ทุกวันนี้การออมเงินไม่ได้มีแค่การนำเงินไปฝากกับธนาคารเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ปัจจุบันมีการออมเงินหลากหลายรูปแบบ หลายช่องทางให้เราได้เลือกสรร โดยเฉพาะใน กองทุนรวม ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่านำเงินไปฝากธนาคาร แล้วเจ้ากองทุนรวมนี้มีหน้าตาการลงทุนเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ rabbit finance จะพาไปรู้จักทั้ง 7 กองทุนกันค่ะ

กองทุนรวม คืออะไร

กองทุนรวม หรือ Mutual Fund เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ในการระดมเงินทุน จากนักลงทุนหลายๆ คน โดยแต่ละคนใช้เงินน้อยๆ มาผสมกัน จนเป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่เรียกว่า ผู้จัดการกองทุน หรือ Fund manager ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จากนั้นจึงนำกองทุนรวมไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และนำเงินกองทุนนั้นไปบริหารลงทุนตามนโยบายที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

กองทุนรวม เหมาะกับใคร

กองทุนรวม

1.ผู้ที่มีงบลงทุนจำนวนจำกัด หรือมีไม่มาก แต่ต้องการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝากธนาคาร

2.นักลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์ ในการลงทุน เพราะบางกองทุนมีความใกล้เคียงคล้ายคลึงกับเงินฝากธนาคาร จึงทำให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

3.คนที่ไม่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในการลงทุน

4.ผู้ที่ไม่มีเวลาศึกษาหรือติดตามข้อมูล เพื่อใช้ในการตัดสินใจการลงทุน

5.มนุษย์เงินเดือนที่ต้องการเก็บเงินไปเรื่อยๆ ในยามเกษียณอายุ หรือเพื่อเป็นการวางแผนในอนาคต

6.ผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามในตลาดหุ้น หรือไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์บ้านเมือง เช่น เศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ หรืออัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ซื้อ กองทุนได้ที่ไหน และได้ผลตอบแทนอย่างไร

กองทุนรวม

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคาร ที่เป็นผู้ผลิตกองทุนรวมออกมา ดังนั้นผู้ที่ต้องการจะซื้อกองทุนรวมก็สามารถหาซื้อได้ที่ธนาคารเกือบทุกธนาคาร หรือโบรกเกอร์ ตัวแทนจัดจำหน่าย

โดยกองทุนรวมจะมีการเสนอขายครั้งแรก หรือที่เรียกว่า IPO (Initial Public Offering) เริ่มต้นการเปิดขายครั้งแรกจะมีราคาหรือมูลค่าหน่วยลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาท และเมื่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นำเงินกองทุนไปบริหารตามนโยบายการลงทุน แล้วเกิดผลตอบแทนขึ้น ซึ่งมูลค่าหน่วยลงทุนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากมูลค่าเริ่มต้น ขึ้นกับการบริหารของ บลจ.ในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน และจึงจัดสรรผลตอบแทนนั้นให้ผู้ถือหน่วยลงทุนตามจำนวนหน่วยที่มีอยู่

7 กองทุนที่ต้องเลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์

กองทุนรวม

1.กองทุนตลาดเงิน

หรือกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น มีความเสี่ยงต่ำมาก การลงทุนคล้ายคลึงกับการเงินฝากประจำ แต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการฝากเงินหรือพักเงินจากการลงทุนประเภทอื่น โดยกองทุนประเภทนี้จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐประเภทที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 1 – 2% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์

2.กองทุนตราสารหนี้

มีความเสี่ยงต่ำ เหมาะสำหรับผู้ต้องการลงทุนแต่ต้องการความปลอดภัยของเงินต้นและได้รับผลตอบแทนบ้าง เน้นลงทุนในตราสารหนี้เอกชนผสมกับตราสารหนี้ภาครัฐ ผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ที่ 2 – 5% ต่อปี

3.กองทุนผสม

เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง เหมาะกับผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้บ้างและต้องการผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อได้ เน้นลงทุนในตราสารหนี้และหุ้น ซึ่งถ้าช่วงไหนหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น ก็เน้นลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ แต่ถ้าช่วงไหนตลาดหุ้นร่วงยาว ก็ไปเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้แทน โดยกองทุนประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 5 – 10% ต่อปี

4.กองทุนตราสารทุน

หรือกองทุนหุ้น มีความเสี่ยงสูง เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงสูงจากความผันผวนในตลาดหุ้นได้ กองทุนประเภทนี้สามารถให้ผลตอบแทนสูงถึง 15 – 17% ต่อปี เลยทีเดียว

5.กองทุนต่างประเทศ

หรือ FIF เป็นการระดมเงินลงทุนเพื่อไปลงทุนต่อในกองทุนรวมต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนตราสารหนี้ และ กองทุนหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ยุโรป เอเซีย อเมริกาใต้ หรือกระจายการลงทุนไปทั่วโลกในกองเดียวกัน ซึ่งผลตอบแทนจะอยู่ที่ 5 – 15% ต่อปี

6.กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์

เน้นลงทุนในตราสารอนุพันธ์ เช่น ทองคำ หรือ น้ำมันดิบ ซึ่งราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดโลก เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง กองทุนประเภทนี้ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 5 – 15% ต่อปี

7.กองทุน  RMF – LTF

เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้ออมเงินในระยะยาว และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยกองทุน LTFต้องถือครอง 7 ปีปฎิทิน และกองทุน RMF ต้องถือครองจนครบอายุ 55 ปี จึงจะขายได้ แต่ถ้าหากขายก่อนกำหนดจะต้องเสียค่าชดเฉยทางด้านภาษี

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะอยากได้ผลตอบแทนที่สูงสักแค่ไหน ความเสี่ยงก็ย่อมจะตามมา ดังนั้นก่อนลงทุนทุกครั้งไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม ควรศึกษารายละเอียดให้ดีเสียก่อน ดั่งคำเตือนที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”

ข้อมูล สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ,rabbitfinance.com