2 เดือน กับ การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ประเทศไทย


             นับจากช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 หลักจาก กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐานหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จวบจนวันนี้ราว 2 เดือนแล้วกับ ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เข้ามาปิดบังความสดใสของตัวเมืองกรุงเทพมหานคร TerraBKK ติดตาม การดำเนินการ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากหลากหลาย หน่วยงานภาครัฐ การร่วมมือของภาคเอกชน และ การปรับตัวของคนกรุงเทพ รายละเอียดดังนี้


การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อาทิ

  • เพิ่มความถี่ใน “การกวาดล้าง” ทำความสะอาดถนน และ “ฉีดพ่นน้ำ” ในอากาศตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. ทุกวันจนกว่าฝุ่นละอองจะลดลง
  • จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงาน” และแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อติดตาม, เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสถานการณ์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2561 ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน เม.ย. 2562
    ติดตามข่าวสารได้ที่ www.air4thai.pcd.go.th และ แอพพลิเคชั่น “Air4Thai" รวมทั้ง แอพพลิเคชั่นอากาศจากต่างประเทศ

การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จาก กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) อาทิ

  • ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ กรมฝนหลวง เพื่อปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 พร้อมตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อทำ “ฝนหลวง” ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ เช่น 15 มกราคม 2562 ได้ปฏิบัติการและฝนตกลงมาตั้งแต่เวลา 14.30 น.หลายพื้นที่ใน เป็นต้น

การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จาก กระทรวงคมนาคม อาทิ

  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปลี่ยนเชื้อเพลิงรถโดยสารจาก “น้ำมันดีเซล” เป็น “B20” โดยดำเนินการแล้ว 815 คัน เหลืออีก 1,260 คัน คาดว่าจะเสร็จในวันที่ 1 ก.พ. 2562
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปลี่ยนเชื้อเพลิงรถโดยสารจาก “น้ำมันดีเซล” เป็น “B20” ด้วย ซึ่งโดยดำเนินการแล้ว 106 คัน จากทั้งหมด 600 คัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 ก.พ. 2562
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปลี่ยนเชื้อเพลิงรถไฟเป็น “B10” ในวันที่ 1 ก.พ. 2562 และให้ทดลองใช้ B20 เพื่อขยายผลต่อไป
  • กรมเจ้าท่า (จท.) ตรวจจับควันดำเรือบริการในคลองแสนแสบ, แม่น้ำเจ้าพระยา และเรือท่องเที่ยว พบเรือบริการแสนแสบเกินมาตรฐาน 5 ลำ และ เรือด่วนเจ้าพระยา 3 ลำ พร้อมสั่งการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้มงวดผู้รับจ้าง “งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น” ระหว่าง 16-22 ม.ค. 2562 จัดรถดูดฝุ่น ล้างพื้นที่ก่อสร้าง พร้อม “งดเก็บค่าบริการอาคารจอดแล้วจร” รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม(สีม่วง) และรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) เพื่อส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น
  • หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ตรวจสอบการใช้เชื้อเพลิงในรถราชการ พร้อมลดการใช้รถที่ใช้น้ำมันดีเซลในทุกกรณี เน้นหน่วยงานในเขตกรุงเทพฯ และห้ามมิให้ติดเครื่องยนต์รถรอ
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ติดตั้ง “เครื่องปล่อยฝอยละอองน้ำ (High Pressure Water)” บริเวณทางแยกต่างระดับที่บางขุนเทียน เพื่อล้างและลดฝุ่นที่เกิดจากรถบรรทุก และให้มีการจัดการจราจรทุกด่านเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษให้มีความคล่องตัว


การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมาตรการฉีดพ่นน้ำลดฝุ่น อาทิ

  • ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร สั่งการใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงขนาดใหญ่ พ่นน้ำสูงกว่า 30 เมตร บริเวณหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชดาลที่ 6 ช่วงก่อนสิ้นปี 2561
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ชมรมโดรนเพื่อการเกษตรจาก นครราชสีมาและชัยภูมิ รถน้ำพร้อมอุปกรณ์จากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและสำนักสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติงานใน พื้นที่วิกฤต 6 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริเวณลานคนเมือง, บริเวณวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สวนจตุจักรห้าแยกลาดพร้าว, สวนลุมพินี, สะพานพระราม 9 ฝั่งพระนคร ในวันที่ 31 ม.ค. 2562
  • แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป “ฉีดละอองน้ำแบบสเปรย์” จากชั้นดาดฟ้าทุกโครงการทั่วกรุง 150 โครงการ ทุกวัน ตั้งแต่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา
  • อาคารเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ “ฉีดพ่นน้ำ” จากชั้น 29 โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส วันละ 2 รอบ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที โดยจะดำเนินการไปจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองจะดีขึ้น
  • สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. “ฉีดละอองน้ำจากหัวฉีดน้ำดับเพลิง” 2 หัว จากชั้น 36 อาคารธานีนพรัตน์ และ ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล รถ LUF 1 คัน, รถบรรทุกน้ำดับเพลิงขนาด 10,000 ลิตร 3 คัน และโดรนอีก 4 ลำ
  • สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ส่งหนังสือขอความร่วมมือเหล่าอาคารสูงกว่า 3,200 แห่ง และอาคารดำลังก่อสร้างราว 150 แห่ง “ร่วมฉีดพ่นละอองน้ำพร้อมกันทั่วกรุงเทพ” วันที่ 3 ก.พ. 2562 (9 โมงเช้า)
  • บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ โรงเรียนการบินกรุงเทพ (BAC) ปฏิบัติการนำ “เครื่องบินเล็ก 47 ลำ” ของโรงเรียนขึ้นบินและฉีดละอองน้ำที่มีขนาดเล็ก ในบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์วิกฤติ PM 2.5

การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยแจกหน้ากากอนามัย N95 อาทิ

  • กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแจกหน้ากาก N95 กว่า 10,000 ชิ้น
  • เดอะมอลล์ กรุ๊ป แจกหน้ากากอนามัย N95 รับได้ใน 8 สาขา ในวันที่ 1 ก.พ. 2562
  • ศูนย์การค้าเซ็นทรัล โดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แจกฟรีหน้ากากอนามัย N95 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 ก.พ. 2562 ทุกสาขาทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • เทสโก้ โลตัส แจกหน้ากากอนามัย N95 20,000 ชิ้น ให้กับประชาชนที่อาศัยใน 10 เขต ในวันที่ 17 ม.ค. 2562
  • สถานีบริการน้ำมันพีที แจกหน้ากากอนามัย N95 จำนวน 15,000 ชิ้น ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2562

การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยประกาศหยุดเรียนและทำงานที่บ้าน อาทิ

  • กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปิดสถานศึกษา 2 วัน (31 ม.ค.- 1 ก.พ. 2562) ในทุกระดับชั้น
  • บางบริษัทไอที อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้
  • กลุ่มธนาคารพาณิชย์ อนุญาตให้พนักงานผู้หญิงที่มีครรภ์ หรือมีโรคประจำตัวจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงภาวะฝุ่น หรือจำเป็นต้องดูแลบุตรที่ไม่สามารถไปเรียนตามปกติได้ หยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา มากน้อยตามแต่ธนาคารนั้น

              นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายไอเดีย การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ถูกนำเสนอจากแหล่งต่าง ๆ แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ อาทิ ฉีดละอองน้ำผสมกากน้ำตาลจับฝุ่นละอองในอากาศที่ถูกยกเลิกโครงการไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน , พ่นน้ำจากตึกใบหยก โดยนักวิชาการอธิบายว่า หากฉีดน้ำเป็นฝอยลงจากพี่สูง จะไม่ช่วยจับฝุ่นในอากาศได้ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือ เรื่องใหม่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้า คงถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องร่วมด้วยช่วยกัน --- TerraBKK.com

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก