2 เม.ย. 2562 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือ กฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ ที่ประกาศลงราชกิจนุเบกษามีผลบังคับใช้แล้ว ว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้กรมสรรพากร สั่งให้ธนาคารส่งข้อมูลการทำธุรกรรม เพื่อไปตรวจสอบเก็บภาษี เพราะต่อให้ไม่มีกฎหมายดังกล่าว กรมฯ ก็มีอำนาจตรวจสอบได้อยู่แล้ว โดยข้อมูลที่ธนาคารส่งมา ไม่ใช่ข้อมูลที่จะนำไปคำนวณการเสียภาษี แต่กรมฯ ต้องการข้อมูล เพื่อมาประกอบการวิเคราะห์แยกแยะระหว่างผู้เสียภาษีถูกต้อง กับผู้ที่เลี่ยงภาษีเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยข่าวว่าจากนี้หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ให้เลี่ยงการโอนเงินเข้าธนาคารเพราะจะถูกตรวจสอบ และให้ไปใช้เงินสดมากขึ้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะกรมฯ มีนโยบายชัดเจนว่าจากนี้ ใครที่โอนเงินด้วยอีเพย์เมนต์ กรมฯ จะอำนวยความสะดวก ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนกับกรมสรรพากร และจากนี้ ใครใช้เงินสด ก็จะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะเข้าไปตรวจสอบมากขึ้น ซึ่งกรมฯ ได้มีการทำข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และแยกแยะฐานข้อมูลผู้เสียงภาษี (Risk Base Audit) ทำให้แยกข้อมูลผู้เลี่ยงภาษีได้แม่นยำมากขึ้น
“จากนี้ ใครที่ทำธุรกรรมการเงินด้วยอีเพย์เมนต์ กรมฯ ก็จะอำนวยความสะดวก เพราะถือว่าให้ข้อมูลครบถ้วน ใครที่ใช้เงินสดคือกลุ่มเสี่ยง ขอให้ทำอย่างตรงไปตรงมา อย่าเสี่ยงเพราะไม่คุ้มค่า ส่วนที่ไปแตกบัญชี 10 บัญชี จะถูกตรวจสอบมากขึ้น” นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ยังมีความเข้าใจผิดอีกเรื่องคือ กฎหมายอีเพย์เมนต์ จะเป็นการไปตั้งเป้าหมายเก็บภาษีผู้ค้าขายออนไลน์ ซึ่งขอย้ำว่ากรมฯ ไม่เคยตั้งเป้าหมายเก็บออนไลน์เป็นพิเศษ และได้ให้นโยบายว่า ธุรกรรมใด โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ที่หนีมาขายของออนไลน์ ก็ต้องเสียภาษี เพราะหน้าที่คนไทยต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษี ไม่อย่างนั้นก็หนีไปขายบนออนไลน์หมด
อย่างไรก็ดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเปิดงานสัมมนาให้ผู้ประกอบการมาลงทะเบียนบัญชีเดียว ว่า เป็นโอกาสสุดท้ายที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ทำบัญชีการเงินไม่ถูกต้อง มาปรับปรุงให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของตัวเอง โดยเฉพาะเวลาเอาไปขอกู้เงินกับสถาบันการเงินที่จะให้ใช้บัญชีที่ยื่นกับสรรพากรเท่านั้น โดยผู้ประกอบการที่มายื่นถูกต้องภายใน 30 มิ.ย. จะไม่เสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และย้ำว่าไม่ใช่การนิรโทษกรรมภาษี
“วันนี้ (1 เม.ย.) เป็นวันแรกที่เปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาลงทะเบียน ในการปรับงบการเงินให้ถูกต้อง หรือที่เรียกว่าการทำบัญชีเดียว แต่ในอดีตผิดพลาดไม่ได้ตั้งใจให้เข้ามาลงทะเบียนกับกรมสรรพากรจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2562 เชื่อว่าการทำบัญชีเดียวจะทำให้รู้สถานภาพที่แท้จริงของบริษัท และอย่าไปเชื่อว่ากรมสรรพากรไปลวงให้มาลงบัญชีแล้วไปตรวจสอบ แต่กรมฯ จะช่วยทำให้เข้มแข็งขึ้น” นายเอกนิติ กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net