ปัญหาเรื่องกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ EU เป็นประเด็นที่ทำให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษต้องลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว 2 คน คนแรกคือนายเดวิด คาเมรอน ที่ลาออกในปี 2016 หลังจากผลการลงประชามติ ที่คนในสหราชอาณาจักร 51.9% หรือเสียงข้างมากกว่าเพียงแค่ 1.3 ล้านคน สนับสนุนการถอนตัวออกจากกลุ่ม EU ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ นางเทเรซา เมย์ ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อข้อตกลงการถอนตัวที่อังกฤษเจรจากับ EU มานานกว่า 2 ปี ไม่สามารถผ่านความเห็นชอบของสภาสามัญของอังกฤษ หลังจากเสนอครั้งแล้วครั้งเล่า

ส่วนพวกนักชาตินิยมและขบวนการประชานิยมในยุโรป ที่เดิมเคยเรียกร้องให้ประเทศตัวเองถอนตัวออกจากกลุ่ม EU หรืออย่างน้อยก็ออกจากกลุ่มเงินสกุลยูโร ก็หันมาใช้กลยุทธ์ที่จะก่อกบถจากภายใน โดยการลงสมัครเป็นตัวแทนในรัฐสภาของยุโรป ที่เพิ่งจะมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23-26 พฤษภาคมที่ผ่านมา คนพวกนี้หวังว่าการเข้าไปนั่งในรัฐสภายุโรปที่มีจำนวน 751 ที่นั่ง จะช่วยให้มีอำนาจกำหนดงบประมาณ ขัดขวางข้อตกลงการค้า หรือเลือกคนที่จะมาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของ EU เป็นต้น

ผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปที่ผ่านมา ปรากฏว่าความนิยมในพรรคกระแสหลักลดลง ส่วนความนิยมในพรรคกรีนและเสรีนิยมที่สนับสนุน EU เพิ่มขึ้น รวมทั้งความนิยมในพรรคชาตินิยมและประชานิยมที่ต่อต้าน EU ก็เพิ่มขึ้น ในอังกฤษ พรรคเบร็กซิต (Brexit Party) ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาในปีนี้ ได้รับเลือก 29 ที่นั่งจากทั้งหมด 73 ที่นั่ง ด้วยคะแนนเสียง 30.5% แต่ในกรณีอังกฤษ เนื่องจากจะถอนตัวออกจาก EU ยังไม่ชัดเจนว่าจะจบลงอย่างไร การเลือกตั้งรัฐสภายุโรปของอังกฤษจึงเป็นการวัดความนิยมต่อพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงาน

ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2019/05/16/europe/european-elections-everything-you-need-to-know-intl/index.html


ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์ The Guardian ก็รายงานข่าวว่า จากการสำรวจความเห็นของสถาบันวิจัยชื่อว่า The European Council on Foreign Relations คนยุโรปกว่าครึ่งหนึ่งเห็นว่า กลุ่ม EU จะล่มสลายภายในช่วงเวลาหนึ่งอายุคนในอนาคตข้างหน้า แม้ว่าเสียงสนับสนุน EU ในปัจจุบันจะมีมากแบบไม่เคยมีมาก่อนก็ตาม คนส่วนใหญ่ในเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สโลวาเกีย โรมาเนีย กรีซ สาธารณรัฐเช็ก และโปแลนด์ คิดว่าการแตกสลายของกลุ่ม EU คือ “ความเป็นไปได้ที่มีความเป็นจริง” ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

วิกฤติของมหาอำนาจอียู

EU เป็นกลุ่มพันธมิตรระหว่างประเทศของชาติต่างๆ ในยุโรป กลุ่ม EU มีเป้าหมายการดำเนินงานที่ใช้อำนาจที่เรียกว่า “อำนาจอ่อน” (soft power) เพื่อมากำหนดทิศทางการพัฒนาของยุโรป การรวมตัวของ 28 ประเทศ ทำให้ EU กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

