สถานการณ์ปัจจุบัน ฝุ่นละออง PM2.5 ทางกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) รายงานล่าสุดในวันที่ 21 ม.ค.2562 ระบุ จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่อากาศในช่วงเช้า อากาศลอยตัวไม่ดี มีสภาพอากาศปิด ลมสงบ ความเร็วลมส่วนใหญ่ต่ำกว่า 1.8 กม./ชม. มีหมอกในตอนเช้า ไม่มีฝน ส่งผลทำให้สถานการณ์ PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล คุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับ "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ" 


ด้านกรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติการทำฝนเทียมอีกครั้ง หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน น่าจะเกิดฝนตกในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลได้ในช่วงค่ำ ส่วนกลาโหมนำโดรนบินทดสอบโปรยละอองน้ำในพื้นที่สวนจตุจักร พบช่วยลดปริมาณฝุ่นพิษได้


กลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย โดยเฉพาะชาวกรุงที่ต้องประสบกับฝุ่นในตอนนี้ เมื่อฝุ่นละอองเต็มเมืองจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน จากปัญหาฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ยังเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่เข้าใจว่าคืออะไรนั้น แท้จริงแล้ว คือ ฝุ่นที่มีขนาดละเอียดมาก ขนาดเทียบเท่ากับแบคทีเรีย หรือเล็กเกินกว่าที่ขนจมูกของเราจะกรองได้ ซึ่งฝุ่นละอองระดับนี้ระบบป้องกันในร่างกายไม่สามารถดักจับได้ดีนัก ทำให้มีโอกาสเข้าสู่ร่างกายสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งปอด และหากจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อฝุ่นละออง มลภาวะต่างๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่ถูกต้อง คือ การดูแลตนเอง ซึ่งเป็นสิ่ง สสส.เน้นย้ำเสมอ หากเรามีสุขภาพแข็งแรง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคภัย และเกิดการเจ็บป่วยได้ยากขึ้น


จากสถานการณ์ฝุ่นที่ต้องเจอในปัจจุบัน การดูแลตนเองเป็นเรื่องสำคัญ ทางกรมควบคุมมลพิษ จึงออกมาตรการให้ประชาชนหันมารู้จักวิธีการป้องกันตนเอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำไว้ มี 5 มาตรการ "หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด" คือ


1.หลีกการสัมผัสฝุ่นละออง 
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้

2.ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันฝุ่นละออง หมั่นทำความสะอาดบ้านทุกวัน

3.ใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพ ในการกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้

4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงาน นานกว่า 12 ชั่วโมงในที่โล่งแจ้ง

5.ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว


กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีการใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ดังนี้


1.เลือกใช้หน้ากากอนามัยกันฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่ได้มาตรฐาน

2. ควรสวมหน้ากากให้กระชับกับใบหน้า กดส่วนที่เป็นโลหะให้กระชับแน่นกับสันจมูก

 3. เลือกขนาดที่เหมาะ ครอบได้กระชับกับจมูก และใต้คาง ควรแนบกับกับใบหน้า

4. ควรทิ้ง เมื่อพบว่าหายใจลำบาก หรือ ภายในหน้ากากสกปรก

5. หากเป็นไปได้ ควรเปลี่ยนหน้ากากอันใหม่ทุกวัน

6. ถ้าสวมใสแล้วมีอาการมึนงงหรือ คลื่นไส้ควรหลบไปอยู่ที่ที่ปลอดมลพิษอากาศ ถอดหน้ากากออกและปรึกษาแพทย์


นอกจากการรู้จักการป้องกันตัวเองวิธีการใส่ผ้าอนามัยที่ถูกต้องแล้ว การรู้จักประเภทของฝุ่นสาเหตุของฝุ่นนั้นก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรรู้เช่นกัน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดค่าฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกินมาตรฐานนั้น เกิดจากอะไรเพราะโดยทั่วไปแล้วฝุ่นละอองในอากาศมีขนาดตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา จะเป็นฝุ่นที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ทั้งในรูปแบบที่เรามองเห็นและมองแทบไม่เห็นอย่างฝุ่นละอองหรือฝุ่นที่มองเห็นเป็นสีดําอย่างเขม่า หมอกควัน ซึ่งฝุ่นเหล่านี้แยกย่อยออกเป็น 3 ประเภทดังนี้


1.ฝุ่นละอองรวม (Total SuspendedParticulate : TSP)
 มีอนุภาคขนาดเล็ก เกิดขึ้นตามภายในและนอกอาคาร โดยฝุ่นชนิดนี้ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน ฟืน แกลบ จะมีสารพิษที่เป็นอินทรีย์สาร และอนินทรีย์สารเป็นส่วนประกอบ

2.ฝุ่นหยาบ (Particutate Matter : PM10) มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เช่น ฝุ่นที่เกิดจากถนนที่ไม่ได้ ลาดยาง หรือโรงงานบดหิน เป็นต้น

3.ฝุ่นละเอียด (Particulate Matter : PM 2.5) มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจากควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม

เห็นไหมว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากฝีมือของมนุษย์เกือบทั้งสิ้น หากทุกคนมีความตระหนักรู้และร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะช่วยลดปัญหามลพิษอากาศได้ อาทิ เลี่ยงการใช้รถยนต์ถ้าไม่จำเป็น งดการเผาขยะมลพิษต่างๆ ในที่โล่ง ทำความสะอาดบ้านหรือพื้นที่ใช้สอยอยู่เสมอ เท่านี้ก็เป็นการกระทำง่ายๆ ที่เราจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยกลับมามีอากาศที่ดีขึ้นอีกครั้ง

ถึงแม้วันนี้ปัญหาฝุ่นจะยังอยู่กับเรา แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้ คือ การป้องกันและดูแลตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่เป็นผู้สร้างมลพิษ เท่านี้ก็อากาศก็จะดีห่างไกลโรคภัยได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.thaihealth.or.th