3 วิธีจับสัญญาณเตือนมลพิษทางอากาศที่มากับฤดูหนาว
3 วิธีจับสัญญาณเตือนมลพิษทางอากาศที่มากับฤดูหนาว
รู้หรือไม่ !!! ว่าอากาศเย็นๆ ในช่วงฤดูหนาวนั้น มีภัยร้ายแอบแฝงมาในรูปแบบของฝุ่นละอองหรือฝุ่นพิษ เพราะอากาศที่เย็นจากด้านล่าง จะลอยตัวขึ้นไปถึงระดับหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ เมื่อเจอกับอากาศข้างบนที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าจึงร้อนกว่า เสมือนฝาชีที่ครอบมลภาวะเอาไว้ ซึ่งมลภาวะที่เกิดขึ้นก็มีที่มาจากหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า รวมทั้งการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ยิ่งสำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในสถานที่ที่ได้รับมลพิษจากกิจกรรมเหล่านี้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับผลกระทบมากขึ้นในฤดูหนาว โดยเฉพาะผลกระทบทางสุขภาพ เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและมั่นใจ สำหรับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ จะมาแนะนำถึง 3 สัญญาณเตือน เมื่อเกิดมลพิษทางอากาศ ให้สามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง โดยสัญญาณที่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง ดังต่อไปนี้
- ทัศนวิสัยในการมองเห็นเปลี่ยนไปในช่วงที่มีฝุ่นละอองหนาแน่นกว่าปกติ หรือในภาวะที่เริ่มเกิดมลพิษทางอากาศขื้น วิธีการสังเกตเบื้องต้นดูได้จากทัศนวิสัยในการมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น กลุ่มก้อนอากาศที่ลอยตัวต่ำมีสีออกน้ำตาล หรือทัศวิสัยในการมองเห็นลดลงเนื่องจากมีหมอกควันปกคลุมมากขึ้น อาจสันนิษฐานได้ว่า จำนวนหมอกควันที่เกิดขึ้น และสีที่ผิดปกติเป็นหนึ่งในสัญญาณของสภาวะที่อากาศเริ่มมีค่ามลพิษมากผิดปกติ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมถึงสภาวะของมลพิษทางอากาศในขณะนั้น เพื่อการรับมืออย่างเท่าทันสถานการณ์
- ควันที่ปล่อยออกจากโรงงานมีปริมาณมากผิดปกติสำหรับชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตโดยการเผาไหม้ที่ปล่อยควันออกสู่ธรรมชาติ ซึ่งมักมีความคุ้นเคยกับปริมาณของการปล่อยควันของแต่ละโรงงานอยู่แล้ว หากชุมชนพบว่ามีปริมาณการปล่อยควันจากโรงงานที่มากผิดปกติ ก็เป็นสัญญาณที่ต้องจับตามองถึงความผิดปกติของมลพิษทางอากาศที่อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์อีกหนึ่งวิธีที่ง่ายและสะดวกในการตรวจสอบความผิดปกติของอากาศที่ทุกคนสามารถทำได้ก็คือ การตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชันตรวจวัดระดับปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ และแปรค่าออกมาในรูปแบบที่คนทั่วไปเข้าใจได้ เช่น กำหนดเกณฑ์สีต่างๆ เพื่อบ่งบอกระดับความรุนแรงของสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ ทำให้สามารถตรวจสอบสภาพมลพิษทางอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีค่ามลพิษทางอากาศในระดับอันตรายได้ ตัวอย่างแอปพลิเคชันที่สามารถใช้ตรวจสอบมลพิษทางอากาศได้ เช่น ไทยแอร์ ควอลิตี้ (Thai Air Quality) แอร์ วิชวล (Air Visual) และ พลูม แอร์ รีพอร์ต แอป (Plume Air Report App) เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : ทาทา สตีล