ทำงานอย่างไรจึงไม่ล้า
อาการล้าเป็นอาการอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยในเวลาทำงาน เกิดขึ้นได้ทั้งงานที่ต้องใช้แรงงานหนักเช่น งานยกของ งานดึงและดัน และงานเบาที่ต้องอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ หรือต้องทำงานเบานั้นซ้ำซาก
การล้าที่เกิดขึ้นในร่างกายแบ่งได้ 2 แบบ คือการล้าของกล้ามเนื้อ และการล้าทั่วไป เช่น การล้าของสายตา อาการล้าจากความเครียด เป็นต้น
กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้ 2 แบบ และเกี่ยวข้องกับการล้าดังนี้
1.การหดตัวของกล้ามเนื้อแบบเป็นจังหวะ คือมีการหดตัวและคลายตัวสลับกันไป เช่น การยกวัตถุขึ้นวางบนชั้น ผู้ยกจะใช้กล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัวในระยะเวลาสั้น และจะมีการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ ในช่วงที่หยุดยก การทำงานของกล้ามเนื้อในลักษณะนี้ จะมีช่วงพักให้เลือดไหลเข้าไปในกล้ามเนื้อ ถ้างานไม่หนักมากนัก (น้อยกว่าร้อยละ 15 ของความสามารถสูงสุด) จะต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงจะเกิดการล้าได้
2.การหดตัวแบบคงค้าง คือมีการหดตัวค้างไว้ตลอดเวลา เช่น การนั่งอยู่ในท่าก้มหลังและก้มคอพิมพ์คอมพิวเตอร์อยู่นานๆ การหดตัวแบบนี้จะทำให้เลือดไหลไปสู่กล้ามเนื้อไม่สะดวก เนื่องจากหลอดเลือดที่เข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อถูกบีบจากการหดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการคลายตัวเหมือนการหดตัวกล้ามเนื้อแบบเป็นจังหวะ การหดตัวแบบคงค้างเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อเนื่องจากมีกรดและของเสียสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวและมีอาการกล้ามเนื้ออักเสบจากการทำงานได้การหดตัวแบบคงค้างนี้จะทำให้กล้ามเนื้อล้าอย่างรวดเร็ว ถ้าต้องออกแรงเพียงร้อยละ 8 ของความสามารถกล้ามเนื้อสูงสุด
การหดตัวของกล้ามเนื้อแบบคงค้างนี้จะพบได้ใน กล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงท่า เช่น กล้ามเนื้อคอและหลังขณะนั่งหรือยืน กล้ามเนื้อจะต้องหดตัวแบบคงค้างอยู่ตลอดเวลา ถ้ายิ่งมีท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ก้มคอหรือหลังมากเกินไป จะทำให้ล้าง่ายขึ้น ให้ลองยืนตรงแล้วก้มไปข้างหน้าเอามือแตะเข่าค้างไว้ ท่านจะรู้สึกเมื่อยที่กล้ามเนื้อหลังภายในเวลาไม่ถึงนาที หรือลองก้มคอแล้ว ค้างไว้สัก 3 นาที ท่านจะรู้สึกล้าที่กล้ามเนื้อคอด้านหลัง
นอกจากท่าทางที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อแล้วส่วนของเอ็นและส่วนที่อยู่ใกล้จะถูกยืดมากกว่าปกติทำให้เกิดอาการอักเสบของเอ็นต่างๆ ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th