อาหารเป็นพิษ โรคฮิตนักเดินทาง
อาหารเป็นพิษ โรคฮิตนักเดินทาง
ในช่วงใกล้สิ้นปีที่วันลาพักร้อนยังใช้ไม่หมด ทำให้หลายคนเลือกช่วงนี้หนีร้อนไปยังที่สูง โดยเชื่อว่า "ยิ่งสูง ยิ่งหนาว" ทำให้ดอยต่าง ๆ เป็นสถานที่สุดฮิตให้กับใครหลาย ๆ คน ซึ่งการเตรียมความพร้อมเพื่อไปสัมผัสความหนาวนั้น และสิ่งที่หลายคนมักมองข้ามคือเรื่องของอาหารการกินนั่นเอง
ทุกการเดินทางต้องมีการเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ยารักษาโรค รวมถึงการตรวจเช็คยานพาหนะ และอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการรับประทานอาหาร ที่วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. จะขอนำเสนอโรคสุดฮิต ที่นักเดินทางมักเป็นกันบ่อย นั่นคือ ‘โรคอาหารเป็นพิษ’
โรคอาหารเป็นพิษ เป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้อธิบายอาการป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ฯลฯ รวมไปถึง อาหารที่ปรุงไม่สุกพอ อาหารค้างมื้อและไม่ได้แช่เย็น ซึ่งอาจจะทำให้เราเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้ โดยอาการส่วนใหญ่ที่เกิดจากอาหารเป็นพิษได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการถ่ายบ่อย หรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายบ่อย อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ หรือรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสโลหิตก็ได้ ดังนั้น การป้องกันโรคอาการเป็นพิษจึงเป็นอีกสิ่งที่นักเดินทางต้องตระหนัก เพราะเมื่อไหร่ที่มีอาการแล้ว การเที่ยวเพื่อหนีร้อนในวันหยุดอาจจะหมดสนุกก็ได้
วิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
- เลือกอาหารที่ผ่านการเตรียมเป็นอย่างดี
- ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน
- ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ
- ระมัดระวังอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่าให้มีการปนเปื้อน
- อาหารที่ค้างมื้อต้องอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน
- แยกอาหารดิบและอาหารสุก ให้ระมัดระวังการปนเปื้อน
- ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังจากเข้าห้องน้ำ
- ให้พิถีพิถันเรื่องความสะอาดของพื้นที่การปรุงอาหาร
- เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่น ๆ
- ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร
แล้วจะทำยังไง ถ้ามีอาการอาหารเป็นพิษเมื่อไปเที่ยว? เพราะในบางครั้งเราอาจหลงลืม หรือพลาดกันได้ และยามที่ไปท่องเที่ยวในที่ห่างไกลชุมชน ทำให้ต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือดูแลรักษาตนเองตามอาการ โดยสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการรักษาโรคอาหารเป็นพิษมักจะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น หากผู้ป่วยยังพอรับประทานอาหารได้ ควรดื่มน้ำเปล่า และจิบน้ำผสมผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย แต่หากมีอาการอาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือดหรือถ่ายเป็นน้ำและมีไข้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามผงเกลือแร่ (ORS) เป็นอีกหนึ่งไอเท็มสำคัญที่ควรมีติดเอาไว้ในกล่องปฐมพยาบาล
เกร็ดความรู้
โดยทั่วไปเกลือแร่ในท้องตลาดมีอยู่ 2 ประเภท คือ เกลือแร่สำหรับคนที่ท้องเสีย (Oral Rehydration Salt หรือ ORS) กับเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy หรือ ORT)
เกลือแร่สำหรับคนท้องเสีย จะเป็นชนิดผงน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าผงโออาร์เอส (ORS) การเสียน้ำจากอาการท้องเสีย เป็นภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ในทันที เพราะฉะนั้นร่างกายของเราจึงต้องการน้ำและเกลือแร่มาทดแทน ซึ่งแตกต่างจากการเสียน้ำหรือเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ซึ่งเครื่องดื่มเกลือแร่ก็จัดเป็นอาหารในหมวดเครื่องดื่ม มีสัดส่วนของเกลือแร่และน้ำตาลไม่เท่ากับโออาร์เอส และใช้ชดเชยน้ำและเกลือแร่หลังการออกกำลังกายเท่านั้น
นอกจากการดูแลรักษาตัวเองและการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษแล้ว นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค ยังได้เตือน 10 เมนูที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษได้แก่
- ลาบ/ก้อยดิบ
- ยำกุ้งเต้น
- ยำหอยแครง/ยำทะเล
- ข้าวผัดโรยเนื้อปู
- อาหาร หรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด
- ขนมจีน
- ข้าวมันไก่
- ส้มตำ
- สลัดผัก
- น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
ไม่ใช่ว่าห้ามรับประทาน แต่เมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด และขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุก ๆ ดิบ ๆ รวมถึงยึดหลัก ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ เพื่อป้องกันอาการของโรคอาหารเป็นพิษที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว
แม้ว่าจะไม่ได้ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ แต่การเข้าสู่ฤดูหนาวที่อาจจะไม่ได้ทำให้เราหนาวเหน็บ แต่อากาศที่ร้อนสลับหนาว รวมถึงความเย็นในยามค่ำคืนก็อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ดังนั้นการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่สม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ จะช่วยทำให้เราสามารถต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ในระดับหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th