คนทุกคนต่างก็สามารถเจ็บป่วยได้ บางคนอาจเป็นโรคที่ไม่หนักหนาอะไร และสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บางคนก็อาจเป็นโรคที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้นมาหน่อย จึงต้องคอยระวังในหลายเรื่องๆ เพื่อไม่ให้อาการของโรคที่เป็นอยู่กำเริบหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

เรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ และต้องคอยระวังอยู่เสมอก็คือ เรื่องของอาหารที่ห้ามกิน ซึ่งในวันนี้เราจะมาพูดถึงอาหารที่ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษนั้นควรหลีกเลี่ยง แต่ก่อนที่ทุกคนจะไปทราบกันว่าควรหรือไม่ควรกินอะไรบ้างนั้น rabbit finance ขอพาไปรู้จักสาเหตุและอาการเบื้องต้นของโรคนี้กันสักหน่อยดีกว่า

ไทรอยด์เป็นพิษ คืออะไร

เริ่มแรกเลยต้องขอเกริ่นก่อนว่าโรคเกี่ยวกับไทรอยด์นั้นมี 2 อย่าง คือ ไทรอยด์เป็นพิษ หรือ ไฮเปอร์ไทรอยด์(Hyperthyroidism) กับ ภาวะขาดไทรอยด์ หรือ ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้มีลักษณะของความผิดปกติที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงไทรอยด์เป็นพิษกัน

ไทรอยด์เป็นพิษ คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป อัตราการทำงานของระบบเมตาบอลิซึมจะเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะเผาผลาญพลังงานและสลายไขมันในร่างกายได้มาก ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานหนักขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำหนักลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ รวมถึงหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เหงื่อออกง่าย ขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย

ทำไมถึงเป็นล่ะ?

สาเหตุของโรคไทรอยด์เป็นพิษ เกิดขึ้นจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ จนทำให้ร่างกายมีปริมาณของฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินความต้องการ และมีสภาวะเป็นพิษ โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดไทรอยด์เป็นพิษมีดังนี้

- การกินอาหาร

กินอาหารที่มีไอโอดีนมากเกินไปจนทำให้ไทรอยด์เป็นพิษ เพราะว่าไอโอดีนนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์

- เป็นเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์

เนื้องอกบริเวณไทรอยด์และต่อมใต้สมอง อาจส่งผลให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้น จนกลายเป็นพิษได้ แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย เมื่อเทียบกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ  

- โรคคอพอกตาโปน หรือ โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease)

ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไทโรซีนออกมามากผิดปกติจนกลายเป็นพิษยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่ส่วนมากโรคเกรฟส์จะพบในหญิงวัยรุ่นและวัยกลางคน และสำหรับคนที่สูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ควรเลิกสูบอย่างถาวรไปเลย เพราะมันจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้หรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากยิ่งขึ้น

- ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)

การอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุของต่อมไทรอยด์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของมันได้ เพราะการอักเสบทำให้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้น ทำให้ฮอร์โมนรั่วไหลออกไปที่กระแสเลือด แต่การอักเสบส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกเจ็บปวด ยกเว้นอาการไทรอยด์อักเสบแบบกึ่งเฉียบพลันที่ทำให้รู้สึกเจ็บได้ แต่ว่าอาการดังกล่าวก็เกิดขึ้นได้น้อยเช่นกัน

ได้รับการเสริมฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป

ยาที่มีส่วนประกอบของไอโอดีนบางชนิด เช่น ยาอะไมโอดาโรน (Amiodarone) ที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้น ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดไทรอยด์เป็นพิษได้

เป็นแล้วมีอาการยังไง?

อาการไทรอยด์เป็นพิษนั้นค่อนข้างจะคล้ายกับอาการเจ็บป่วยโรคอื่นๆ และหากผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรกมาก อาจไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาเลย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาการมักไม่ค่อยแสดงออกอย่างชัดเจนเท่าไหร่ แต่ถึงอย่างนั้นอาการของต่อมไทยรอยด์เป็นพิษก็สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นกัน

โดยอาการที่พบได้มากที่สุดในคนที่ป่วยไทรอยด์เป็นพิษก็คือ อาการคอพอก ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกหรือเห็นก้อนขนาดใหญ่ที่บริเวณคอ บางครั้งแพทย์ก็อาจสามารถตรวจพบอาการคอพอกได้ก่อน

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ คลื่นไส้ อาเจียน หลับยาก ตาโปน เห็นภาพซ้อน ผมเปราะบาง ผมร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหงื่อออกมากกว่าปกติ มือสั่น น้ำหนังลงแต่อยากอาหารมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่า 100 ครั้ง/นาที (โดยเฉพาะคนสูงอายุ) ผู้ชายมีเต้านมใหญ่ขึ้น ผู้หญิงรอบเดือนผิดปกติ มีสีจาง และมาไม่สม่ำเสมอ

แบบนี้ ‘ไม่ควร’ กินอะไรบ้าง? 

