ฆาตกรเงียบ ที่ชื่อ ‘ความดันโลหิตสูง’
ทำไมยิ่งโตก็ยิ่งพบว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่อยู่ประชิดตัวคนเรามากถึงมากที่สุด เมื่อโตขึ้นเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็จะได้สัมผัสการเป็นผู้ดูแลปู่ย่าตายาย ซึ่งในหลาย ๆ ครอบครัวพวกท่านอาจจะแข็งแรงดี เดินเหินเองได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ในครอบครัวจำนวนไม่น้อยพวกท่านก็อาจเป็นผู้ป่วยติดบ้านหรือติดเตียงจากความเจ็บป่วยของหลาย ๆ โรคที่คนส่วนใหญ่มักบอกลูกหลานอย่างเราว่า ‘โรคคนแก่’
หนึ่งในโรคที่เรียกว่าแทบจะเป็นโรคพื้นฐานแรก ๆ ก่อนจะพาคุณไปทำความรู้จักกับโรคที่จะตามมาอื่น ๆ นั่นก็คือ ‘ความดันโลหิตสูง’
ใช่..โรคความดันโลหิตสูงหรือที่ทุกคนเรียกกันว่าความดันสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กลุ่มโรค NCDs อย่าง มะเร็ง เบาหวาน ความดัน หัวใจ และอีกหลาย ๆ โรค
สำหรับในประเทศไทยพบตัวเลขข้อมูลอัตราการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงต่อประชากร 1 แสนคน จากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2556-2560) มีคนเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นจาก 12,342.14 คน เป็น 14,926.47 คน
ในส่วนของอัตราการป่วยรายใหม่ต่อประชากร 1 แสนคน ในรอบ ปี 2558-2560 ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารสุข พบข้อมูลว่า มีผู้ป่วยรายใหม่โรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นจากเดิม 916.89 คน เพิ่มเป็น 1,353.01 คน และจากรายงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายปี 2552 และ 2557 พบว่า พบความชุกของโรคของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4
“องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงขนานนามโรคความดันโลหิตสูงว่า ‘ฆาตกรเงียบ หรือ Silence Killer’” เตชิต เลิศอเนกวัฒนา หรือ โค้ชแม็ค นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ประจำเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยอธิบายถึงความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูง ว่า
“ความดันโลหิตสูง คือ ภาวะที่เลือดไหลเวียนผ่านหลอดเลือดโดยที่มีแรงดันสูงกว่าปกติ มักพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุแม้ในช่วงวัยกลางคนจะมีค่าความดันโลหิตปกติก็ตาม เกิดจากพฤติกรรมที่สะสมมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นหลังจาก 40 ปีขึ้นไป หลอดเลือดจะยิ่งแข็งขึ้น มีความยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้ความดันเพิ่มสูงขึ้นตาม”
‘พฤติกรรมการใช้ชีวิต’ ที่เป็นสาเหตุที่มีส่วนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
1.ติดกินเค็ม ทั้งจากเกลือและโซเดียมมีผลทำให้ความดันเลือดสูงโดยตรง หลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรต่าง ๆ จึงรณรงค์บริโภคลดเค็มครึ่งหนึ่งจากเดิม และ WHO กำหนดว่าคนเราควรกินโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน
2.ดื่มแอลกอฮอล์และสุรา
3.การสูบบุหรี่
4.ความเครียด ทำให้กระตุ้นความดันโลหิตสูงและเรื้อรัง
5.ยกของหนักมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นฉับพลัน
“มนุษย์เรามีหลอดเลือดอยู่ทั่วร่างกาย หากกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง หวาน มัน เค็มจัด หรือกินไขมันไม่ดี อาหารเหล่านั้นจะทำให้เลือดมีความหนาแน่นมีความดันสูงขึ้น จะซึมผ่านผนังหลอดเลือดเข้าไปเคลือบในหลอดเลือด ทำให้รูหลอดเลือดแคบลง เหมือนกับเวลาที่เราเปิดน้ำจากสายยางแล้วเอานิ้วไปอุดรูไว้ ก็จะทำให้น้ำพุ่งแรงขึ้น สิ่งที่ตามมาจากหลอดเลือดแคบก็คือหลอดเลือดถูกทำลายจากไขมันบางส่วนที่เกาะเป็นลิ่มย้อย ๆ หลุดมาตามแรงดันเลือดที่ไหลผ่าน และพัดเอาไขมันนั้นไปอุดกั้นที่เส้นเลือดอื่น เป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ทำให้คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีอีกหลายโรคตามมา เช่น เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต” โค้ชแม็ค อธิบายให้เห็นภาพตาม
โรคที่พ่วงตามมาจากความดันโลหิตสูง
1.ภาวะสมองขาดเลือด (Stroke) จะเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงในสมองเกิดการอุดตัน เมื่อขาดเลือดจะทำให้ขาดทั้งออกซิเจนและสารอาหารที่เลือดนำมา เนื้อเยื่อสมองจะตาย ซึ่งจะทำให้ผู้เป็นมีอาการสูญเสียการทำงานของอวัยวะที่ถูกควบคุมด้วยสมองสวนนั้น ภาวะสมองขาดเลือดยังอาจเกิดจากการที่ความดันเลือดสูงมากจนทำให้หลอดเลือดในสมองแตก
2.ตาบอด หรือการมองเห็นลดลงกว่าปกติ จะเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดเล็ก ๆ ในส่วนหลังของลูกตาเกิดตีบแคบ แตก หรืออุดตัน ทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของตาที่อยู่รอบๆ
3.หัวใจวาย จะเกิดเมื่อหลอดเลือดแดงของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตัน ทำให้บางส่วนของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการขาดสารอาหารและตายไป ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง
4.หัวใจล้มเหลว เป็นผลมาจากการที่หัวใจทำงานหนักมากเกินไปเป็นเวลานานเพื่อที่จะพยายามสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ หัวใจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่คล้ายหนังยางที่ใช้งานมากเกินไป และค่อย ๆ เสียความยืดหยุ่น ในที่สุดหัวใจจะมีขนาดโตขึ้น
5.ไตวาย เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดเล็ก ๆ ในไตเกิดอุดตัน ทำให้ไตหดตัวเล็กลงและรูปร่างเปลี่ยนไป ไตจะไม่สามารถทำหน้าที่ขจัดของเสียออกจากร่างกายได้อีกต่อไป เมื่อความรุนแรงของภาวะไตวายเพิ่มขึ้น ของเสียที่เป็นพิษต่อร่างกายก็จะสะสมเพิ่มขึ้นด้วย
ค่าความดันโลหิตต้องอ่านอย่างไร?
ปกติแล้วการวัดความดันจะมีตัวเลข 3 อย่าง คือ ตัวบน (SYS) คือตัวบอกแรงดันเลือดตอนหัวใจบีบตัว ตัวกลาง หรือที่ทุกคนเรียกกันว่าตัวล่าง (DIA) คือตัวบอกแรงดันเลือดตอนหัวใจคลาย ส่วนตัวล่างสุด (PULSE) คืออัตราการเต้นของหัวใจ
‘ตัวบน (SYS) ไม่ควรเกิน 140 ตัวล่าง (DIA) ไม่ควรเกิน 90 หากเกินจะถือว่าเป็นความดันโลหิตสูง’ ส่วนค่าความดันในระดับปกติคือ 120/80 หากมีค่าความดันโลโลหิตอยู่ที่ 130/85 อาจถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงจะเกิดโรค
ซึ่งในแต่ละวันค่าความดันของคนเราสามารถแกว่งได้ ก่อนจะวัดจึงควรนั่งพักให้นิ่งให้หายเหนื่อยก่อนสัก 5 นาที พยายามอย่าเครียด อย่าโมโห เพราะอารมณ์จะมีผลต่อค่าความดันโลหิตค่อนข้างมาก
‘ความดันโลหิตสูง’ ป้องกันได้ง่าย ๆ
1.ลดอาหารเค็ม ทานอาหารที่มีไฟเบอร์กากใยที่มีประโยชน์ช่วยการขับถ่ายแทน
2.เลี่ยงการดื่มสุรา
3.เลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือไม่สูดกลิ่นควันบุหรี่มือ 2
4.พักผ่อนให้เพียงพอ (บางคนมีความเชื่อว่าคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรพักผ่อนให้น้อย ๆเพราะเชื่อมโยงว่า เมื่อคนเรานอนน้อยแล้วจะทำให้ความดันเลือดต่ำ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง เมื่อตนเป็นความดันโลหิตสูงแล้วนอนน้อยจะทำให้ความดันเลือดต่ำจากเดิม ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด)
5.ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี
6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่องที่ความหนักปานกลาง ไม่หักโหมจนเกินไป
“การออกกำลังกายที่ใช้เวลานาน ๆ ช่วยทำให้ความดันโลหิตดีขึ้น ควรเน้นการออกกำลังกายในระดับปานกลาง ไม่หนักจนเกินไป ไม่ใช้การออกแรงที่มาก และทำอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที”
การออกกำลังกายในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เน้นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เป็นการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ในระดับทั่วไป (ผู้ที่กินยาลดความดันจะต้องระมัดระวัง เพราะอุปกรณ์จับอัตราการเต้นของหัวใจจะไม่สามารถจับได้ เนื่องจากการทำงานของยาไปกดการเต้นหัวใจอยู่ ผลจากยากลุ่ม Beta Blocker) จึงแนะนำให้กำหนดการออกกำลังกายแบบประเมินจากความหนักโดย RPE หรือ Rating of Perceived Exertion ก็คือการประเมินจากความรู้สึกเหนื่อย และความสามารถของร่างกายแทน ในส่วนของการออกกำลังกายแบบแรงต้าน ควรเน้นการหายใจขณะออกแรงที่ถูกต้อง (ออกแรงขณะหายใจออก) และควรใช้น้ำหนักที่เบาแต่เพิ่มจำนวนครั้งมาก ๆ
ข้อควรระวังสำหรับการออกกำลังกาย
ห้ามกลั้นหายใจขณะออกแรง ทั้งการยกของ ออกกำลังกาย หรือเข้าห้องน้ำ ต้องเปลี่ยนแปลงท่าทางอย่างช้า ๆ ป้องกันภาวะความดันตกเฉียบพลัน Orthostatic Hypotension เช่น ก้มหยิบของแล้วลุกขึ้นยืนเลย หรือนอนอยู่แล้วลุกขึ้นยืนเร็ว ๆ และ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบเกร็งค้าง Isometrix exercise เช่น ท่าแพล้งค์ หรือท่าที่ต้องเกร็งตัวไม่ขยับ
ดังนั้นหากมีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้สูงอายุในบ้านที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วก็ต้องให้ความสำคัญต่อการเลือกกินอาหาร ลดพฤติกรรมปัจจัยเสี่ยง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอควบคู่กับการกินยาตามคำสั่งแพทย์ด้วยนะคะ
แต่หากเป็นวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่ยังไม่ได้เป็นโรคนี้ก็อย่างเพิ่งชะล่าใจคิดว่ายังไงก็ไม่มีวันเป็น เพราะโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มพบผู้ป่วยหน้าใหม่ที่อายุน้อยลงมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพราะการป้องกันมีค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาน้อยกว่าค่ารักษาถึงหลายเท่า
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th