะเราจะได้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมบ่อยๆ นั่นเอง รวมถึงก่อนที่จะออกเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศนั้น เราก็ควรแลกเงินไทยเป็นเงินต่างประเทศก่อนออกเดินทาง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับการเดินทางจากสนามบินไปยังที่พักของเรา

4.การโอนเงินระหว่างประเทศ ควรใช้แค่ในเรื่องฉุกเฉินเท่านั้น

          การโอนเงินระหว่างประเทศนั้นมีค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นเราจึงควรใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่บัตรเครดิตของเราถูกขโมย และไม่มีทางถอนเงินออกมาจากที่อื่นได้ เป็นต้น ส่วนวิธีการโอนเงินระหว่างประเทศนั้น ก็สามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น ผ่านบริษัท Western Union เป็นต้น โดยการติดต่อกับคนทางบ้าน ให้ทางบ้านโอนเงินมาให้เรา หลังจากนั้นไปยังบริษัทที่สามารถทำการโอนเงินระหว่างประเทศได้ และต้องกรอกแบบฟอร์ม หลังจากนั้นเราถึงจะได้รับเงินจากการโอนมาจากทางบ้าน

5.ท่องเที่ยวด้วยเงินสด

          เมื่อเราเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้น ก็ย่อมต้องมีการพักผ่อนด้วยการท่องเที่ยวในประเทศที่เราเดินทางไป ซึ่งการที่เราใช้เงินสดในการท่องเที่ยวนั้นถือเป็นเรื่องดีเลยทีเดียว เพราะบางทีสถานที่ที่เราไปนั้น ไม่สามารถใช้บัตรเครดิตได้ ตัวอย่างเช่น ค่าเดินทางด้วยรถไฟหรือรถไฟใต้ดิน เป็นต้น หรือบางทีเราอาจจะต้องการจ่ายเงินสดเพื่อการทำวีซ่า ดังนั้นเราจึงควรที่จะมีเงินสดติดตัวให้เพียงพอกับที่เราต้องใช้งาน รวมถึงอย่าลืมเก็บเงินไว้ในที่ปลอดภัยที่สุดด้วยนะครับ เพื่อป้องกันการโจรกรรมนั่นเอง

6.ประหยัดเงินเป็นเรื่องที่ดี

          การเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจำเป็นจะต้องเป็นหนี้! หากแต่เพียงเรานั้นรู้จักประหยัดเงินก่อนเราออกเดินทาง หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินโดยไม่จำเป็น ค่อยๆ เก็บออมเงินไปเรื่อยๆ เราก็จะสามารถไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศได้โดยที่เราไม่ต้องเป็นหนี้ครับ

          เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับคำแนะนำที่กล่าวมานั้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์และแนวทางให้ใครหลายๆ คนที่กำลังวางแผนเพื่อศึกษาต่อที่ต่างประเทศกันนะครับ อย่าลืมนะครับว่าการประหยัดและรู้จักอดออมนั้นจะช่วยเรามีเงินที่จะสานฝันของเราให้เป็นจริงได้ครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.moneyguru.co.th