- อาหารที่มีไอโอดีนและซีลีเนียมสูง

สำหรับคนที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษหรือไฮเปอร์ไทรอยด์ จะมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงอยู่แล้ว ตามที่บอกไปในตอนต้น ดังนั้นจึงควรงดอาหารไอโอดีสูงที่พบได้ในอาหารทะเลจำพวก ปลา หอยกาบ กุ้ง หอยนางรม รวมถึงไข่ กระเทียม เห็ด เมล็ดงา อีกทั้งยังมีอาหารที่มีซีลีเนียมสูง ซึ่งพบได้ในปลาทูน่า เห็ด เนื้อวัว เมล็ดทานตะวัน เครื่องในสัตว์ และถั่วเหลือง เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากยิ่งขึ้นไปอีก

- นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม

นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมจะส่งผลกระทบต่อต่อมไทรอยด์ เนื่องจากนมเต็มไปด้วยไอโอดีนและซีลีเนียม ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ และมันจะไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ให้มากขึ้น ดังนั้นจึงควรทานไม่ปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม

- แอลกอฮอล์และคาเฟอีน

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน อย่างพวก เหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ รวมถึง ชา กาแฟ และเครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ โดยปกติหากดื่มมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายอยู่แล้ว

แต่สำหรับผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษควรหลีกเลี่ยงหรือไม่แตะต้องเลยได้ยิ่งดี เพราะมันจะไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานไม่คงที่ และทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินความพอดีด้วย

- อาหารที่มีไขมันสูง

ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงอาหารที่มีไขมันทรานส์ ซึ่งพบได้ในมาการีนชนิดแท่ง เนยขาว คุกกี้ เค้ก แครกเกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ โดนัท ขนมอบ และเบเกอรี่ทั้งหลาย รวมถึงบรรดาอาหารประเภททอดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งพบได้ใน เนื้อวัวติดมัน เนื้อแกะ เนื้อหมู แฮม เบคอน เนื้อไก่ที่มีหนัง ไขมันวัว น้ำมันหมู ครีม เนย ชีส และผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ เพราะไขมันเหล่านี้จะทำให้ต่อมไทรอยด์มีอาการอักเสบมากขึ้น

ทางที่ดีควรเปลี่ยนไปทานไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพร่างกายแทน โดยไขมันชนิดนี้จะพบได้มากในปลาทะเล เช่น ปลาจะระเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากะพงขาว ปลาทู ปลาเก๋า เป็นต้น และปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาสวาย ปลาช่อน ปลานิล ปลากราย เป็นต้น 

- อาหารที่กินแล้วแพ้

หากผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษพบว่าทานอาหารชนิดใดแล้วมีอาการแพ้ ให้เลิกทานอาหารชนิดนั้นไปเลย เพราะจะทำให้อาการยิ่งทรุดหนักกว่าเดิม ซึ่งอาหารที่ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษส่วนใหญ่จะแพ้ได้แก่ ข้าวสาลี นม ไข่ ปลา ถั่ว หอย และสัตว์น้ำที่มีเปลือกหุ้ม รวมไปถึงปลาทะเลบางชนิด แนะนำว่าควรไปตรวจกับแพทย์เพื่อให้ทราบแน่ชัด จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานมากเกินปกติ

- อาหารที่มีวิตามินบีสูง

วิตามินบี 2 บี 3 บี 6 และบี 12 เป็นวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับระบบการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งวิตามินบีทั้ง 4 ชนิดนี้ มีหน้าที่สำคัญในการช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน T4 ที่เป็นหนึ่งในฮอร์โมนไทรอยด์ของร่างกาย โดยวิตามินบีเหล่านี้มักจะมีอยู่ในอาหารต่างๆ อย่าง ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ปลาทะเล ยีสต์ ธัญพืชชนิดต่างๆ ถั่วลันเตา นม เห็ด และเมล็ดอัลมอนด์ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษ ควรงดหรือลดอาหารเหล่านี้ให้น้อยลง เพื่อจะได้ไม่กระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากยิ่งขึ้น

- ผักตระกูลกะหล่ำ

ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษจะต้องทานผักตระกูลกะหล่ำให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว บรอกโคลี คะน้า หรือหัวไชเท้า เพราะพืชเหล่านี้มีสารที่จะไปขัดขวางการจับไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ จึงทำให้เมื่อร่างกายได้รับไอโอดีนมากเกินไป จึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาการคอพอกได้นั่นเอง 

ถึงจะไม่เป็นมิตรกับไทรอยด์เท่าไรนัก แต่ผักตระกูลกะหล่ำปลี ก็มีสรรพคุณด้านการยับยั้งมะเร็ง จึงมีความจำเป็นต้องทานผักชนิดนี้อยู่บ้าง โดยการทานให้ปลอดภัยจะต้องนำมาต้มให้สุกเสียก่อน เพื่อให้สารพิษต่างๆ หายไป ดังนั้นจึงห้ามทานแบบดิบๆ เด็ดขาด รวมถึงสาหร่าย หน่อไม้ และหน่อไม้ฝรั่งด้วย

- อาหารแปรรูปต่างๆ

ในอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง และอาหารกระป๋อง มักมีปริมาณโซเดียมสูง ซึ่งไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้นด้วย เนื่องจากได้รับโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไป

กินอะไร ‘ดี’ ล่ะทีนี้? 

- วิตามินดี

การได้รับวิตามินดีอย่างเหมาะสมในระหว่างการรักษาและหลังการรักษาสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียเนื้อกระดูก และช่วยเพิ่มเนื้อกระดูกขึ้นมาได้ ซึ่งวิตามินดีนอกจากจะได้รับจากแสงแดดในยามเช้าแล้ว ยังสามารถได้รับจากอาหารต่างๆ อย่างพวก นม ปลาทะเล เห็ด และไข่ ได้เช่นกัน 

แน่นอนว่ามันอาจดูเหมือนย้อนแย้งไปสักหน่อย เพราะอาหารทั้งหลายที่มีวิตามันดีสูงล้วนอยู่ในกลุ่มอาหารที่ผูัป่วยไทรอยด์เป็นพิษไม่ควรทานทั้งสิ้น แต่ว่าก็ควรทานบ้างในปริมาณที่เหมาะสม ให้พอดีต่อร่างกาย และเพื่อความแน่ใจ ทางที่ดีควรจะขอคำปรึกษาจากแพทย์เรื่องการทานอาหารเหล่านี้จะดีที่สุด

- ทองแดง

ผู้ป่วยทั้งไทรอยด์เป็นพิษและภาวะขาดไทรอยด์ หากขาดธาตุทองแดงจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและคอเลสเตอรอลสูง ดังนั้นร่างกายจึงควรได้รับทองแดงที่มีความจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์

ควรทานอาหารที่มีแร่ธาตุทองแดงในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งสารอาหารชนิดนี้มีอยู่มากใน เนื้อปู หอยนางรม กุ้งล็อบสเตอร์ ถั่วเปลือกแข็ง เนื้อวัว เมล็ดทานตะวัน ถั่วขาว ถั่วลูกไก่ ถั่วเหลือง เห็ดชิทาเกะ ข้าวบาร์เลย์ มะเขือเทศ และดาร์กช็อกโกแลต

- สังกะสี

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เพราะโรคไทรอยด์ทั้ง 2 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดไทรอยด์เป็นพิษ หรือ ภาวะขาดไทรอยด์ ต่างก็มีสาเหตุมาจากการขาดสังกะสีด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารที่มีสังกะสีให้มากขึ้น แต่ควรทานในปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกาย

ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณของสังกะสีที่สามารถทานได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับโรคไทรอยด์ชนิดที่เป็นอยู่ ส่วนอาหารที่มีสังกะสีก็ได้แก่ เนื้อวัว หอยนางรม ปลาซาร์ดีน ถั่วเหลือง วอลนัท เมล็ดทานตะวัน เมล็ดอัลมอนด์ ขิง ธัญพืชต่างๆ และเมเปิ้ลไซรัป เป็นต้น

- กลูเตน

ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษสามารถทานอาหารที่มีกลูเตนได้ เช่น ข้าวสาลี หรือข้าวบาเลย์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารประเภทนี้

เนื่องจากกลูเตนจะเข้าไปทำลายระบบการทำงานของลำไส้เล็ก ทำให้เกิดการขัดขวางการดูดซึมยารักษาต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป ดังนั้นหากรู้ว่าตนเองแพ้กลูเตนอยู่แล้วก็ไม่ควรทานอาหารที่มีกลูเตนอีก

- สารต้านอนุมูลอิสระ

สารต้านอนุมูลอิสระที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี มีหน้าที่ช่วยให้ต่อมไทรอยด์ต่อสู้กับภาวะการถูกทำลายด้วยสารอนุมูลอิสระ และป้องกันการเสื่อมสภาพก่อนวัยของต่อมไทรอยด์

อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงได้แก่ องุ่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืชชนิดต่างๆ และชาเขียว เป็นต้น

อาหารการกินที่ควรและไม่ควรสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และซับซ้อนมากพอสมควรเลยล่ะ เพราะอาหารบางชนิดก็ควบอยู่ในหมวดที่สามารถกินได้และกินไม่ได้พร้อมกัน ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้ปรับพฤติกรรมการกินของตัวเองให้ควบคู่กับการทานยารักษา ได้อย่างปลอดภัยและถูกวิธีนั่นเอง 

ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com