อาการละเมอเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงคุณภาพการนอน ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดีนัก และการละเมอบางอย่างยังทำให้เกิดอันตรายได้มากกว่าที่ใครหลายคนคิด อย่างเช่นการละเมอเดินเป็นต้น เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

อาการละเมอขณะหลับ เกิดขึ้นในขณะที่สมองของคนเราหลับลึกและมีการเปลี่ยนแปลงแบบกระทันหัน โดยที่การเปลี่ยนแปลงนั้นคือมีคลื่นไฟฟ้าแบบการตื่นเข้ามาผสม ทำให้เวลาละเมอเป็นภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น มักเจอได้บ่อยในเด็ก จึงคาดว่าสาเหตุของการละเมอนั้นอาจมาจากสมองที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความเสี่ยงที่จะละเมอ

นอกจากเรื่องของพัฒนาการทางสมอง ในส่วนของพันธุกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเมอ หากพ่อแม่มีอาการละเมอ เด็กคนนั้นจะมีโอกาสละเมอมากกว่าคนอื่นเป็นเท่าตัว ส่วนปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการละเมอ ได้แก่ ความเจ็บป่วยบางอย่างทางกาย การใช้ยาบางชนิด ความเครียด รวมถึงโรคบางอย่างที่ทำให้การนอนหลับไม่เสถียร และมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ

โดยปกติแล้วขณะนอนหลับร่างกายคนเราจะเข้าสู่วงจรการนอน สู่การหลับลึกและหลับฝัน แต่เมื่อมีการละเมอเกิดขึ้น ภาวะการนอนจะเปลี่ยนแปลงเป็นการตื่น ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นระยะส่งผลให้คุณภาพการนอนลดลง

อาการของการละเมอ แบ่งตามระยะการหลับ ได้แก่ หลับไม่ลึกและหลับลึก หากเป็นระยะจากหลับไม่ลึกไปสู่การหลับลึก เรียกว่าระยะตาไม่กระตุก ส่วนระยะตากระตุกจะเป็นระยะหลับฝัน โดยการละเมอส่วนใหญ่เกิดในช่วงหลับลึกและหลับฝัน หากละเมอพูด ละเมอร้อง เหงื่อแตก ใจสั่น ละเมอเดิน มักเกิดในระยะหลับลึก ส่วนการละเมอในช่วงหลับฝันมักเป็นเหมือนฝันร้าย โดยตื่นขึ้นมาแล้วจำได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ธรรมดาหากฝันว่าเดิน วิ่ง หรือต่อสู้ ร่างกายจะมีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นจริง แต่ถ้ารายไหนมีการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะเดิน วิ่ง เตะ หรือต่อยเกิดขึ้นจริง ถือเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติขณะหลับ

โดยการละเมอเดินเป็นความผิดปกติระหว่างช่วงหลับลึกกับหลับตื้น กิจกรรมที่ทำมีตั้งแต่กิจกรรมง่าย ๆ ไปจนถึงกิจกรรมที่มีความซับซ้อน เช่น ละเมอขับรถ ละเมอมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอาการจะน้อยลงกว่าวัยเด็ก ยกเว้นมีปัจจัยอื่นมากระตุ้น เช่น เรื่องราวในชีวิต ความเครียด เป็นต้น ส่วนมากเกิดขึ้นขณะหลับลึก

ในส่วนใหญ่คนเราจะมีการหลับลึกเป็นรอบ ๆ จึงมีการละเมอเกิดขึ้นไม่เกินคืนละ 1-2 ครั้ง พบได้น้อยมากที่จะเกิด 3 ครั้งต่อคืน สำหรับอัตราการเกิดต่อสัปดาห์และเดือนจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละราย หากมีปัจจัยมากระตุ้นจะเกิดได้ค่อนข้างถี่ ผลกระทบที่ตามมาจากอาการละเมอคือวิตกกังวล เพราะคนกลุ่มนี้จะกังวลเมื่อตนเองต้องไปนอนที่อื่นที่ไม่ใช่บ้าน เช่น กิจกรรมค่ายพักแรม ส่วนผลกระทบที่ตามมานอกจากนี้ก็คือการมีปัญหากับคนในครอบครัว

ในคนที่มีอาการละเมอควรพบแพทย์ก็ต่อเมื่อสงสัยว่าอาการละเมอนั้นอาจไม่ใช่อาการละเมอที่แท้จริง แต่อาจเป็นอาการชักขณะหลับ สังเกตจากทั่วไปคนเราจะละเมอคืนละ 1-2 ครั้ง หากมากกว่านั้นอาจไม่ใช่การละเมอและควรพบแพทย์ นอกจากนี้ในส่วนของการละเมอเดินจัดเป็นภาวะที่ควรพบแพทย์เช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายสูงมาก

ในส่วนของการรักษา แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการละเมอ เช่น เครียด หรือการใช้ยา เป็นต้น แล้วรักษาตามสาเหตุ หากคนไข้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอื่นร่วมด้วย เช่น อาการนอนกรน เกิดการอุดกั้นการหายใจขณะหลับ ที่เป็นสาเหตุของการละเมอ ควรได้รับการประเมินและได้รับการรักษา อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจการนอนหลับร่วมด้วย หากพบว่าคนไข้มีอาการละเมอมาก แพทย์อาจให้ยาเพื่อลดการละเมอ

การป้องกันสามารถทำได้โดยการส่งเสริมสุขนิสัยการนอนที่ดี การนอนหลับที่เพียงพอ เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา เพื่อคุณภาพการนอนที่ดี ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการละเมอลง ทั้งนี้การรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของการนอนให้เหมาะกับการนอน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนและช่วยลดความเสี่ยงต่อการละเมอได

หากพบว่าสมาชิกในบ้านมีอาการละเมอควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เช่น การล็อคประตูเพื่อไม่ให้คนไข้เปิดประตูออกไปข้างนอกได้เมื่อเกิดการละเมอ หรือแขวนกระดิ่งไว้ที่ประตู เพื่อเตือนคนในบ้านเมื่อคนไข้มีอาการละเมอ และถ้าหากอาศัยอยู่คนเดียวและสงสัยว่าตนเองมีอาการละเมอควรพบแพทย์ ที่สำคัญที่สุดห้องนอนทุกห้องต้องปลอดภัย ไม่มีของมีคมหรือไม่มีอันตรายใด ๆ ช่วยลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นได้

ในกรณีที่ละเมอไม่มากและนาน ๆ ครั้ง ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ และไม่จำเป็นต้องปลุกให้ตื่น คนในบ้านอาจใช้วิธีกล่อมและพาไปนอนต่อได้ แต่ถ้าหากพบว่ามีอาการละเมอมากเช่นละเมอเดินหรืออื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวบุคคลนั้นได้ ควรรีบพบแพทย์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th