28 พ.ค. 2562 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.).เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการพีพีพี) นำเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพีพีพีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งหาก ครม.อนุมัติ รฟม.ก็จะเดินหน้าตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว เพื่อหาบริษัทเข้ามาก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทางประมาณ 13.4 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาทได้ทันที

          “เมื่อตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนขึ้นมาแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการดำเนินการ หลังจากนั้นจึงจะได้ตัวบริษัทที่ชนะการประกวดราคาและก่อสร้างประมาณต้นปี 2563”นายภคพงศ์กล่าว

          นายภคพงศ์กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว จะมีลักษณะคล้ายกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดยจะให้บริษัทที่ชนะเป็นผู้เดินรถตลอดทั้งเส้นทางจากมีนบุรี-บางขุนนนท์ ที่มีการก่อสร้างมาประมาณ 2 ปี โดยปัจจุบันการก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มีความคืบหน้าแล้วกว่า 30% ส่วนช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ทางบริษัทที่ชนะจะเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดไปก่อน จากนั้น รฟม.จึงจะทยอยจ่ายคืนเป็นระยะเวลา 10 ปี

          นายภคพงศ์กล่าวว่า ในส่วนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)นั้น ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน แต่มั่นใจว่าจะได้รับการอนุมัติทันตามกำหนดการที่วางไว้ เพราะขณะนี้ยังเหลือระยะเวลาอีกนานหลายเดือน

          นายภคพงศ์กล่าวว่า ตามแผนการดำเนินงานยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาผ่านอีไอเอแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอทางสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อน เพราะแนวเส้นทางการก่อสร้างบางส่วนต้องผ่านพื้นที่ดังกล่าว

          นายภคพงศ์กล่าวว่า ยังมีรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม)ในจังหวัดภูเก็ต ระยะแรก ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร(กม.) ที่อยู่ในแผนงานที่ รฟม.จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้ได้หารือกับกรมทางหลวง(ทล.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ รฟม.จะต้องเข้าไปดำเนินการก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้ว โดยสัปดาห์หน้าจะมีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนร่วมกันอีกครั้ง เบื้องต้นแนวเส้นทางจะมีทั้งทางยกระดับและทางลอดข้ามแยกต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้วงเงินเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นก็จะต้องหารือกับทางกระทรวงการคลังด้วย
“โครงการนี้เป็นแบบพีพีพี ดังนั้นจะต้องเสนอคณะกรรมการพีพีพี และ สคร.ด้วย ดังนั้นคาดว่าจะได้จะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2563 นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าเชียงใหม่ ที่มีแผนจะดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยการก่อสร้างจะล่าช้ากว่ารถไฟฟ้าภูเก็ตประมาณ 6 เดือน เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดโครงการอยู่”นายภคพงศ์กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net