สูงวัยเฮและโฮ...นับถอยหลัง 3 ปีไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว
ตามหลักของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกิน 10% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้ว แต่ยังไม่ถือเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ" (Aged Society) จนกว่าสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 20%ของประชากรทั้งประเทศ
ย้อนกลับมามองประเทศไทยซึ่งมีการพูดถึงสังคมผู้สูงอายุมาหลายปี พบว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2558 และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจะมีอัตราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 30% หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2579
ในงาน “NextGen Aging – Shaping A Smart Future for an Aging Society Conference” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสถาบันคีนันแห่งเอเชียและพันธมิตร เพื่อร่วมกำหนดอนาคตสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ผ่านวิสัยทัศน์ทางธุรกิจและนวัตกรรมเพื่อสังคมจากบุคลากรชื่อดังระดับนานาชาติ ในงานนี้ Dr. Noel P. Greis Director of the Center for Digital Enterprise and innovation จาก UNC's Kenan Flagler Business School ได้เผยถึงมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้สูงอายุทั่วโลกว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของประเทศในเอเชียเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากประเทศมหาอำนาจอย่างจีนจะกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยก็น่าจับตามองในฐานะประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่กำลังเข้าสู่สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
“ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู้สังคมผู้สูงอายุ อันดับแรกคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสัดส่วนจำนวนแรงงานจะลดลง ส่งผลให้จีดีพีของประเทศนั้นจะหดตัวตาม เพราะแม้จะมีหุ่นยนต์ หรือ เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานที่หายไปก็ยังไม่เพียงพอ”
คำถามคือ แล้วประเทศไทยรวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุ พร้อมหรือยัง?
Dr. Noel P. Greis ตอบคำถามนี้ด้วยผลการวิจัยจาก AAPR&FP Analytics ซึ่งได้คัดเลือก 12 ประเทศซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ประเทศที่ไม่ได้มีการปรับตัวใดๆ เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ, ประเทศที่มีการปรับตัวด้านต่างๆ และเป็นผู้นำในการรับมือกับผู้สูงอายุ ตลอดจนประเทศที่กำลังมีการปรับตัวไปพร้อมๆ กับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยนำมาเปรียบเทียบกันใน 4 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมสำหรับรองรับผู้สูงอายุ,โอกาสในการสร้างผลผลิต เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ,การเข้าถึงเทคโนโลยี ตลอดจนการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
“หลายคนอาจคิดว่าประเทศพัฒนาแล้วจะจัดการกับ 4 ด้านนี้ได้ดี แท้จริงแล้วไม่ใช่เลยมีเพียงญี่ปุ่น ประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถจัดการได้ทั้ง 4 ด้านได้ รองลงมาคือ เยอรมนีทำได้ 3 ด้าน ส่วนบราซิล แคนาดา อิสราเอล เกาหลี อังกฤษ และ สหรัฐ ยังทำได้เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ตุรกี แอฟริกาใต้ เม็กซิโก จีน บราซิล ทำไม่ได้เลยแม้แต่ด้านเดียว สิ่งที่น่าสนใจ คือ แม้ในบางประเทศจะเริ่มต้นปรับตัวเพื่อรับมือกับผู้สูงอายุแล้วในบางด้าน แต่ด้านที่สำคัญที่สุดอย่างการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี กลับยังไม่มีประเทศไหนทำสำเร็จ ยกเว้น ญี่ปุ่น”
อย่างไรก็ตาม Dr. Noel P. Greis ยอมรับว่าท่ามกลางความท้าทายของการปรับตัวเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ แต่ในทางกลับกันสังคมผู้สูงอายุก็นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่เรียกว่า Silver Economy โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
“จีนเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ตื่นตัวกับตลาดนี้ ยกตัวอย่าง อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซของจีนเปิดตัวแอพพลิเคชั่นใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงวัยให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ ด้วยการออกแบบแอพพลิเคชั่นใหม่ให้เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น ด้วยขนาดตัวอักษรที่ใหญ่ ใช้งานง่าย ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าการซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องสนุก และเขาก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพราะลูกหลานจะทำหน้าที่เป็นครูสอนเทคโนโลยีให้กับปู่ย่าตายายหรือคุณพ่อคุณแม่ เพราะธรรมชาติของคนกลุ่มนี้อยากเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีจากคนใกล้ตัวมากกว่าเรียนจากคนนอก”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนที่ฉายภาพให้เห็นสถานการณ์ของผู้สูงอายุทั่วโลก ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ต้องเร่งเครื่องเพื่อหาทางรับมือกับอนาคตของสังคมไทยให้น่าอยู่สำหรับผู้สูงอายุทุกคน