ก็มือมันลั่น! เก็บเงินเที่ยว ยังไง? ให้ได้ไป ใน 2 เดือน
หัวใจมันเรียกร้อง ร่างกายต้องการวันหยุดพักผ่อนเสียเหลือเกิน รู้ตัวอีกที มือก็ลั่นกดจองตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวหยุดยาวครั้งหน้าเสียแล้ว ทำยังไงดีล่ะ ในเมื่อเงินที่จะให้เที่ยวเอาเข้าจริงมันไม่พอเลยเนี่ยสิ!
เอ้า! อีหรอบนี้จะทำยังไงดีล่ะ? จะให้ยกเลิกก็กระไรอยู่ มามะเข้ามาใกล้ๆ rabbit finance จะบอกเทคนิคดีๆ ที่ช่วยปั่นเงินให้มีมากพอจะไปเที่ยวกัน!
เก็บเงินเที่ยว ยังไง ให้ได้ไป ใน 2 เดือน
กำหนดงบประมาณเที่ยว
แน่นอน ไปเที่ยวทั้งที ต่อให้คุณอยากไปแบบแบ็คแพ็ค หรือไปเที่ยวแบบไม่กำหนดแผนตายตัวก็เถอะ แต่การเที่ยวโดยที่ไม่วางแผนการเงิน ไม่กำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ จะทำให้งบการเที่ยวของคุณบานปลายเอาได้!
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับใครที่มือลั่นจองตั๋วเครื่องบิน แต่ดันลืมตัวไปว่าไม่มีเงินด้วยแล้ว การวางแผน กำหนดงบยิ่งต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะเราจะได้กำหนดขอบเขตได้อย่างถูกต้องว่า ต้องเก็บเงินเท่าไหร่ มีความเป็นไปได้ที่จะเก็บทันไหม ถ้าเก็บไม่ทัน สามารถเที่ยว หรือลดค่าใช้จ่ายตัวไหนลงได้บ้าง?
คุณจองตั๋วเที่ยวไปกลับกี่วัน ลองเฉลี่ยเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะใช้ในแต่ละวัน หรือจะเป็นภาพรวมของทริปการเที่ยวครั้งนั้นๆ ก็ได้ตามสะดวก เช่น
- เที่ยวต่างประเทศ (ทริปยาว) งบ 20,000 – 30,000 บาท/ทริป
- เที่ยวต่างประเทศ (ทริปสั้น) งบ 10,000 บาท/ทริป
- เที่ยวไทย ตกทริปเที่ยวละ งบ 5,000 บาท/ทริป
โดยให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าอาหาร ค่าเดินทางระหว่างวัน ไม่นับรวมค่าโรงแรม ค่าตั๋วเครื่องบินต่างๆ ซึ่งเราสามารถใช้บัตรเครดิตรูดผ่อน ค่าใช้จ่ายนั้นๆ ก่อนได้ จะได้ไม่ต้องหักโหมในการเก็บเงินมากจนเกินพอดี
นอกจากนี้ ทริปไหน อะไรที่ประหยัดได้ก็ควรทำ แหม เรารู้ว่านานๆ ทีคุณจะได้เที่ยว แต่ถ้าเที่ยวแล้วต้องลำบาก ยืมคนนู้นที คนนี้ที คงจะไม่ดีเท่าไหร่หรอกเนอะ
สูตรเร่งรัดเงิน ด้วยงานนอกและการลงทุน
หากใครที่มีเงินเก็บมากเพียงพออยู่แล้ว อาจจะไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่สำหรับใครที่อยากจะใจแข็ง ไม่อยากเอาเงินที่เก็บออมไว้เพื่ออนาคตมาใช้จ่ายความสบายตอนนี้ หรือใครที่เงินที่แบ่งปันไว้ส่วนเที่ยวดันเกลี้ยงกระปุกเสียก่อน
แบบนี้เราลองมามองหาหนทางเพิ่มเงินในกระเป๋ากันหน่อยดีกว่า
สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย อาจจะมีแผนการเงินที่แน่นอนเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าให้นับคำนวณยังไง๊ยังไง การเก็บแบบปรกติก็อาจจะไม่ทันการณ์เอาได้ เราขอแนะนำให้ลองมองหางานนอก อย่างพวกงานฟรีแลนซ์หรืองานรับจ๊อบต่างๆ เพิ่มเติมงบในการเที่ยวของคุณได้
หรือใครจะใช้วิธี ขุดของเก่า เสื้อผ้ามือสอง รองเท้า กระเป๋า ที่ไม่ใช้แล้วไปเปิดท้ายขายของ เพื่อนำเงินเหล่านั้นกลับมาสมทบทุนเที่ยวก็ไม่เลวเหมือนกันนะ
นอกจากนี้ ใครที่เคยลงทุนไว้ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนต่างๆ, การลงทุนกับหุ้น หรือกระทั่งการฝากเงิน เพื่อรอดอกเบี้ย ก็ลองเช็กกันหน่อยว่าได้ผลตอบแทนงอกเงยดีมากแค่ไหน
ใครจะไปรู้ล่ะ เผลอๆ เงินที่เคยลงทุนไปพวกนั้น อาจจะกลายเป็นเงินให้คุณได้ใช้ในวันหยุดพักผ่อนแบบนี้ก็ได้
อดใจไว้ก่อน ลาก่อนชานมไข่มุกที่รัก
ไม่ใช่แค่การเก็บเงิน หรือทำงานนอกแต่เพียงอย่างเดียว อะไรที่เป็นแนวโน้มฟุ่มเฟือยในแต่ละเดือน คุณอาจจะต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน อดทนไม่ทานของรักของหวงยอดดวงใจอย่าง บิงซู หรือชานมไข่มุก แก้วโปรดกันเสียหน่อย
ลองคิดดูสิ สมมุติว่าคุณดื่มกาแฟ หรือชานมไข่มุกทุกวัน วันละ 30 บาท / แก้ว เป็นระยะเวลา 20 วัน จะเท่ากับเงิน 30 บาท x 20 บาท = 600 บาท
ถ้าเลิกทานเป็นระยะเวลา 2 เดือน จะเท่ากับ 600 บาท x 2 เดือน = 1,200 บาท เลยทีเดียว
ยิ่งถ้าลดสารพัดของทานจุกจิกให้มากกว่าปรกติ หรือใครจะเลือกห่อข้าวมาทานแทน ก็ช่วยให้คุณเก็บเงินเพิ่มขึ้นได้เหมือนกันนะ เงินที่เก็บได้จากตรงนี้ น่าจะช่วยให้คุณได้เที่ยว ช้อป ชิม ชิล ได้เพลินขึ้นแล้วล่ะ!
สูตรเร่งด่วน! รูดมันเสียเลย
เก็บเงินก็แล้ว งดของกินจุกจิกก็แล้ว เงินเก็บก็แล้ว แต่ยังไงก็แอบไม่พออยู่ดี! แบบนี้อาจจะต้องใช้สูตรโกงเร่งรัดกันเสียหน่อย ด้วยการรูดบัตรเครดิตนั่นเอง!
อ๊ะๆ เราไม่ได้หมายความว่า ให้คุณรูดมันหมดทุกอย่างหรอกนะ อะไรที่ต้องใช้เงินก้อนโตหน่อย ก็อาจจะใช้บัตรรูดแทน เพื่อผ่อนไปจ่ายในเดือนถัดๆ ไปก็ได้ เช่น ค่าที่พักโรงแรม ค่าร้านอาหารบางที่ หรือค่าช้อปปิ้ง (ในกรณีที่ใครได้ไปเที่ยวต่างประเทศ)
เราอนุโลมให้คุณรูดบัตรได้ แต่ต้องไม่ลืมว่างบประมาณในการรูด ควรอยู่ในขอบเขตแผนการเที่ยว การใช้เงิน ห้ามรูดเกินจากที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกเด็ดขาด!
นอกจากนี้ การใช้บัตรเครดิตในระหว่างการเที่ยว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการโดนฉกชิงวิ่งราว หรือเงินสดสูญหาย อดเที่ยว หมดสนุก ได้อีกด้วยนะ!
ทริคเก็บเงินเที่ยวส่งท้าย
ใครได้ลองเก็บเงินไปเที่ยวแบบไฟลนก้นแล้ว รู้สึกว่าอึดอัดเสียเหลือเกิน จะเที่ยวก็เที่ยวได้ไม่สุด แถมยังต้องมาประหยัดแบบเร่งด่วนอีก
ลองเปลี่ยนนิสัยกันเสียใหม่ดีกว่า ถ้าใครรู้ตัวว่าชอบเที่ยว หรือมีแพลนจะเที่ยวในระยะยาวๆ การเริ่มต้นเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ รับรองไม่ใช่แค่เงินเก็บในอนาคตที่มีมากพอให้คุณใช้ตอนเกษียณ แต่เวลาไปเที่ยวไหน ก็สามารถเที่ยวได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกลัวว่างบจะจำกัดมากจนหมดสนุกด้วย
ยกตัวอย่าง
หากคุณเลือกที่จะเก็บเงินเพื่อตัวเอง เป็นเงินที่ใช้หลังเกษียณอยู่แล้ว เดือนละ 5,000 บาท ลองเลือกฝากบัญชีดอกเบี้ยสูงๆ (2.5% ต่อปี)
เงินฝาก = 5,000 บาท x 12 เดือน = 60,000 บาท ต่อปี
และจะได้ดอกเบี้ยที่ 936 บาท ต่อปี
คุณสามารถนำเงิน 936 บาท นี่ เก็บสะสมไว้เพื่อไปเที่ยว หรือนำไปเสริมงบในการเที่ยวได้อีก หรือถ้าใครชอบเที่ยวเป็นพิเศษ คุณอาจจะฝากเงินเพื่อการเที่ยวสะสมไปพร้อมกับเงินอนาคตเลยก็ได้ เพื่อเพิ่มยอดดอกเบี้ยให้มากขึ้น เช่น
เงินฝาก = (เงินเพื่ออนาคต 5,000 บาท + เงินเผื่อเที่ยว 3,000 บาท) x 12 เดือน = 96,000 บาท ต่อ ปี
และจะได้ดอกเบี้ยที่ 1,497 บาท ต่อปี
แสดงว่า คุณจะมีเงินเที่ยวฟรีปีละ 1,497บาท เพิ่มเงินอีกเล็กน้อยก็สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวประเทศใกล้เคียงอย่าง ไต้หวัน ฮ่องกง หรือเอาไว้เป็นค่าโรงแรม ค่าเดินทางเพิ่มเติมก็ได้ และถ้าใครจะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อยอด ก็ช่วยเพิ่มเงินให้กับตัวเองในอนาคตได้เช่นกัน!
สำหรับใครที่อาจจะงงๆ ว่าคิดคำนวณยังไง ก็สามารถใช้บริการคิดดอกเบี้ยที่ต้องการจะฝากได้จากหน้าเว็บไซต์ธนาคารทั่วไป หรือจะ คลิกที่นี่ เพื่อช่วยคำนวณก็ได้นะ
เก็บเงินเที่ยวไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าคุณรู้จักเก็บสะสมเงินตั้งแต่วันนี้ จะได้ไม่ต้องมา ลำบากเก็บเงินแบบเร่งรัดกันทีหลัง แต่ถ้าใครมือลั่นไปแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวไป เพราะ rabbit finance เชื่อว่า ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้!
หากฉุกเฉินจริงๆ บัตรเครดิตดีๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ ก็อาจจะกลายเป็นผู้ช่วยคนใหม่ ที่สร้างความทรงจำดีๆ ให้กับการท่องเที่ยวครั้งนี้ก็ได้นะ!
อ๊ะๆ แต่อย่าลืมที่ตกลงกันไว้ล่ะ ห้ามใช้จ่ายเกินงบ เน้นเที่ยวแบบมีความสุข ไม่พอกหนี้ ถึงจะดีที่สุดนะ!
ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com