เป็นที่ฉงนสงสัยกัน ต้นไม้ดูดสารพิษอย่างไร แล้วยังปลูกในบ้านได้ด้วย ทั้งๆ ที่ตอนเด็กเคยร่ำเรียนกันมาว่าต้นไม้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในตอนกลางคืน จึงไม่ควรปลูกต้นไม้ไว้ภายในห้องโดยเฉพาะห้องนอน

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแนวคิดดั่งเดิมคืองานวิจัยของนาซ่าที่ค้นพบว่ามีต้นไม้บางชนิดที่สามารถดูดสารพิษ ช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ได้ ซึ่งมีหลายชนิดสามารถปลูกได้ทั้งในบ้านได้และนอกบ้าน และยังปลูกได้ดีในเมืองไทย เป็นต้นไม้พื้นถิ่นในเขตร้อนชื้น กระแสตื่นตัวกลายเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับการตกแต่งบ้าน เมื่อต้นไม้เหล่านั้นถูกจัดวางให้เป็นส่วนหนึ่งภายในห้องเช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์หรือพร๊อพเพิ่มความสวยงาม ซึ่งสาเหตุที่ต้นไม้สามารถดูดสารพิษในอากาศได้นั้นอธิบายแบบเข้าใจง่ายได้ว่า



 

1 ดูดสารพิษผ่านกระบวนการคายน้ำทางปากใบ ซึ่งต้นไม้ฟอกอากาศจะมีการคายน้ำที่สูงกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ในกระบวนการคายน้ำจะทำให้อุณหภูมิบนผิวใบไม้แตกต่างจากอากาศภายนอก เกิดการหมุนเวียนของอากาศรอบๆ ทำให้อากาศที่มีสารพิษไหลลงสู่บริเวณรากพืชที่มีจุลินทรีย์ที่ถูกดึงดูดไว้จำนวนมาก และจุลินทรีย์จะทำการย่อยสารพิษให้กลายเป็นอาหารของพืช

ดูดสารพิษผ่านการดูดน้ำจากราก ในการรดน้ำต้นไม้ที่บริเวณโคนต้น น้ำจะซึมลงรากแล้วต้นไม้จะดูดน้ำไปใช้ยังส่วนต่างๆอย่างรวดเร็ว ในกระบวนการนี้อากาศที่ประกอบไปด้วยออกซิเจน ไนโตรเจน และสารพิษที่ปนเปื้อนจะถูกดึงไปสู่ดินรอบๆ ราก จุลินทรีย์จะเปลี่ยนสารพิษที่มากับอากาศให้กลายเป็นอาหารของพืช

ดูดสารพิษผ่านการดูดอากาศ ในขณะเดียวกันนี้ เมื่อต้นไม้จะดูดอากาศที่ปนเปื้อนสารพิษเข้าทางปากใบ ส่งต่อไปยังราก จากรากไปสู่ดิน และจุลินทรีย์ที่อยู่รอบๆ รากจะย่อยสารพิษเหล่านั้น

นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราคุ้นเคยกันว่า ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซชนิดนี้แล้ว ยังมีสารพิษปนเปื้อนอีกหลายชนิดที่ปะปนอยู่ในบริเวณที่เราอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือออฟฟิศ ผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วสารพิษเหล่านั้นระเหยออกมาในอากาศ อย่างเช่น ฟอร์มาดีไฮต์ ไซลีน โทลูอีน เบนซิน แอมโมเนีย แอลกอฮอล์ สิ่งของที่มีส่วนของผสมของสารเคมีเหล่านี้

 

 

 

ต้นไม้ฟอกอากาศ สามารถปลูกได้ทั้งในบ้านและนอกบ้านมีหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ วาสนาอธิฐาน เยอร์บีร่า เบญจมาศ หน้าวัว โกสน จั๋ง เศรษฐีเรือนใน สับปะรดสี หมากเหลือง เศรษฐีเรือนแก้ว สาวน้อยประแป้ง เฟินบอสตัน เขียวหมื่นปี ยางอินเดีย เดหลี พลูด่าง ลิ้นมังกร ไอวี่ ฟิโลหูช้าง ฟิโลก้านแดง ฟิโลใบมะระกอ เสน่ห์จันทร์แดง ว่านหางจระเข้ เป็นต้น

ต้นไม้ฟอกอากาศเหมาะที่จะปลูกในบ้าน

 

ต้นไม้ฟอกอากาศเหมาะที่จะปลูกนอกบ้าน

หลักการวางต้นไม้ฟอกอากาศในบ้าน คือต้องเลือกวางในตำแหน่งที่มีแสงส่องถึงเพื่อให้ขบวนการฟอกอากาศของต้นไม้เต็มประสิทธิผล ไม่ว่าจะเป็นการคายน้ำ ดูดซึมน้ำ หรือดูดอากาศ และกระบวนการสังเคราะห์ก็ล้วนแต่ต้องใช้แสงแดดเป็นส่วนสำคัญ ส่วนระยะในการวางนั้น ให้คำนึงไว้ว่า เขตการหายใจของคนเราจะใช้พื้นที่ประมาณประมาณ 0.17-0.23 ลูกบาศก์เมตร หากวางต้นไม้ในเขตหายใจ ต้นไม้จะช่วยฟอกอากาศพิษจากร่างกายมนุษย์ได้ด้วย

 

สำหรับห้องนอน ซึ่งเป็นห้องที่เราต้องใช้ในตอนกลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่ต้นไม้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมานั้น  มีต้นไม้อยู่หลายชนิดที่คายก๊าซคาร์บอนฯในตอนกลางวันแล้วปล่อยออกซิเจนในตอนกลางคืน เช่น ลิ้นมังกร ว่านหางจระเข้ จึงเหมาะที่จะว่างอยู่ในตำแหน่งใกล้เตียงนอน แต่หากเป็นต้นไม้ชนิดอื่นสามารถวางในห้องนอนได้เช่นกันแต่ต้องมีระยะห่างให้พ้นกับเขตหายใจ

สำหรับพื้นที่นอกบ้าน อย่างในสวน มีต้นไม้หลายชนิดที่เลือกปลูกได้ หากเป็นต้นไม้ใหญ่จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี อย่างจามจุรี พญาสัตบรรณ ทั้งยังช่วยจับฝุ่นไม่ให้ปลิวเข้าสู่ภายในบ้านได้ดีด้วย ดังนั้น การจัดสวนหรือปลูกต้นไม้รอบบ้านจึงเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ต้นเหตุ ซึ่งหลายๆประเทศได้วิจัยแล้วว่าได้ผลจริง

 

เรื่อง JOMM YB

ภาพประกอบ อติยาฮ์ ศุภกุล

ข้อมูลอ้างอิง : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข /www.wur.nl /www.nectec.or.th

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.baanlaesuan.com