ฝันให้ไกลไปให้ถึง! วางแผนการเงินฉบับ เด็กจบใหม่ ให้ได้ตามเป้า
หลังจากใช้เวลาผจญภัยอยู่ในรั้วมหาลัยเสียนาน เหล่า เด็กจบใหม่ ทั้งหลาย ก็ได้เวลาออกผจญภัยสู่โลกกว้างของจริงกันแล้ว! แน่นอนว่าหลายคนอาจจะวางแผน วางแพลน ในการใช้เงินไว้เยอะแยะ แล้วแบบนี้ เด็กจบใหม่ จะใช้เงินทั้งหมดกันเท่าไหร่ จะวางแผนยังไง ถ้าอยากจะทำตามความฝัน
ของแบบนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ตาม rabbit finance มาวางแผน กับ ส่องเงินที่ต้องใช้ล่วงหน้าดีกว่า!
วางแผนการเงิน เพื่อทำตามความฝันเด็กจบใหม่
-
ต้องออกไปใช้ชีวิต แบบนี้ต้องเที่ยวยุโรป
เรียนกันมาทั้งชีวิต หลายคนอาจจะอยากไปเปิดหูดปิดตากันบ้าง บางคนอาจฝันถึงการไป work & Travel กันมาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกับ เด็กจบใหม่ ด้วยแล้ว นี่เป็นโอกาสที่ดีเลยล่ะ เพราะถ้าคุณเริ่มมีงานประจำเมื่อไหร่ การลางานเพื่อไปเที่ยวนานๆ ก็คงทำได้ยากแล้ว
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า การที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ หรือแค่ Work & Travel ก็ตาม ล้วนใช้เงินไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น ค่าตั๋วเครื่องบิน (แม้จะรอโปรโมชั่นต่างๆ แล้วก็ตาม) นอกจากนี้ ยังมีค่าที่พัก ค่าอาหาร และ ค่าประกันการเดินทาง ที่จะผกผันตาม ประเทศที่คุณเลือกไป รวมถึงหน่วยค่าเงินในตอนนั้น และระยะเวลาที่คุณต้องอยู่ด้วย
ตัวอย่างเช่น
เมื่อคุณวางแผนไปเที่ยวยุโรป เป็นเวลา 7 วัน คุณจะมีค่าใช้จ่ายแบบคร่าวๆ ดังนี้
- ค่าตั๋วเครื่องบิน 25,000-30,000 บาท
- ค่าวีซ่า ประมาณ 2,500 – 6,000 บาท
- ค่าที่พัก (ขั้นต่ำ) คืนละ 1,000 – 2,000 x 7 = 7,000 – 14,000 บาท
- ค่าตั๋วรถไฟ แล้วแต่เส้นทางและความถี่ในการเดินทาง ตีไว้ขั้นต่ำประมาณ 10,000 บาท
- ค่าอาหาร ตกวันละ 500 – 1,000 x 7 = 3,500 – 7,000 บาท
รวมค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ประมาณ 48,000 – 70,500 บาท (ไม่รวมช้อปปิ้ง หรือซื้อของอื่นๆ) ในระยะเวลา 7 วัน
ในกรณีที่ไป Work & Travel หลายคนอาจคิดว่า ไปแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเสียน้อยกว่าการไปยุโรปด้วยตัวเอง
แท้จริงแล้ว เรายังต้องเสียเงินค่าโครงการให้กับเอเจนซี ราวๆ 40,000 บาท นี่ยังไม่นับค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า และค่า pocket money ที่จะต้องพกไปอีกประมาณ $1,000 หรือ ประมาณ 30,000 บาท รวมๆ แล้ว อาจจะสูงถึงแสนเลยทีเดียว และต้องเผื่อใจเอาไว้ด้วยว่าการ ไปทำงานต่างประเทศ อาจได้เงินไม่คุ้มอย่างที่คิด
จะเห็นว่าการไปยุโรปนั้น ใช้เงินค่อนข้างมาก เพราะค่าเงินที่แตกต่างจากบ้านเรา ใครอยากจะเซฟงบลงมา อาจลองเปลี่ยนเป็นไปเที่ยวยาวๆ แถวโซนเอเชียก็น่าสนใจไม่น้อย หรือถ้าใครสนใจไปยุโรปจริงๆ การเริ่มเก็บออมเงินตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่เลวนะ!
-
บอกเลยว่าคนจริง! ขอ ป.โท เพิ่มแล้วกัน
บางคนอาจเลือกวิธีหาประสบการณ์เพิ่ม ด้วยการไปต่างประเทศ แต่บางคนไฟรักในการเรียนยังคงลุกโชน เลือกเรียนต่อ ป.โท ไปเลยก็แล้วกัน ขอบอกว่าเมื่อขึ้นถึงระดับ ป.โท ค่าใช้จ่ายจะสูงกกว่า ป.ตรี โดยเฉพาะใครที่ไม่เน้นสอบชิงทุนแล้วล่ะก็ อาจต้องเตรียมเรื่องค่าใช้จ่ายกันให้พร้อมเสียหน่อย
โดยปรกติ การเรียนต่อในระดับปริญญาที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย แต่รวมๆ แล้วค่าเทอมจะเริ่มต้นที่ 10,000 บาทขึ้นไป บางมหาวิทยาลัยถ้าเรียนในเวลาราชการก็จะมีอีกราคา ใครที่เรียนภาคพิเศษ ไม่ให้กระทบกับงานหลัก ก็จะมีอีกราคาเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของค่าลงทะเบียน ค่าใช้จ่ายด้านหนังสือต่างๆ เพิ่มเติมทำให้คุณต้องตระเตรียมเงินเป็นหลักแสนเลยเชียวล่ะ กว่าจะเรียนจบครบหลักสูตร ป.โท
บางคนที่อาจจะอยากไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ในส่วนนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากเรทค่าเงินต่างๆ และเผลอๆ คุณอาจจะต้องเตรียมเงินมากถึงในระดับหลักล้าน นี่ยังไม่รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าตั๋วเครื่องบิน กับค่าวีซ่าต่างๆ ด้วยนะ
เด็กจบใหม่ บางคนอาจกังวลว่าจะเก็บเงินไม่ทัน การรับงานฟรีแลนซ์ เป็นครั้งคราว หรือการทำงานควบคู่ไปกับการเรียนต่อ ก็เป็นอีกหนทางที่ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ เพียงแค่คุณต้องจัดสรรเวลาให้ดีๆ เท่านั้นเอง
-
อยากมีรถไว้รับส่งคนในครอบครัวสักคัน
รถไฟฟ้าก็เสีย! แท็กซี่ไม่ยอมไป! วินมอไซค์ก็แพ๊งแพง! เจอแบบนี้หลายคนคงอยากมองหารถยนต์สักคัน เพราะไม่เพียงแต่ใช้ขับในเมืองหลวงได้เท่านั้น จะไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือรับส่งคนที่รักก็สามารถทำได้สบายๆ แต่คุณรู้ไหมว่า การซื้อรถยนต์ นั้น จริงๆ แล้วมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่คุณคิด ไม่ว่าจะเป็น
1.ค่าเบี้ยประกันภัย เพราะส่วนใหญ่รถป้ายแดงทุกคันจะต้องทำ ประกันภัยชั้น 1 ตามข้อบังคับของบริษัทไฟแนนซ์ (เว้นแต่ซื้อเงินสดก็ขึ้นอยู่กับลูกค้า) ดังนั้น คุณจะต้องกำเงินราว 20,000 – 30,000 บาท สำหรับรถขนาด 1.5 ลิตร (ยิ่งรถราคาสูง เบี้ยประกันยิ่งแพง) เพื่อจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันในวันรับรถ
2.ค่าจดทะเบียน แต่ละรุ่นไม่เท่ากัน แต่ปกติศูนย์จะบวกค่าบริการเพิ่มไปนิดหน่อยให้กลายเป็นเลขกลมๆ เช่น 3,500 บาท หรือ 5,000 บาท เป็นต้น
3.ค่ามัดจำป้ายแดง ปกติแล้วศูนย์บริการจะคิดค่ามัดจำป้ายแดงราว 2,000 – 3,000 บาท และจะจ่ายคืนให้กับลูกค้าเมื่อนำรถกลับมาเปลี่ยนจาก ป้ายแดง เป็น ป้ายด
4.ค่าน้ำมัน ที่ใช้ในแต่ละเดือน
5.ค่าอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงค่าซ่อม หากใครสั่งอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมที่ไม่รวมอยู่ในของแถม ก็จำเป็นต้องนำมาจ่ายในวันรับรถ หรือบางคนเป็นมือใหม่หัดขับ มีชนเล็กชนน้อย ก็อาจจะเจอเรื่องค่าซ่อมกันได้
