6 บทเรียนธุรกิจที่แมคโดนัลด์พร้อมเสิร์ฟอาหารให้สมอง
เบื้องหลังความสำเร็จของแมคโดนัลด์ (McDonald's) แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังก้องโลกที่มีสาขากระจายอยู่มากกว่า 35,000 สาขาใน 119 ประเทศทั่วโลก ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือ ความบังเอิญ แต่เกิดจากการวางรากฐานแนวคิดของธุรกิจอย่างเป็นระบบอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง
ย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้นของแมคโดนัลด์ ต้องบอกว่าเรื่องราวการสร้างแบรนด์เข้มข้น มีปมให้ลุ้นและคลี่คลายจนถึงขั้นมีการนำไปสร้างเป็นหนังมาแล้ว โดยใช้ชื่อเรื่องว่า The Founder เรื่องราวจะซับซ้อนแค่ไหน ต้องไปติดตาม แต่ในที่นี่จะขอสรุปเนื้อๆ เกี่ยวกับจุดกำเนิดของแมคโดนัลด์ว่าเริ่มต้นจากสองพี่น้องตระกูลแมคโดนัลด์ คือ ดิ๊กและแม็ค ในปี 1940 ทั้งคู่เริ่มต้นจากร้านขายอาหารที่เมืองซานเบอร์นาร์ดิโน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ร้านอาหารของทั้งคู่ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้จะโฟกัสขายอาหารเพียงไม่กี่รายการ ได้แก่ แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนซ์ฟรายด์ และมิลค์เชก แต่ภายใต้การบริการ เรียกว่า “Speedee Service System – ความรวดเร็วในการให้บริการ ก็ทำให้ลูกค้าติดอกติดใจ
อย่างไรก็ตาม บุคคลสำคัญที่ปั้นให้แมคโดนัลด์ยิ่งใหญ่และเป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกมากว่า 70 ปี ไม่ใช่สองพี่น้องตระกูลแมคโดนัลด์ แต่เป็น “เรย์ คร็อก” ซึ่งมาร่วมกิจการกับสองพี่น้องคู่นี้ในภายหลัง กลยุทธ์สำคัญของเขา คือ นำระบบธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มาใช้ ทั้งระบบการบริหารจัดการ การผลิตสินค้า การขายและการบริการลูกค้า
จากนี้ คือ 6 บทเรียนที่เรย์ คร็อก “ราชาแห่งแฮมเบอร์เกอร์” หรือ “บิดาแห่งธุรกิจอาหารจานด่วน” ไม่ได้บอกตรงๆ แต่เจ้าของธุรกิจที่กำลังเติบโต หรือ กำลังตั้งไข่สามารถเรียนรู้ได้จากวิธีคิด และวิธีบริหารแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จตามแบบฉบับแมคโดนัลด์
1.รักษามาตรฐาน หนึ่งในจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ลูกค้าทั่วโลกอุ่นใจที่จะเดินเข้าร้านที่มีโลโก้อักษรรูปตัว M สีเหลืองคุ้นตา คือ มาตรฐานของอาหารและประสบการณ์ที่จะได้รับว่าไม่มีผิดเพี้ยน วิสัยทัศน์นี้ถูกส่งต่อมาโดยเรย์ คร็อก ซึ่งเขาได้ตั้ง Hamburger University ในมลรัฐอิลลินอยส์ ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์เทรนนิ่งบุคคลกรของแมคโดนัลด์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ไม่ว่าจะไปใช้บริการสาขาไหนก็ได้คุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การให้บริการ คุณภาพและความสะอาด จนถึงปัจจุบัน ระบบเทรนนิ่งนี้ก็ยังมีอยู่ ซึ่งการรักษามาตรฐานของแบรนด์เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจควรให้ความสำคัญ เพราะมีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า ระบบเทรนนิ่งเพื่อสร้างมาตรฐานในองค์กร ไม่เพียงช่วยการันตีคุณภาพของสินค้าและบริหารของแบรนด์ แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย
2.ทำให้แบรนด์มีตัวตนในใจลูกค้า แมคโดนัลด์เป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่สร้างภาพจำในใจลูกค้าได้อย่างสตรอง แค่เห็นสีของโลโก้ ตัวอักษรรูปตัว M หรือ สโลแกน I’m Lovin ก็ชวนให้นึกถึง ที่มองข้ามไม่ได้ คือ แมคโดนัลด์ยังเก่งเรื่องการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ซึ่งแวะมาทีไรก็พาให้นึกถึงสมัยเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แม้หลายคนจะรู้ดีแก่ใจว่าฟาสต์ฟู้ดไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของสุขภาพ แต่ด้วยสายใยที่ผูกพันกับแบรนด์ ก็ยังตัดใจไม่ลง ต้องแวะมาซึมซับบรรยากาศเก่าๆ ดื่มด่ำกับรสชาติที่คุ้นเคยของเมนูที่เป็นพระเอกของร้าน อย่างเฟรนช์ฟรายด์ ซึ่งจุดแข็งของแมคโดนัลด์ในเรื่องนี้เองเป็นไม้ตายสำคัญที่ทำให้ลูกค้าของแมคโดนัลด์เป็นแฟนที่เหนียวแน่น
3.กล้าที่จะเสี่ยง ถึงจะเป็นแบรนด์ที่อายุยืนกว่า 70 ปี แต่แมคโดนัลด์ไม่กลัวที่จะต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น ที่เห็นชัดที่สุด คือ หลายปีที่ผ่านมา แมคโดนัลด์ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์เมนูอาหารเช้า เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเส้นทางของแมคโดนัลด์จะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะขึ้นชื่อว่าเสี่ยง ย่อมมีได้-มีเสีย ใครที่เป็นแฟนของแมคโดนัลด์คงรู้ดีกว่า แมคโดนัลด์ก็มีหลายเมนูที่ออกมาแล้วแป็กเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นเมนู McLobster หรือ McPizza แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ล้มเหลวก็แค่อุปสรรค สำคัญคือ ต้องก้าวต่อไปข้างหน้า
4.ปรับตัวไปตามเทรนด์ผู้บริโภค สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว เหตุผลที่แมคโดนัลด์ต้องยอมปรับบ้าง เพื่อให้ทันกับเทรนด์ผู้บริโภค ยกตัวอย่างการปรับเปลี่ยนบางเมนูให้เฮลตี้ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพที่มาแรงไม่พอ ยังออกเมนูเฉพาะเพื่อให้ถูกปากลูกค้าในแต่ละประเทศอีกด้วย
5.ใช้ศิลปะการขายแบบ Cross-selling แทนที่จะปิดการขายแบบเดิมๆ ที่พาให้ลูกค้าอึดอัด แมคโดนัลด์จะเรียกว่าเป็นเจ้าตำรับของการขายแบบ Cross-selling หรือ การขายสินค้า นอกเหนือจากที่ลูกค้าซื้อตามปกติ โดยแทนที่จะยัดเยียดสินค้าให้ลูกค้ารู้สึกอึดอัด แมคโดนัลด์ใช้กลยุทธ์รอให้ลูกค้าได้สั่งเมนูที่ต้องการก่อน จากนั้นจึงค่อยเสนอสินค้าที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ามากที่สุด นอกจากลูกค้าจะฟินแล้ว ยังได้ยอดขายเพิ่มด้วย
6.บริหารคนให้เป็น รู้หรือไม่ว่า 40%ของพนักงานระดับสูงของแมคโดนัลด์เติบโตมาจากการเป็นพนักงานรายชั่วโมงของร้าน เพราะแมคโดนัลด์ไม่ปล่อยให้ตัวเองเป็นเพียงทางผ่านของคนมีฝีมือ และพรสวรรค์ แต่เลือกที่จะให้โอกาสและผลักดันพนักงานที่มีแววเหล่านี้ ข้อดี คือ นอกจากองค์กรจะได้คนเก่งที่เข้าใจธุรกิจถึงแก่นมาร่วมงาน ยังลดอัตราการลาออกและได้ฟูมฟักให้พนักงานมีหัวใจเดียวกันในการนำพาองค์กรไปข้างหน้า
ทั้งหมดนี้คือ เทคนิคง่ายๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบแฟรนไชส์หรือไม่ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป