ไปต่อไม่ไหว 2 อสังหาปิดตัว ต้นปี 62
ไปต่อไม่ไหว 2 อสังหาปิดตัว ต้นปี 62
ไม่หมูเลย สำหรับการทำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศไทย ดูเหมือนการร่วมทุนกับชาวต่างชาติ จะเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่เหล่าผู้ประกอบการเลือกใช้ เพื่อสร้างสรรค์ธีมการลงทุนใหม่ๆแก่ประเทศไทย ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย อย่างคอนโดมิเนียม แต่ TerraBKK กำลังกล่าวถึง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทอื่นๆ ที่กำลังเป็นกระแส อสังหาปิดตัว ไล่เรียงกันมา ปัญหาหลักในการ อสังหาปิดตัว ล้วนหนีไม่พ้นเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินและผลขาดทุนจากการดำเนินงาน ยิ่งทำยิ่งขาดทุน สุดท้ายจบเกมส์ด้วยการปิดโครงการ อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการในขณะนี้ รายละเอียดดังนี้
มาเร็วไปเร็ว The Marvel Experience Thailand ปิดบริการ 29 ม.ค. 62
- ผู้ประกอบการ : บริษัท ฮีโร่ เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (บริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้น 37.5%)
- ทุนจดทะเบียน : 268 ล้านบาท มูลค่าลงทุน 1 พันล้านบาท พื้นที่ใช้สอยกว่า 20,000 ตารางเมตร (บริเวณศูนย์การค้าเมกาบางนา)
- พ.ศ. 2561 : เดือนมิถุนายน เปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทย ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปิดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ตามหลัง สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีใต้ (ปูซาน)
- กว่า 6 เดือนที่เปิดบริการ นอกจากความอลังการตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังเกิดกระแสแสดงความคิดเห็นไม่น้อยในโลกออนไลน์ถึงข้อติต่าง ๆ ของโครงการนี้ เช่น ราคาบัตรเข้าชม, สถานที่ตั้งไม่ติดรถไฟฟ้า, คุณภาพของหุ่นตัวละครไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เป็นต้น
- พ.ศ. 2562 : ประกาศ หยุดโครงการเดอะมาร์เวลเอ็กซ์พีเรียนซ์ไทยแลนด์: ธีมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ แอ็ทแทรคชั่น (The Marvel Experience: Theme Entertainment Attraction –TMX Thailand) สาเหตุหลักมาจากการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผน และปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเปิดให้บริการวันสุดท้าย 29 ม.ค. 62 นี้
ธีมญี่ปุ่นอยู่ต่อไม่ไหว โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ ปิดบริการ 31 ม.ค. 62
- ผู้ประกอบการ : พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากการร่วมมือสัดส่วน 50:50 ระหว่าง บริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด และบริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัด (ในเครือบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน))
- ทุนจดทะเบียน : ประมาณ 400 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 13,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 2 ชั้น ลักษณะโดดเด่นตามแบบฉบับห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น
- พ.ศ. 2558 : เดือนมิถุนายน เปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทย
- พ.ศ. 2559 : เปิดโซนใหม่ Japan Scramble นำเสนอ อาหาร/ผลิตภัณฑ์/บริการ ต้นตำรับจากทั่วภูมิภาคญี่ปุ่น เช่น ราเม็งกึ่งสำเร็จรูป, ชีสเค้ก, ชาเขียว เป็นต้น ผลไม้ขึ้นชื่อของญี่ปุ่น เช่น เมล่อน (จังหวัดอิบารากิ) , ลูกพีช (จังหวัดฟุกุชิมะ) และ มันหวาน (จังหวัดชิบะ) เป็นต้น
- พ.ศ. 2560 : จัดงาน Japan Village ส่งตรงวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ ทั้งการแสดงและสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น เช่น วิธีการสาธิตแล่ปลามากุโระหรือปลาทูน่า, ระบำโยซาโค่ย เทศกาลเต้นรำต้อนรับหน้าร้อนขึ้นชื่อของญี่ปุ่น, โชว์ตีกลองไทโกะ เครื่องดนตรีโบราณ เป็นต้น
- รายได้ระดับร้อยล้านบาทต่อปี เริ่มตกลงในปี 60 แต่ผลประกอบการกลับขาดทุนมาตลอด 3 ปีและขาดทุนหนักขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตัวเลขรายได้ 1.88 ร้อยล้านบาท (ปี 60) , 2.13 ร้อยล้านบาท (ปี 59) , 1.09 ร้อยล้านบาท (ปี 58) และตัวเลขผลขาดทุน -1.54 ร้อยล้านบาท (ปี 60) , -0.89 ร้อยล้านบาท (ปี 59) , -0.65 ร้อยล้านบาท (ปี 58)
- พ.ศ. 2561 : เดือนพฤศจิกายน แจ้งปิดทำการถาวร โดยให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 31 ม.ค. 62 นี้ พร้อมกล่าวขอบคุณลูกค้า โดยไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการปิดตัวครั้งนี้
ข้อสังเกตหนึ่ง อสังหาปิดตัว รอบนี้ ทั้ง 2 โครงการ ล้วนเป็นโครงการร่วมทุนกับชาวต่างชาติ ทุนจดทะเบียนระดับร้อยล้านบาท เป็นโครงการที่มีความเฉพาะตัวอย่างมาก และปิดตัวลงจากปัจจัยหลักด้านปัญหาการเงิน สิ่งที่ผู้ประกอบการอาจจะต้องทำการบ้านอย่างหนัก ก่อนจะไปถึงเรื่องปัญหาการเงิน จึงเป็นเรื่องความเฉพาะเจาะจงนั้น ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าชาวไทย ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นลูกค้าหลักของโครงการ จริงหรือไม่ มิฉะนั้นแล้ว โครงการนั้นอาจถูกมองเป็นทางเลือกสำหรับการทำกิจกรรม ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูง อาจถูกมองผ่านเลยไปจนประสบปัญหาด้านการเงินตามมา หากโครงการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน สุดท้ายแล้วอาจกลายเป็น อสังหาปิดตัว ก็เป็นได้ --- TerraBKK
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก