รฟท.เปิดช่อง 'ซีพี' แก้สัญญารถไฟไฮสปีดอีอีซีได้
15 พ.ค. 2562 นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่ารฟท.และฝ่ายเอกชนคู่เจรจาโครงการร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี วงเงิน2.2 แสนล้านบาท ได้แก่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร นั้นมีความเห็นตรงกันว่าสัญญาโครงการดังกล่าวนั้นสามารถแก้เงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาได้หลังจากที่ลงนามสัญญาและเริ่มต้นก่อสร้างรวมถึงการเริ่มเปิดให้บริการแล้ว ในช่วงเวลาตลอด 50 ปีตามอายุสัญญาสัมปทาน
สำหรับสาเหตุที่เปิดช่องให้สามารถแก้ไขสัญญาเนื่องจากเป็นความยุติธรรมที่ต้องให้กับเอกชนและป้องกันความเสี่ยงของภาครัฐในอนาคตหากเกิดเหตุไม่คาดคิด สำหรับเงื่อนไขการแก้สัญญานั้นระบุไว้ว่าเอกชนสามารถเสนอมาได้หากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติที่ส่งผลกระทบโดยตรง เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อของชาติ สภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและภาวะสงคราม เป็นต้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมเงื่อนไขกรณีตัวเลขรายได้และผู้โดยสารที่ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือต่ำกว่าที่ศึกษาไว้ เช่น หากผู้โดยสารน้อยกว่าตัวเลขที่คาด หรือรายได้น้อยกว่าที่ศึกษามา ปัจจัยดังกล่าวไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่จะอ้างนำไปสู่การแก้ไขสัญญา อย่างไรก็ตามเงื่อนไขการขยายอายุสัมปทานนั้นรฟท.จะขยายให้เฉพาะในกรณีที่ ขั้นตอนการส่งมอบพื้นที่ของรฟท.ช้ากว่าที่กำหนดกันไว้เท่านั้น
นายวรวุฒิกล่าวต่อว่าเมื่อมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขสัญญาแล้วต้องเสนอตามขั้นตอนไปยังคณะกรรมการดูแลโครงการ ก่อนเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงคมนาคมและผ่านไปยังฝ่ายนโยบายระดับสูงต่อไป ดังนั้นเอกชนไม่สามารถแก้ไขสัญญาได้ตามอำเภอใจ เพราะต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบความเหมาะสมจากหลายฝ่าย ทั้งนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชนผู้รับความเสี่ยง เช่นเดียวกับรฟท.ที่คงจะเกิดปัญหาเช่นกันหากโครงการต้องเจออุปสรรคขนาดใหญ่
นายวรวุฒิกล่าวต่อว่าสำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ รฟท.เตรียมเสนอความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการให้ที่ประชุมรับทราบ พร้อมเสนอขอเรื่องของการรับบุคลากรเพิ่ม 1,904 คนภายในปีนี้ตามแผนเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอของบประมาณในการจดทะเบียนบริษัทลูกด้านเดินรถ วงเงิน 3,400 ล้านบาท เพื่อนำไปเป็นเงินหมุนเวียนในการบริหารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ก่อนเสนอขอความเห็นชอบที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป
ทั้งนี้ตั้งเป้าจะเริ่มก่อตั้งบริษัทลูกดังกล่าวและบริษัทลูกด้านทรัพย์สินภายในเดือน มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามคาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแเงจะใช้เวลาคืนทุนหรือทำกำไรนานถึง 13-14 ปี (Break-even) เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่ค่อยๆเติบโตขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป กว่าจะถึงจุดืำกำไรต้องมีผู้โดยสารอย่างน้อย 80,000-90,000/ วัน
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net