ต่อให้ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ญี่ปุ่น แต่ใครที่เคยมีโอกาสไปเยือนแดนซามูไรต้องเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ “Don Quijote” (ดองกิโฮเต้) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Donki” (ดองกิ) ร้านดิสเคาน์สโตร์สะดวกซื้อ ที่ตั้งในย่านสำคัญของเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นมาบ้าง เพราะไม่ว่าแขกไปใครมาต้องแวะอาณาจักรสรรพสิ่งที่มีสินค้าหลากหลายหมวดหมู่ ตั้งแต่ขนมขบเคี้ยว ของกินเล่น เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงสินค้าหรูขาย จนกลายเป็นว่าถ้าจะถามว่า ที่ดองกี้มี…ขายมั้ย? คงต้องเปลี่ยนคำถามเป็นว่า มีอะไรที่ดองกี้ไม่มีขายบ้างดีกว่า

         แน่นอนว่า กว่าจะมาเป็นดิสเคาน์สโตร์ชื่อก้องโลกที่ล่าสุดขยายมาเปิดสาขาที่ทองหล่อ ดองกี้ก็มีจุดเริ่มต้นธุรกิจที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจไม่ต่างจากแบรนด์อื่นๆ เพราะขึ้นชื่อว่าโลกธุรกิจไม่มีคำว่าง่ายหรือฟลุค สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือ ดองกี้มีสูตรสร้างความสำเร็จให้กับแบรนด์อย่างไร ถึงได้ใจคนทั้งโลก

         1.โอกาสมีอยู่ทั่ว อยู่ที่ใครจะมองเห็น

         ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ถือกำเนิดขึ้นในปี 1978 โดย “ทาคาโอะ ยาสุดะ” ในเวลานั้นเขาเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจด้วยการเปิดร้านขายของขนาด 60 ตารางเมตร มีเวลาเปิด-ปิดเป็นเวลาเหมือนร้านค้าทั่วไป แต่ด้วยความที่ตอนเริ่มกิจการใหม่ๆ ร้านของเขามีจำนวนพนักงานไม่พอ ทำให้ยาสุดะต้องรับหน้าที่เป็นพนักงานกะดึก คอยเติมและจัดวางสินค้าใหม่หลังจากร้านปิดไปแล้ว ทำให้ลูกค้าหลงเข้าใจผิด คิดว่าร้านยังเปิดอยู่จึงเข้ามาใช้บริการบ่อยๆ จุดเล็กๆนี้เองได้จุดประกายไอเดียสุดบรรเจิดให้ยาสุดะตัดสินใจฉีกกฎของร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อนมักทยอยปิดร้านตั้งแต่หัวค่ำ ดึกสุดก็ 23.00น. แต่เขาเลือกขยายเวลาทำการถึงเที่ยงคืนหรือบางครั้งก็ล่วงไปถึงตี 3 อีกวัน

         ความกล้าที่จะต่างนี้ ทำให้ร้านของยาสุดะกลายเป็นร้านที่ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว สามารถทำสถิติสร้างยอดขายได้มากถึงปีละ 200 ล้านเยน ก่อนจะขยายกิจการ และพัฒนาเป็นร้าน “ดองกี้” แห่งแรกในปี 1989 และเติบโตเป็น “Don Quijote Holding” กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ที่ลงทุนหลากหลายธุรกิจ โดยเน้นที่ธุรกิจค้าปลีก และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

         2.สร้างวาไรตี้ให้ลูกค้า มาที่เดียวครบ!

         จุดเด่นที่เป็นที่กล่าวขานของดองกี้ทั่วญี่ปุ่น คือ มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย จนถ้ามีคนถามว่าร้านดองกี้ขายอะไร?? ก็มีมึนตอบไม่ถูกเหมือนกัน เพราะแทบจะมีครบทุกไอเท็มที่ขาช็อปไม่ว่าจะเป็นชาวญี่ปุ่นหรือนักท่องเที่ยวมองหา ทั้ง อาหาร ขนม เครื่องดื่ม เหล้า เครื่องสำอาง สินค้าตามฤดูกาลต่างๆ ของใช้ในชีวิตประจำวัน และอุปกรณ์กีฬา สินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเขียน จักรยาน ของเล่นและจิปาถะ         

         งานนี้แค่มีสินค้าหลากหลายยังไม่พอ แต่เทคนิคการจัดเรียงสินค้าหลากหลายประเภทและหลากหลายไอเท็มของดองกี้ก็น่าสนใจ เพราะแม้จะไม่ซับซ้อนแต่ใช้ได้จริง โดยดองกี้เลือกจัดเรียงของที่ขายง่ายราคาถูกอยู่ชั้นล่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า ส่วนของชิ้นใหญ่ราคาแพง ที่จำนวนคนแวะชมน้อย ก็เอาไปซ่อนไว้ชั้นบนๆ
 
         3.โลกไม่ได้หมุนรอบเถ้าแก่ จงปล่อยให้คนที่รู้จริงแสดงฝีมือ

         หนึ่งในเทคนิคการบริหารสาขาของร้านดองกี้ คือ แทนที่จะใช้วิธีถ่ายทอดทายาทโคลนนิ่งให้พนักงานเป็นยาสุดะเวอร์ชั่น 2 3 4 เขาไม่เสียเวลาทดลองวิธีนี้นาน เพราะเพียงแค่สาขาแรกเท่านั้นที่เขาเทรนพนักงานอย่างเข้มข้น หลังจากนั้นเขาเลือกจะปล่อยให้พนักงานประจำสาขาสามารถตัดสินใจในทุกเรื่อง ตั้งแต่การเลือกสินค้าเข้าร้าน การจัดซื้อ รวมไปถึงการตั้งราคาอีกด้วย เพราะมองว่า พนักงานประจำสาขาคือหนึ่งในคนที่รู้ดีที่สุดว่า ลูกค้าต้องการอะไร และสนใจที่จะซื้ออะไร ทำให้สินค้าของดองกี้ที่มีหลายร้อยสาขาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า มาแล้วไม่ผิดหวัง ต้องได้ของติดไม้ติดมือกลับไป

         นี่คือ 3 หมัดเด็ดที่ยาสุดะ ผู้ก่อตั้งร้านดิสเคาน์สโตร์ ที่มีดีกรีการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังในโตเกียว แต่เบนเข็มเอาเงินเก็บมาเปิดร้านสะดวกซื้อใช้เป็นคัมภีร์สร้างความสำเร็จให้บอกต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน