สำหรับเมืองไข่มุกอันดามันอย่าง ภูเก็ต ยังคงเป็นเมืองที่ดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนตลอดมา โดยมีปัจจัยด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สูงขึ้นทุกปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อศักยภาพในการลงทุน โดยหากลองเปรียบเทียบ เมืองภูเก็ต กับเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆแล้ว TerraBKK ก็ยังคงมองว่า เมืองภูเก็ต มีศักยภาพสูง มีการพัฒนาที่ครบครันทุกมิติที่เมืองใหญ่ควรจะมี และมีความแตกต่างอย่างที่หัวเมืองอื่นๆของไทย ไม่มี

สำหรับศักยภาพที่กล่าวมาจะมีอะไรบ้างนั้น TerraBKK จะขอไล่เรียงตามปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้

ย้อนดู Timeline 5 ปี การพัฒนาบนภูเก็ต Destination ของนักลงทุน

                  ปัจจัยสำคัญข้อแรกที่เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ภูเก็ต คือเมืองที่พร้อมสำหรับการลงทุน สามารถวัดได้จากมูลค่าการพัฒนาโครงการต่างๆทั้งจากทางภาครัฐและภาคเอกชน โดยเมื่อ TerraBKK ย้อนดูการพัฒนาของภูเก็ตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556-2561 พบว่ามีงบประมาณการลงทุนรวม 5 ปี ถึงประมาณ 63,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาด้านระบบคมนาคม เช่น การปรับปรุงขยายถนน, ทางลอด, ทางแยก และ การขยายสนามบิน เพื่อขยายศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยว และการพัฒนาศูนย์การค้าขนาดใหญ่จากภาคเอกชน

Phuket

                  ความน่าสนใจของการพัฒนาโครงการต่างๆของทางภาครัฐและเอกชนใน 5 ปีที่ผ่านมา คือการทำให้ภูเก็ตเป็น World Class Tourism Destination ที่สมบูรณ์แบบ โดยไม่เพียงแค่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน อาทิ ถนน ท่าเรือ โรงพยาบาล หรือโรงเรียนนานาชาติ เท่านั้น แต่สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต ยังมีระดับเทียบเท่ากับกรุงเทพมหานครอีกด้วย อาทิ การพัฒนาของ Central Phuket ในพื้นที่รวมกว่า 111 ไร่ มูลค่าการลงทุน 20,000 ล้านบาท โดยหลังจาก Central Festival Phuket และ Central Festival Phuket East ได้เปิดใ้ห้บริการไปแล้ว ล่าสุด CPN ก็ได้พัฒนา Central Floresta ซึ่งเป็นอาคารสุดท้ายตามแผนเดิม โดยมีบทบาทเทียบเท่ากับ Central Embassy ที่เป็นโครงการระดับ Flagship ของเซ็นทรัล โดยเน้นรองรับลูกค้าระดับ Hi-end โดยเฉพาะ รวมไปถึงการเกิดขึ้นของ IKEA Pickup & Ordering Point (ศูนย์บริการสั่งซื้อและรับสินค้าอิเกีย) ที่เลือกภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งเดียว ในการเปิดศูนย์บริการ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของกลุ่มทุนใหญ่ที่มีแต่จังหวัดภูเก็ต ว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง

                  นอกจากนั้น ยังมีแผนดำเนินการพัฒนาโครงการต่างๆใน ภูเก็ต อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 โดยสำหรับภาครัฐ ยังคงเป็นการพัฒนาโครงการที่เน้นการขยายศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ได้แก่ การพัฒนาทางลอด, อุโมงค์ทางด่วน, จุดกลับรถต่างระดับ, การขยายสนามบินภูเก็ต และสนามบินพังงา โดยมีมูลค่างบประมาณการลงทุนกว่า 97,600 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นผลให้ภูเก็ตสามารถรองรับ traffic ของนักท่องเที่ยวสูงสุดถึง 10-16.5 ล้านคนต่อปี

                  จะเห็นได้ว่า การพัฒนาที่เกิดขึ้นในภูเก็ตนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการพัฒนาที่เป็นการรองรับการขยายตัวของเมืองและการท่องเที่ยวทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดอย่างดีว่าภูเก็ตนั้นมีความพร้อมสำหรับการเป็น World Class Tourism Destination และยังคงพัฒนารุดหน้าต่อไปไม่หยุดนิ่ง

ก้าวต่อจาก World Class Tourism Destination สู่ Smart City

                  นอกเหนือจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว ภูเก็ตยังคงก้าวต่อไปอีกขั้นจากแผนการพัฒนาระดับประเทศ ซึ่ง TerraBKK ของเรียกอย่างรวมๆว่าเป็น แผนพัฒนาเมืองภูเก็ต โดยเป็นการพัฒนาแบบ move forward มากกว่าการพัฒนาเมือง แต่เป็นการก้าวสู่ Smart City (เมืองอัจฉริยะ) ที่จะมีความพร้อมทุกมิติ ทั้งในด้านเทคโนโลยี, ความปลอดภัย, ระบบขนส่งมวลชน, สิ่งแวดล้อม, การประหยัดพลังงาน และการพัฒนาผังเมือง โดยจะขอหยิบยกไฮไลท์สำคัญของการพัฒนา 2 ด้าน ได้แก่ โครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้และภูเก็ตพัฒนาเมือง และครงการรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต เพื่อให้ผู้อ่าน TerraBKK เข้าใจว่า ทำไมภูเก็ตถึงเป็นมากกว่าเมืองท่องเที่ยว? และ มีอะไรที่จังหวัดหัวเมืองอื่นๆของไทยไม่มี?

โครงการรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต (LRT)

                  สำหรับโครงการ รถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต (LRT) เป็นอีกหนึ่งการพัฒนาที่จะทำให้ภูเก็ตก้าวสู่ Smart & Livable City อย่างเต็มตัว โดยรูปแบบเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นสถานีที่บริเวณรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา และ สิ้นสุดสถานีที่บริเวณทางเหนือของห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต มีจำนวนสถานีทั้งหมด 24 สถานี ระยะทางประมาณ 58.5 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการประมาณ 39,406 ล้านบาท ลักษณะการลงทุนจะเป็นการร่วมทุนแบบ PPP

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2561 โดยผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทษไทย (รฟม.) เผยว่าจะสามารถนำเสนอสู่ ครม. ได้ภายในปีนี้ และหากได้รับอนุมัติ จะสามารถเปิดประมูลได้ในปี 2562 ซึ่งจะทำให้ จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า

ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้ (Phuket Smart City)

                  โครงการ ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้ (Phuket Smart City) เป็นโครงการที่เกิดจากการสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SiPA) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยมีแนวคิดการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็น Smart City ด้วยกัน 7 ด้าน ได้แก่ Smart Economy, Smart Tourism, Smart Health, Smart Safety, Smart Environment, Smart Education และ Smart Governance หลักการของการพัฒนา Phuket Smart City คือการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือ Internet of Things (IoT) ในการจัดการพัฒนาเมืองทุกด้าน บนพื้นฐานของการจัดทำ City data platform โดยมีพื้นที่นำร่องคือ ขตเทศบาลเมืองป่าตอง และ เขตเทศบาลเมืองภูเก็ต โดยมีเป้าหมายที่วางไว้คือปี 2020 โดยมีบริษัทเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายไปพร้อมๆกันภาครัฐ นั่นคือ บริษัท ภูเก็ต พัฒนาเมือง (Phuket City Development : PKCD)

โครงการจากบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง (Phuket City Development : PKCD)

                  บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด คือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ซึ่งมีเป้าหมายในการดำเนินการที่สำคัญคือ การวางแผนพัฒนาเมืองภูเก็ต ในรูปแบบของ Social Enterprise โดยแบ่งเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการวางผังเมืองและพัฒนาเมืองภูเก็ตสู่ Smart Growth, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งแวดล้อม, การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเมืองภูเก็ต และ การพัฒนาภูเก็ตสู่ Smart City โดยเป้าหมายการดำเนินการของ ภูเก็ตพัฒนาเมือง จะเป็นการหยอกล้อไปในทิศทางเดียวกันกับภาครัฐ โดยโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการและน่าสนใจ คือ Phuket Smart Bus รถขนส่งสาธารณะ เส้นทางสนามบินภูเก็ต-หาดราไวย์ โดยเป็นรถบัสที่ช้บัตร Rabbit LINE Pay มีห้อง Control Room ในรถโดยสาร พร้อมด้วยระบบ GPS / wifi / USB และลิฟท์บริการสำหรับผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบเวลาการเข้าจุดรับส่งของแต่ละสถานีผ่านแอผพลิเคชั่นได้อีกด้วย

                  สำหรับแผนดำเนินการที่ TerraBKK มองว่าน่าสนใจที่สุดและจะส่งผลให้ภูเก็ตมีการพัฒนาต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรม คือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง (TOD) โดยครอบคลุมตั้งแต่บริเวณ แยกสามกอง-แยกดาราสมทุร-แยกเจ้าฟ้า ซึ่งเป็นทำเลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหนาแน่น นับเป็นทำเล CBD ของเมืองภูเก็ต โดยมีพื้นที่ศูนย์กลางการพัฒนาคือบริเวณแยกดาราสมุทร และจะมีการพัฒนา Walkaway Linkage เชื่อมทำเลทั้งหมด เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่หนาแน่นในพื้นที่ CBD และสถานีรถไฟฟ้า

เจาะทำเล CBD ของภูเก็ต กับการพัฒนาพื้นที่ใหม่ ที่ทำให้ภูเก็ตก้าวสู่เมืองต้นแบบของประเทศ

                  จะเห็นได้ว่า จังหวัดภูเก็ต แม้เป็นจังหวัดเล็กๆที่มีขนาดพื้นที่เพียงแค่ 543 ตร.กม. แต่มีโครงการพัฒนาระดับเมกะโปรเจ็กต์เกิดขึ้นมากมายในระยะเวลาไม่กี่ปี ซึ่งเมื่อมองภาพรวมของโครงการต่างๆเหล่านี้แล้ว TerraBKK Research มองเห็นว่า ทำเลที่น่าสนใจและน่าจะเติบโตอย่างเห็นได้ชัดที่สุดของภูเก็ตอยู่ที่บริเวณแยกดาราสมุทร ทำไม TerraBKK Research ถึงคิดอย่างนั้น ลองไปดูกัน

ในอนาคต แยกดาราสมุทร จะเป็นจุดศูนย์กลางของ TOD

                  อย่างที่ TerraBKK Research ได้กล่าวไปแล้วในช่วงของ โครงการจาก บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ว่าบริเวณตั้งแต่ แยกสามกอง-แยกดาราสมุทร-แยกเจ้าฟ้ จะเป็นทำเลแห่งแรกที่ถูกเลือกใน การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) โดยเฉพาะบริเวณแยกดาราสมุทร ที่มีการเกาะกลุ่มของโครงการใหญ่อย่าง Central Festival Phuket, Central East และกำลังจะมี Central Floresta (ซึ่งถูกวางให้เทียบเท่ากับ Central Embassy) อีกทั้งการเป็นจุดเชื่อมระหว่าง เมืองเก่า และ หาดป่าตอง ทำให้บริเวณแยกดาราสมุทร ได้ถูกวางให้เป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนา TOD

โดย บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ได้ร่วมมือกับ HUBBA Co-Working Space สร้าง Co-office ที่ทันสมัยที่สุดในภูเก็ต พื้นที่ประมาณ 2,200 ตร.ม. และพัฒนา Walkaway Linkage เชื่อมพื้นที่พัฒนา TOD ทั้งหมด ตั้งแต่บริเวณแยกสามกอง-แยกดาราสมุทร-แยกเจ้าฟ้า ทำให้แยกดาราสมุทรมีความครบครันทั้งด้านแหล่งงาน สิ่งอำนวยความสะดวก และขนส่งมวลชน และกลายเป็น CBD ของภูเก็ตอย่างสมบูรณ์

แยกดาราสมุทร คือจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองเก่าและหาดป่าตอง

                  ศักยภาพทำเลของแยกดาราสมุทร คือการเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางเมืองเก่าและหาดป่าตอง ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตทุกคนต้องมา โดยเดินทางผ่านถนนวิชิตสงคราม ทำให้ทำเลแยกดาราสมุทร กลายเป็นทำเลที่ดีที่สุดในการเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อสถานที่สำคัญในภูเก็ต

จาก แยกดาราสมุทร จะสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกครบทุกมิติ

                  ด้วยศักยภาพด้านเส้นทางคมนาคมที่บริเวณแยกดาราสมุทร ที่เป็นจุดตัดของถนนสำคัญในภูเก็ตอย่าง ถนนวิชิตสงคราม และ ถนนเจ้าฟ้า ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังทำเลสำคัญอื่นๆในภูเก็ตได้ทั้งสิ้น

โดยจากแยกดาราสมุทร ด้านเหนือสามารถเชื่อมกับถนนเยาวราชที่แยกสามกอง เป็นที่ตั้งของ Tesco Lotus Extra, Blu Pearl, โรงเรียนนานาชาติ QSI, โรงเรียนนานาชาติขจรเกียรติ, โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และในอนาคตจะมีสวนน้ำ Vana Nava อีกด้วย ด้านทิศใต้เชื่อมกับถนนเจ้าฟ้าสวนหลวงบริเวณแยกเจ้าฟ้า เป็นที่ตั้งของ King Power และโรงพยาบาลดีบุก สำหรับด้านทิศตะวันออกเชื่อมกับย่านเมืองเก่าชิโนโปรตุกิส และเชื่อมกับหาดป่าตองในด้านทิศตะวันตก

การเป็นจุดศูนย์กลางอย่างนี้ ทำให้จากแยกดาราสมุทร สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์การค้า, แหล่งท่องเที่ยว, โรงเรียน และโรงพยาบาล อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงรถสาธารณะในภูเก็ตอย่าง แอร์พอร์ตบัส (สนามบินภูเก็ต-บขส.เก่า) ได้โดยตรงที่บริเวณเซ็นทรัลภูเก็ตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม TerraBKK Research มีความเชื่อมั่นว่า เมื่อแผนการดำเนินการโครงการต่างๆ ในภูเก็ตแล้วเสร็จ จะไม่ใช่เพียงแค่อำเภอเมืองภูเก็ตเท่านั้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ยังครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย ประกอบกับความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ต TerraBKK Research มองเห็น การเติบโตของตัวเลขสถิติสะท้อน ดีมานด์หลากหลายด้านของ “ภูเก็ต” ดังนี้

ภูเก็ต รองรับชาวต่างชาติ ทั้งด้านท่องเที่ยว และด้านทำงาน

จำนวนเที่ยวบินของปี 2560 ท่าอากาศไทย มีทั้งหมด 823,574 เที่ยวบิน สัดส่วน 12.73% เป็นของ “ท่าอากาศยานภูเก็ต” เรียกว่าสูงเป็นอันดับ 1 ระดับภูมิภาค และเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ท่าอากาศยานดอนเมือง และในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา (ม.ค. 60- มิ.ย.61) ท่าอากาศยานภูเก็ต รองรับผู้เดินทางเข้าออกราชอาณาจักรกว่า 776,000-995,000 คนต่อเดือน เรียกได้ว่า ทุกวันจะมีผู้เดินทางเข้าออกท่าอากาศยานภูเก็ตราว 25,000-32,000 คนต่อวัน เลยทีเดียว

ในแต่ละปี “ภูเก็ต” รองรับนักท่องเที่ยวหลั่งไหลกว่า 12 ล้านคน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจกว่า 3.77แสนล้านบาทต่อปี นักท่องเที่ยวกว่า 70% เป็นชาวต่างชาติ มักใช้จ่ายเฉลี่ย 6,400- 7,200 บาทต่อคนต่อวัน และใช้เวลาพักผ่อนในภูเก็ตเฉลี่ย 4-5 วัน ทำให้ “ภูเก็ต” มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy Rate) เฉลี่ย 70% มาโดยตลอด

ชาวต่างชาติที่นิยมเข้ามาท่องเที่ยว “ภูเก็ต” สูงสุด ต้องยกให้ “ชาวจีน” เป็นเพียงชาติเดียวที่มีจำนวนแตะหลักล้านคนต่อปี (2.54 ล้านคน) รองลงมาเป็น ชาวรัสเซีย (8.07 แสนคน) และชาวออสเตรเลีย (5.35 แสนคน) นอกจากนี้ ยังมีชาวเยอรมนี, ชาวอังกฤษ, ชาวเกาหลี, ชาวมาเลเซีย และชาวญี่ปุ่นที่มาแรง ผลักนิวซีแลนด์ตกอันดับ Top 10 ไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

จากการเปิดเผยข้อมูลของสื่อจีนด้านอสังหาริมทรัพย์ Juwai.com พบว่า ชาวจีนยังมอง ภูเก็ต เป็นเป้าหมายลงทุนอสังหาริมทรัพย์อันดับ 2 ของอาเซียน โดยให้เหตุผลด้านทำเลที่ตั้งประเทศไทยอยู่ไม่ไกลจากประเทศจีน ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 6 ชั่วโมง เสมือนเป็นบ้านพักตากอากาศในช่วงวันหยุด แหล่งท่องเที่ยวพร้อมรอบด้าน ค่าครองชีพถูกและความเป็นมิตรของคนไทย รวมทั้ง ความเป็นเลิศด้านทางการแพทย์ของประเทศไทย อีกด้วย

นอกจากตัวเลขนักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีชาวต่างชาติไม่น้อยเดินทางเข้ามาทำงานใน “ภูเก็ต” จากตัวเลขสถิติชาวต่างชาติเข้าเมืองถูกกฎหมาย ตามมาตรา 9 ประเภททั่วไป และมาตรา 12 ประเภทส่งเสริมการลงทุน พบว่า ชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในภูเก็ต ปี 2017 มีจำนวน 8,372 คน เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.7%ในแต่ละปี ลักษณะอาชีพที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรกในประเทศไทย กรณีมาตรา 9 ประเภททั่วไป จะเป็น ผู้จัดการฝ่าย, ผู้ประกอบอาชีพด้านการสอน และ กรรมการผู้จัดการผู้บริหารระดับสูง   และสำหรับมาตรา 12 ประเภทส่งเสริมการลงทุน จะเป็นตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่าย, ช่างเทคนิคด้านต่าง ๆ และสถาปนิก/วิศวกร ตัวเลขกลุ่มคนเหล่านี้เอง ย่อมสะท้อนถึงความต้องการด้านที่อยู่อาศัย (Demand) แท้จริงในภาคอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต

คอนโดมิเนียมภูเก็ต Cap Gain 5.5-10% และ Rental Yield 5-8%

                  “ภูเก็ต” มีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 35 โครงการ จำนวนห้องพักไม่น้อยกว่า 11,745 ห้อง ทั้งจากผู้ประกอบการเอกชนและบริษัทมหาชน ในช่วง 5 ปีที่ผ่าน ราคาเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมในอดีต เฉลี่ยอยู่ราว 33,000-45,000 บาทต่อตารางเมตร (ปี 2555) จากนั้นก็ขยับเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ล่าสุดปี 2561 มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดตัว 3 โครงการ ล้วนอยู่ในอำเภอเมืองภูเก็ต ได้แก่ อิมเพรสชั่น ภูเก็ต ราคาเฉลี่ย 220,000 บาทต่อตารางเมตร ของออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ และ 2 โครงการย่านแยกดาราสมุทร ทำเลรองรับการเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนา TOD ของภูเก็ต นั้นคือ เดอะ เบส เซ็นทรัล – ภูเก็ต ราคาเฉลี่ย 100,000 บาทต่อตารางเมตร ของ แสนสิริ ขณะนี้ Sold out เรียบร้อยแล้ว สะท้อนว่าย่านนี้มีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้ยังมี สเปซ คอนโดมิเนียม ราคาเฉลี่ย 72,000 บาทต่อตารางเมตร ของ อาณา ดีเวลอปเมนท์ คาดว่าจะเปิดตัวขายในไม่ช้านี้

ปัจจุบัน คอนโดมิเนียมภูเก็ต สามารถปล่อยเช่าได้เฉลี่ย 320-730 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน จึงเห็นค่าเช่าได้ ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนแตะหลักแสนบาทต่อเดือนต่อห้อง สามารถสร้าง ผลตอบแทนจากการปล่อยเช่า ( Rental Yield) เฉลี่ยราว 5-8% ต่อปี และหากเป็นกรณีถือครองระยะยาว พบว่า ราคาคอนโดมิเนียมภูเก็ต มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (Cap Gain) 5.5-10% ต่อปี ปัจจุบันราคาห้องมือสองเฉลี่ย 63,000-120,000 บาทต่อตารางเมตร ถือว่าเป็นตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้เลยทีเดียว

ชาวภูเก็ต มี GPP Per capita สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้

หากย้อนกลับมามองตัวเลข “ประชากรภูเก็ต” พบว่า ส่วนใหญ่สัดส่วนเกินครึ่ง 53.4% เป็นกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ซึ่งเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูเก็ต รองลงมา 36.5% เป็นกลุ่มคนวัยศึกษาอายุน้อยกว่า 25 ปี โดยภาพรวมประชากรภูเก็ตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.2% ต่อปี ตัวเลขล่าสุดปี 2559 อยู่ที่ 3.94 แสนคน ขณะที่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อคน (GPP Per capita) สะท้อนถึงรายได้รวมของคนภูเก็ตเอง ก็มีการเติบโตต่อเนื่องราว 12% ต่อปี ตัวเลขล่าสุด 306,779 บาทต่อคน สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้

ท้ายนี้ TerraBKK Research มองว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นของ “ภูเก็ต” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการวางแผนและความตั้งใจจริงของหลากหลายองค์กรท้องถิ่นและภาครัฐ เล็งเห็นว่า “ภูเก็ต” สามารถพัฒนาเป็นเมืองก้าวตามทันยุคดิจิตอลได้ เมื่อความชัดเจนของโครงการต่าง ๆ เช่น การสร้างถนน, การขยายสนามบิน, การวางระบบเมือง Smart City เป็นต้น มีความก้าวหน้าและเกิดขึ้นได้จริง เกิดการขยายตัวของตัวเลขเศรษฐกิจ การเติบโตของประชากรภูเก็ต และประชากรแฝงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในภูเก็ต ทั้งหมดคือโอกาสในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย และยังสร้างความเชื่อมั่นของการลงทุนภาคเอกชน เกิดแหล่งค้าปลีกยักษ์ใหญ่ตามมา นอกจากความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวของ “ภูเก็ต” จะเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศแล้ว ช่วงเวลานี้ยังเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย “Smart City” เกิดขึ้นได้จริงที่นี่ “ภูเก็ต”