เลิกฮัมเพลงเหงา แล้วมาเข้าใจพร้อมเจาะลึก “ตลาดคนเหงา”
ถ้าคุณรู้สึกตกใจกับผลสำรวจล่าสุดของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งพบว่าตัวเลขครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น 2 หมื่นเป็นคนเหงา! รู้ไว้เลยว่า วัยรุ่นไทยก็กำลังเผชิญหน้ากับคลื่นความเหงาที่ว่าไม่ต่างกัน
ล่าสุด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ได้เผยผลวิจัยที่สะเทือนวงการตลาดพอตัว ถึงเทรนด์ใหม่ของตลาดที่โลกธุรกิจต้องจับตามอง นั่นคือ การตลาดคนเหงา (Lonely Market) ซึ่งจากผลงานวิจัยฟ้องว่า ตัวเลขตลาดคนเหงาในประเทศไทยมีจำนวนสูงกว่า 26.75 ล้านคน ในจำนวนนี้วัยที่มาแรงแซงโค้งว่ามีภาวะความเหงาสูงสุด ได้แก่ วัยทำงาน คิดเป็น 34.7% และ วัยรุ่น 33 %
เพราะฉะนั้น “อารมณ์เหงา” จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป แต่มีอานุภาพมากพอที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากมาย มีหลายธุรกิจที่ตอบโจทย์คนเหงา
ถ้าไม่เชื่อลองไปท่องโลกสำรวจธุรกิจจะพบว่า ในต่างประเทศมีธุรกิจที่เจาะตลาดคนเหงามากมาย ไม่ว่าจะเป็นไอเท็มหุ่นยนต์สุดล้ำ แต่น่ารักในงาน CES 2019 อย่างเจ้า Kiki ที่หน้าตาน่าเอ็นดูไม่พอ ยังสามารถเรียนรู้และจดจำหน้าเจ้าของตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่เล่นกับเจ้าของได้ หรืออย่างในเกาหลีใต้มีธุรกิจทัวร์ที่ชื่อว่า “โอ้ มาย โอปป้า” (Oh My Oppas) เอาใจติ่งซีรีส์เกาหลีที่อยากจะมี “พี่ชาย” คอยดูแล โดยหนุ่มๆ จะพาเที่ยวในสไตล์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งทุกคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ขณะที่ห้างสรรพสินค้าในมณฑลเหอเป่ยของจีน จัดบริการพิเศษ ให้เช่าชายหนุ่ม เป็นเพื่อนเดินซื้อของ สำหรับลูกค้าที่มาช็อปปิ้งด้วยตัวคนเดียว
ข้ามมาฝั่งสหรัฐอเมริกา มีแอพพลิเคชั่น papa บริการ Grandkids on demand สำหรับเรียกผู้ดูแลรุ่นหลาน มาดูแลคนสูงวัย ในด้านต่างๆ ทั้งการช่วยเหลือในบ้าน การพาไปช็อปปิ้ง หรือพาไปพบแพทย์ นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่น People Walk เพื่อนร่วมออกกำลังกาย
สำหรับประเทศไทย ใครว่าไม่มี เพราะการขยายตัวของตลาดคนเหงาในประเทศไทยที่มีจำนวน 26.75 ล้านคน ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจรองรับความต้องการคนเหงาเติบโตเพิ่มขึ้น
ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดมุมมองในประเด็นนี้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์คนเหงา ได้แก่ ธุรกิจคอมมูนิตี้ อาทิ ร้านอาหาร คาเฟ่ บอร์ดเกมส์ ฯลฯ แต่ธุรกิจคอมมูนิตี้ ที่เอาใจคนเหงาและได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การพบปะไอดอล BNK 48 ผ่านกิจกรรมบัตรจับมือ ที่เหล่าโอตะยอมทุ่มเงินเพื่อพบไอดอลในดวงใจในช่วงเวลา 8 วินาที ถือเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ธุรกิจอสังหาฯ และโค-ลิฟวิ่ง สเปซ การแบ่งปันพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ธุรกิจดิจิทัล อาทิ แอพพลิเคชั่น ออนไลน์แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงธุรกิจสัตว์เลี้ยง ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ธุรกิจการให้บริการสัตว์เลี้ยง อาทิ โรงพยาบาล คลินิก สถานบริการรับฝากเลี้ยง โรงแรมที่พัก สปา ธุรกิจสินค้าอุปกรณ์ดูแลสัตว์เลี้ยง และธุรกิจท่องเที่ยว รูปแบบทัวร์อาสาต่างๆ
ถ้าอย่างนั้น เจ้าของธุรกิจ หรือนักการตลาดควรทำอย่างไร เพื่อมัดใจคนเหงา ซึ่งในงานเสวนาดังกล่าว ได้สรุปเป็นกลยุทธ์ C M M U ไว้ให้เลือกนำไปปรับใช้แล้ว
C: Circumstance สร้างบรรยากาศรอบตัว กลุ่มคนเหงามักต้องการคนเข้าใจและไม่อยากรู้สึกว่าอยู่เดียวดาย ดังนั้นผลิตภัณฑ์และบริการ อาทิ ธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ต้องรู้จักใช้พื้นที่พิเศษสำหรับคนเหงา
M: coMpanion สื่อสารเหมือนเพื่อน จากสถิติพบว่า 44.3% ของกลุ่มผู้มีภาวะความเหงา มักจะติดการใช้โซเชียลมีเดียตลอดทั้งวัน การทำการตลาดจึงควรเลือกสื่อสาร โปรโมต หรือสร้างกิจกรรมปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายผ่านโซเชียลมีเดีย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารที่เป็นมิตร สวมวิญญาณเพื่อนที่คอยให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา
M: forget Me not ไม่ลืมกลุ่มคนเหงา ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดพิเศษ รองรับกลุ่มคนเหงา ไม่ใช่จัดเฉพาะโปรโมชั่นลูกค้าเป็นกลุ่มเท่านั้น นอกจากจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้แล้ว ยังทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกไม่ถูกทอดทิ้ง
U: commUnity ส่งเสริมกิจกรรมร่วม เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ และจับกลุ่มรวมตัวขึ้น สร้างเป็นชุมชนพิเศษ เพื่อทำให้เกิดการบอกต่อ
โอกาสธุรกิจไม่ได้มีให้เห็นกันชัดๆบ่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากตกขบวน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือนักการตลาดอย่าเผลอมองข้ามลูกค้ากลุ่มนี้เป็นอันขาด