ผ่าทางตันธุรกิจครอบครัว สู่ทางรอดในยุคดิจิทัล
ในโลกยุค Disruption ไม่ว่าธุรกิจรูปแบบไหนก็ล้วนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่หนึ่งในรูปแบบธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ ธุรกิจครอบครัวที่มีการส่งไม้ต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพราะแม้ธุรกิจครอบครัวจะมีแต้มต่อจากคนรุ่นก่อนที่วางรากฐานไว้ให้อย่างแข็งแรง รอเพียงคนรุ่นหลังมาช่วยสานต่อ แต่ด้วยโลกธุรกิจที่หมุนไวเปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวัน ไม่เพียงกระตุ้นให้ต้องเร่งปรับกระบวนทัพ แต่วัฒนธรรมองค์กรแบบเดิมๆ การบริหารแบบเก่าๆ ตลอดจนแพชชั่นของเหล่าทายาทที่มีต่อธุรกิจที่บรรพบุรุษสร้างมาเริ่มหดหาย ยิ่งทำให้โจทย์ในการเข้ามานำทัพธุรกิจครอบครัวยิ่งยากเป็นเท่าตัว
เพื่อเปิดมุมมองการบริหารธุรกิจครอบครัวของเหล่าทายาท ลองไปฟังแนวคิด 4 ผู้บริหารคนเก่ง ที่มาร่วมแชร์มุมมองการนำทัพธุรกิจในงานสัมมนาซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง SEAC ซึ่งแม้แต่ละบริษัทจะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันในการพลิกเกมธุรกิจ แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ไม่ทิ้งแก่นที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้
ดีเอชเอ สยามวาลา “ธุรกิจวันนี้ต้องเดินด้วยนวัตกรรม”
ในฐานะธุรกิจที่ยืนยงมาถึง 111 ปี ส่งต่อกันมาถึงเจเนอเรชั่นที่ 4 ดนุพล สยามวาลา Chief of Operation Officer (COO) บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด เผยถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญว่าโลกยุคดิจิทัลทำให้ต้องเร่งปรับทัพใหญ่เพื่อรับศึกในหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ พนักงาน และ การส่งไม้ต่อไปยังเจน 5
“เริ่มจากผลิตภัณฑ์ เราเป็นแบรนด์เครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานที่กำลังถูก Disrupt ไม่น้อย ทุกวันนี้จะเห็นว่าสัดส่วนคนที่ยังพกสมุด ปากกา ถือแฟ้มน้อยลงทุกที คำถามคือ ตลาดผมอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำ คือ ใส่นวัตกรรมในสินค้าและการทำงาน ควบคู่ไปกับการปรับวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้ทุกยูนิตรู้สึกมีคุณค่าในองค์กร สามารถเป็น Profit Center ไม่ใช่ Cost Center ยกตัวอย่าง ฝ่ายผลิต หรือ แม้แต่แผนกโลจิสติกส์ไม่จำเป็นต้องทำแต่งานรูทีน แต่สามารถออกไปหาลูกค้าเองได้ นอกจากนี้เรายังเปิดกว้างให้เกิดสตาร์ทอัพในองค์กร ทั้งจากสมาชิกในครอบครัวและพนักงานที่มีไอเดียธุรกิจอีกด้วย เพราะเราเชื่อว่า แพชชั่นคือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร”
เสถียรสเตนเลสสตีล “ไม่วิ่งหนี แต่เปิดรับเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่ง”
ด้านเอกชัย ยังวาณิช รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เสถียรสเตนเลสสตีล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเจน 2 ที่ผลักดันให้ "หัวม้าลาย" แบรนด์เครื่องครัวสเตนเลสสตีลสัญชาติไทย มีรายได้ทะยานสู่ 2,000 ล้านบาท เผยถึงการปรับตัวของบริษัทแบบค่อยเป็นค่อยไปว่า ถึงแก่นในการทำธุรกิจจะไม่เปลี่ยน แต่วิธีการต้องปรับเพราะโลกหมุนเร็วขึ้น
“เรามีการเปิดรับเทคโนโลยีเข้ามาในหลายๆ ส่วนงาน ตั้งแต่การผลิต เรามีการนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานคนตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน โดยเริ่มจากส่วนงานที่น่าเบื่อและมีอันตราย และในอนาคตคาดว่าจะมีการนำ AI เข้ามาใช้มากขึ้น ในส่วนงานบริการ จากเดิมใช้การโทรศัพท์สั่งสินค้า ซึ่งนำมาซึ่งข้อผิดพลาด เช่น ฟังผิด จดผิด ส่งของผิด เราเปลี่ยนใหม่ด้วยการให้ลูกค้าใช้ไอแพดสั่งซื้อสินค้า ป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบสามารถจัดทำใบสั่งซื้อได้ทันที นอกจากจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานยังลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้น”
ฟู้ดแพชชั่น “ถ้าจะไปข้างหน้า ก็ต้องไปด้วยกันทั้งองค์กร”
ด้านชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารเจน 2 ที่นำพาบาร์บีคิวพลาซ่าเป็นแบรนด์ในใจใครหลายๆ คน ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของธุรกิจครอบครัวว่า ผู้นำทุกคนมีความเป็น Entrepreneurship เป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว และด้วยรูปแบบธุรกิจทำให้สามารถตัดสินใจได้ฉับไว แต่ความท้าทายธุรกิจทุกวันนี้มาจากรอบด้าน โลกดิจิทัลยังพาให้ไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วมาก คู่แข่งทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่รายใหญ่ๆ แต่ยังมีคู่แข่งรายเล็กๆ หรือคู่แข่งข้ามสายพันธุ์ที่บางครั้งเขาขยับตัวแล้วเราอาจไม่ทันเห็น
“ที่ผ่านมาสิ่งที่เราทำคือ เปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดใหม่ ด้วยการตั้งทีมการตลาดใหม่ สร้างบรรยากาศใหม่ในการทำงาน พร้อมนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรอย่างแท้จริง แต่ก็ยังไม่พอเพราะถ้าจะนำธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน ด้วยความที่เราเป็นผู้บริหารสายอาร์ต สิ่งที่เราทำเสมอ คือ ใช้ story telling หรือการเล่าเรื่องจริงเพื่อให้คนในองค์กรเห็นภาพร่วมกันแล้วพร้อมที่จะเดินไปสู่จุดหมายขององค์กรด้วยกัน”
ออโรร่า “ฉีกกรอบธุรกิจด้วยมุมมองคนรุ่นใหม่”
ปิดท้ายด้วย อนุรุทธ์ ศรีรุ่งธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ บริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด แห่งห้างเพชรทองออโรร่า ในฐานะเจน 2 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจห้างทองซึ่งหลายคนติดภาพว่า นึกถึงทองต้องไปเยาวราช มีแต่สร้อยคอ กำไล แหวน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ ออโรร่าเลือกปฎิวัติวงการด้วยการสร้างมุมมองใหม่ให้กับร้านทอง ตั้งแต่การเลือกใช้สีส้มโทนสีแดงที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของร้านทอง เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็นภาษาอังกฤษ ไม่ต้องมีคำว่าเยาวราชต่อท้าย นำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาโปรดักซ์ เพื่อให้ลูกค้ามองว่าทองไม่ใช่สินทรัพย์ที่ดูแก่ คร่ำครึแต่เป็นของขวัญแห่งความสุข
“โจทย์ของผมตอนเข้ามารับไม้ต่อ คือ ทำอย่างไรเพื่อรักษาแบรนด์ที่รุ่นคุณพ่อสร้างมาให้มียังคงเป็นแบรนด์ร้านทองที่มีคุณภาพและต่อยอดไปยังยุคต่อไปได้ วิธีการบริหารงานของผมอาจจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่แก่นในการทำธุรกิจของเรายังอยู่ เราเริ่มตั้งแต่การปรับสภาพแวดล้อมในองค์กร รับพนักงานรุ่นใหม่ไฟแรงเข้ามาร่วมทีม พร้อมไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ” อนุรุทธ์ทิ้งท้าย
ฟังแนวคิดของพวกเขาแล้ว แล้วคุณล่ะ? ออกแบบเส้นทางสานต่อธุรกิจครอบครัวไว้อย่างไร