ราคาของรถยนต์นั้น ทุกวันนี้มีธนาคารหลายเจ้าที่เปิดให้คุณผ่อนได้ในราคาเบาๆ แต่ต้องระวังในเรื่องค่าใช้จ่ายจุกจิกไว้ให้ดี
เพราะนี่แหละที่จะคอยกวนใจ ทำให้การผ่อนรถของคุณไม่ค่อยราบรื่น การเก็บออมค่าจุกจิกเหล่านี้ไว้ก่อนเริ่มซื้อ ก็จะช่วยลดภาระลงไปได้
-
อยากมีบ้าน มีคอนโด เป็นของตัวเอง
เชื่อว่าหลายๆ คนต้องอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองแน่ๆ อย่างน้อยๆ เมื่อแต่งงาน ออกไปสร้างครอบครัวเอง จะได้ไม่ต้องรบกวนคนที่บ้านมาก หรือบางคนมองว่า การมีคอนโดเป็นของตัวเอง ใจกลางเมือง เพื่อไปทำงานสะดวกๆ ก็น่าสนใจไม่น้อย
และแน่นอนว่า การจะมีบ้าน มีคอนโด เป็นของตัวเองได้นั้น ต้องใช้เงินอย่างมาก จริงอยู่ที่เราสามารถยื่นเรื่องต่อธนาคารเพื่อขอกู้ ผ่อนชำระได้สบายๆ แต่ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้าที่เราจะขอกู้เงินนั้น การซื้อคอนโด ซื้อบ้าน ยังมีรายจ่ายอื่นๆ อีกมาก เช่น
1.ค่ามัดจำในการจอง ขึ้นอยู่กับบ้าน หรือคอนโดนั้นๆ แต่ส่วนมากจะอยู่ในหลัก 20,000 – 50,000 บาท
2.เงินทำสัญญา ปรกติจะเป็นเงินก้อนใหญ่ เริ่มต้นตั้งแต่ หลักหมื่น – หลักแสน
3.เงินดาวน์ ปัจจุบันเนื่องจากแบงก์ชาติกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดฯ ได้ในสัดส่วน LTV ไม่เกิน 90% ดังนั้น จึงต้องดาวน์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10% ของราคาซื้อขาย (รวมเงินจองและเงินทำสัญญา)
4.ค่าประเมินราคา จ่ายในวันที่ไปทำเรื่องยื่นกู้ เฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาท ต่อการประเมินหนึ่งครั้ง ยิ่งยื่นกู้หลายธนาคารก็ต้องจ่ายมาก
5.ค่าจดจำนอง จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ อัตราปกติคิด 1% ของมูลค่าที่จดจำนอง
6.ค่าธรรมเนียมการโอน จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์เช่นกัน อัตราปกติคิด 2% ของราคาประเมินกรมที่ดิน
7.เงินกองทุนส่วนกลาง โดยเงินกองทุนนี้มักถูกใช้จ่ายบำรุงรักษา หรือซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลาง
นอกจากนี้ ยังอาจจะมีค่าอื่นๆ เช่น ค่ามิตเตอร์น้ำไฟ, ค่าประกันอาคาร ค่าประกันบ้าน หรือค่าตกแต่งภายในต่างๆ เป็นต้น
เรียกได้ว่า กว่าจะมีบ้าน มีคอนโดได้สักหลัง หลายคนก็อาจะเก็บเงินกันแทบรากเลือด และต้องผ่อนกันลากยาวเป็น 10 ปี เลยก็ว่าได้
ถ้ามีวินัยดีๆ เก็บเงินสำรองไว้เผื่อค่าเหล่านี้ไว้แต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดไม่ใช่เรื่องลำบากอีกต่อไป
-
ชอบก็ให้พ่อมาขอ เก็บเงินแต่งงานก็มา!
มีหลายคู่ที่คบหาดูใจกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบหลายๆ คนก็อยากจะแต่งงาน สร้างเนื้อสร้างตัวไปด้วยกัน แต่คุณรู้หรือไม่ ในการแต่งงานแต่ละครั้ง ก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลย!
