ลอยกระทง อย่าหลงทาง
อีกไม่กี่วันก็ถึงวันลอยกระทง ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 หลายคนวางแผนเดินทางไปในที่ต่างๆ หรือพาครอบครัวไปลอยกระทงร่วมกัน เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา
ในปัจจุบันประเพณีลอยกระทง มีการจัดงานทุกจังหวัดเป็นงานประจำปีที่สำคัญ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่ง สสส.จับมือกับ สคล.พร้อมภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ร่วมผลักดันให้ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่เน้นให้เห็นคุณค่าในการลอยกระทงแบบดั้งเดิม เพื่อให้เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของประเพณีอย่างแท้จริง และเห็นคุณค่าของเทศกาลมากขึ้น โดยการงดการดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ให้ข้อมูลว่า สคล.ทำงานขับเคลื่อนรณรงค์ห้ามดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานลอยกระทง ปัจจุบันมี 22 จังหวัดทั่วประเทศที่ร่วมรณรงค์ เช่น ลอยกระทงสาย จังหวัดตาก เมื่อปี 2554 มีลานเบียร์จำนวน 32 แห่งซึ่งมีทั้งผู้ดื่ม ผู้ขาย ในเทศกาลต่างๆ แต่ปัจจุบันไม่มีลานเบียร์ในพื้นที่ จ.ตาก พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นลานทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และช่วงระยะ 3 ปีหลัง จากเดิมที่แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก กลับกลายเป็นโคมลอย และประทัดยักษ์ ที่กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักมากกว่า อย่างที่เชียงใหม่ สคล.ได้ โซนนิ่งพื้นที่ริมแม่น้ำปิงเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยปลอดจากโคมลอย ประทัด และกลายเป็นพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แทน
โดยในปี 2551 ได้เกิดสมรภูมิสงครามประทัดขึ้น ที่จ.เชียงใหม่ เกิดความรุนแรง จนทำให้ประชาชนไม่กล้าออกมาลอยกระทง แต่เมื่อเราเข้าไปขับเคลื่อนงานทั้งการห้ามดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการรณรงค์เรื่องปลอดโคมลอย ปลอดประทัดยักษ์ โดยหันมารณรงค์ให้ “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง” หรือการจุดผางประทีป ซึ่งเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีล้านนา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยในปีแรกๆ ที่เรารณรงค์มีเพียง 1,000 กว่าดวง จนปัจจุบันนี้มีการจุดผางประทีปราวๆ 30,000 ดวง และในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 60,000 ดวง
“ก่อนหน้านั้นปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การปล่อยโคมลอย ซึ่งทำให้กระทบกับสายการบิน และบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะบ้านไม้ ที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้จากการปล่อยโคมลอย จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สามารถควบคุมได้ ทาง สคล. ก็หันมาขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องการลดการปลอดโคมลอย และประทัดยักษ์ ที่กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงแทน และให้คุณค่าของแก่นแท้ในงานลอยกระทรงตามประเพณีของแต่ละพื้นที่ ซึ่งช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา เราอยู่ในช่วงของการงดเฉลิมฉลองงานเทศกาล เพื่อระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ประชาชนหันมาสู่แก่นแท้และเห็นคุณค่าของเทศกาลมากขึ้น โดยการงดการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้วัฒนธรรมที่ดีกลับคืนมาสู่สังคมไทย” นายวิษณุ เล่า
สำหรับประเทศไทยยังมีสถานที่ลอยกระทงที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น 1.วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร อยู่ในย่านฝั่งธนบุรี เป็น งานลอยกระทงปลอดเหล้า – บุหรี่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโรคร้ายและส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่ผู้มาร่วมงาน 2.เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดตาก“งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1000 ดวง” จัดขึ้น ณ บริเวณริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยการลอยกระทงสายนี้ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาวจังหวัดตากที่ไม่เหมือนที่อื่นๆ เพราะที่นี่จะนำกระทงกะลามาขัดให้สะอาดลอยเป็นสายยาวล่องไปตามแม่น้ำปิง 3.วัดภุมรินทร์กุฎีทองและอุทยาน ร.2 อัมพวา สมุทรสงคราม “ประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง” ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ภายในงานจะประกอบด้วย กิจกรรม ตีฆ้องร้องป่าว,การละเล่นพื้นบ้าน,ดนตรีในสวน,และสาธิตการทำกระทงจากกาบกล้วย และยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่สนุกสนานปลอดภัย
นอกจากการลอยกระทงที่สืบสานประเพณีไทยแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้และควรคำนึงถึง คือ ความปลอดภัย โดยยึดหลัก 4 ปลอด ดังนี้
1.ปลอดภัย เลือกสถานที่มั่นคงแข็งแรง ตลิ่งไม่ลื่น เด็ก ผู้สูงอายุ ควรดูแลอย่างใกล้ชิด
2.ปลอดเหล้า ไม่ดื่มสุราขณะขับขี่ และปฏิบัติตามกฏจราจร
3.ปลอดประทัดยักษ์ งดจุดพลุ ประทัดดอกไม้ไฟ ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
4.ปลอดโคมลอย ห้ามปล่อยโคมเพราะเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ และเกิดมลพิษทางอากาศ
ข้อดีของการลอยกระทงแบบปลอดภัยนั้นไม่ใช่เพียงแค่สืบสานวัฒนธรรมเท่านั้น เพราะคุณค่าของประเพณีนี้ยังส่งผลอันดีงามในอีกหลายเรื่อง อาทิ
1. ส่งเสริมคุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วนำไปลอยนํ้าเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อนํ้าที่ให้ คุณประโยชน์
2. ส่งเสริมคุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความฃสามัคคีในชุมชน ร่วมกันคิดประดิษฐ์กระทง เป็นการส่งเสริมและสืบทอดศิลปกรรมด้านช่างฝีมือ
3.ส่งเสริมคุณค่าต่อสังคม ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ในการช่วยกันรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง
4.ส่งเสริมคุณค่าต่อศาสนา ถือเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และรักษาความเชื่ออันดีงามไว้ บางท้องถิ่น เช่นทาง ภาคเหนือ เชื่อว่าการ ลอยกระทงนั้นเป็น การบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า และยังจัดให้มีการทำ บุญทำทาน การปฏิบัติ ธรรมและฟังเทศน์ด้วย
อย่างไรก็ตามประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีความสวยงามและมีคุณค่าทั้งในแง่ของ ประเพณีที่สืบทอดและธรรมเนียมที่การปฏิบัติกันมา ทั้งมีเสน่ห์ไม่เหมือนชาติใดในโลก นี่คือหัวใจหลักที่ทำให้ประเทศไทยได้รับคำชมเชยจากชาวต่างชาติ ว่าเป็นประเทศที่มีประเพณีน่าสนใจที่สุดอีกประเทศหนึ่งของโลก และที่สำคัญไปกว่านั้นถ้าคนในประเทศร่วมกันสืบสานการลอยกระทงแบบดั้งเดิมปลอดภัยไม่สร้างมลพิษทางอากาศ ลดปัญาหาการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ ลดจุดเสี่ยงไฟไหม้จากการจุดพลุหรือปล่อยโคม เท่านี้ก็จะช่วยให้ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกและยังส่งเสริมในด้านวัฒธรรมไทยพร้อมทั้งปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ได้