ในกรณีที่บางคนญาติเยอะ และผู้ใหญ่ค่อนข้างเคร่งในเรื่องการจัดงานแต่ง ยิ่งถ้าใครเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อแม่มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงๆ การจัดงานก็จะยิ่งมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
1.ค่าสถานที่ ค่าอาหารของแขก โดยจะขึ้นกับขนาดของแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งรวมๆ แล้ว จะขึ้นไปสูงถึงหลักหมื่นกลางๆ ไปจนถึง หลักแสนบาท
2.ค่าชุดแต่งงาน ค่าของชำร่วย เริ่มต้นกันที่หลักหมื่นต้นๆ ไปจนถึงหลักแสนบาทได้ ถ้าคุณสามารถลดต้นทุนได้ ด้วยการทำของชำร่วยเอง หรือมีแหล่งผลิตของชำร่วยถูกๆ รวมไปถึงการเลือกชุดแต่งงานที่มีค่าเช่าไม่สูงมากนัก บางคนอาจจะแต่งหน้า ทำผมเอง งบส่วนนี้ก็อาจจะไม่มีปัญหาเท่าไหร่
3.ค่าสินสอด นอกจากจะต้องตกลงเรื่องค่าสินสอดของฝ่ายสาวแล้ว ในส่วนนี้คุณควรตกลงกับญาติผู้ใหญ่ให้เรียบร้อย บางบ้านฝ่ายเจ้าสาวอาจจะไม่คืนเงินสินสอดให้กับฝ่ายเจ้าบ่าว หรือบางบ้านอาจจะคืนเงินสินสอดส่วนนี้กลับมาให้คุณได้ใช้จ่ายต่อ ต้องตกลงกันให้เคลียร์ เพื่อให้จัดการบริหารเงินได้ถูก และถ้าโชคดีบางบ้านอาจไม่สนใจสินสอดเลยด้วยซ้ำ
โดยรวมแล้ว เราอาจระบุเป็นหลักเงินชัดเจนไม่ได้เท่ากับรายจ่ายความฝันอื่นๆ ที่ผ่านมา
แต่ภาพรวมการแต่งงานต้องใช้เงินสูงมาก ยิ่งถ้าคุณจัดงานแต่งด้วยแล้วล่ะก็ อาจต้องเผื่อเงินไว้ถึงหลักล้าน
(ยกเว้นว่าบ้านไหนไม่ซีเรียสเรื่องการแต่งงาน ก็อาจจะจบแค่หลักหมื่นได้)
นอกจากเรื่องแต่งงานแล้ว การวางแผนอนาคต การมีลูก ก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องนึกไว้ล่วงหน้าเช่นกัน ทางที่ดี ถ้ามั่นใจว่าจะลงหลักปักทางกับคนที่ใช่ ลองพูดคุยกันเรื่องเงินเก็บร่วมกันในอนาคต ค่าใช้จ่ายการแต่งงานล่วงหน้าเสียแต่วันนี้ จะช่วยให้คุณไม่ต้องรีบร้อนเก็บเงิน หรือต้อง กู้เงินมาจัดงานแต่งงาน
เพราะทุกความฝันยังจำเป็นต้องมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง การเริ่มต้นเก็บออมเงินตั้งแต่วันนี้ หรือตั้งแต่ก่อนเรียนจบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
แต่นอกเหนือจากวิธีการออมเงินต่างๆ สิ่งที่ควรมีมากที่สุด เพื่อให้คุณเก็บเงินจนถึงเป้าหมายที่ตั้งฝันไว้ได้ คุณควรเน้นไปที่ความมีวินัยในการเก็บเงิน
และถ้าใครรู้ตัวดีว่าวินัยที่ว่ายังมีไม่มาก หรือใครที่อยากหาหนทางอื่นในการเก็บออมเงินเพิ่มเติม ก็ต้องนี่เลย ประกันเพื่อออมทรัพย์ จากทาง rabbit finance ที่รวบรวม และคัดสรรมาให้คุณได้เลือกใช้งานตามไลฟ์สไตล์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประกันออมทรัพย์ระยะสั้น เหมาะสำหรับคนที่อยากเก็บออมไว้ใช้งานในระยะเวลาสั้นๆ หรือ ประกันชีวิตออมทรัพย์ระยะยาว ที่ให้คุณได้เก็บเงินกันยาวๆ จนถึงวัยเกษียณ
ทุกความสำเร็จได้ไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญขึ้นไปอีกพอๆ กับวินัยการเก็บออมก็คือเรื่องของพลังกาย พลังใจ ถ้ามุ่งมั่นแล้ว ความฝันคุณจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป!
ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com