EU จึงเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่สุดและมั่งคั่งสุดของโลก มีสัดส่วนเศรษฐกิจเท่ากับ 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจโลก ฐานะยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของ EU ยังเสริมด้วยการมีมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีที่สุดในโลก และการมีระบบสวัสดิการด้านสังคมที่มีการพัฒนามากที่สุด จนกลายเป็น “โมเดลรัฐสวัสดิการแบบยุโรป”

จากขนาดกับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และระบบสวัสดิการที่พัฒนามากสุด ทำให้กลุ่ม EU พุ่งขึ้นมาเป็นพลังสำคัญของเศรษฐกิจโลกและการเมืองระหว่างประเทศ ในปี 2012 กลุ่ม EU ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพราะคุณูปการ “ในระยะกว่าหกทศวรรษ ที่มีต่อความก้าวหน้าด้านสันติภาพกับความปองดอง ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในยุโรป”

หนังสือชื่อ A Concise History of Modern Europe (2019) เขียนไว้ว่า การเติบโตของกลุ่ม EU เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาและความตึงเครียดระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “การขยายกลุ่มให้กว้างออกไป” กับ “การทำให้กลุ่มรวมตัวกันลึกมากขึ้น” การขยายสมาชิก EU ไปสู่ประเทศในยุโรปที่มีฐานะเศรษฐกิจต่ำกว่า และยังขาดประสบการณ์ด้านการเมืองประชาธิปไตย ทำให้เป็นเรื่องยาก ที่สมาชิก EU 28 ประเทศจะมีความเป็นเอกภาพด้านนโยบาย

นโยบายของ EU เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีข้ามพรมแดนภายในกลุ่ม พัฒนามาถึงจุดแตกหักเมื่อคนจากอดีตประเทศในยุโรปตะวันออกหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในประเทศยุโรปที่มั่งคั่งมากกว่า ในปี 2006 ปีเดียว คนโปแลนด์เกือบ 3 แสนคนย้ายออกมาอยู่ในประเทศ EU อื่นๆ การอพยพแรงงานดังกล่าว แม้จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นเติบโต แต่ก็สร้างความขัดแย้งกับคนท้องถิ่น และเกิดกระแสต่อต้านผู้อพยพ

วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 สร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับกลุ่ม EU โดยเฉพาะประเทศที่มั่งคั่งน้อยกว่าทางใต้ยุโรป เช่น อิตาลี สเปน โปตุเกส และกรีซ ปี 2010 หนี้สินของกรีซมีมากกว่าที่กฎระเบียบของ EU อนุญาตถึง 4 เท่าตัว ในปี 2012 กลุ่ม EU ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา คือ กลไกเสถียรภาพยุโรป (European Stability Mechanism) เพื่อเป็นกองทุนที่จะเข้าไปช่วยเหลือสมาชิก EU ที่มีปัญหาทางการเงิน แต่ก็ต้องทำตามเงื่อนไข คือการลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐ และใช้มาตรการเข้มงวดอื่นๆ เมื่อถึงปี 2014 ปัญหาวิกฤติเฉพาะหน้าของกรีซก็ผ่านไปได้

แต่การฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจของ EU ก็ตามมาด้วยเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความอยู่รอดของกลุ่ม EU คือ คลื่นการอพยพของคนจากตะวันออกกลาง และการถอนตัวของสหราชอาณาจักร ก่อนหน้านี้ EU มีปัญหาผู้อพยพแบบถูกกฎหมายจากยุโรปตะวันออกไปยุโรปตะวันตก แต่ครั้งนี้เป็นผู้อพยพที่ผิดกฎหมายที่มาจากภายนอก โดยเฉพาะจากประเทศอาหรับและแอฟริกา ปัญหานี้มาถึงจุดสูงสุดในปี 2015 และ 2016 เมื่อมีผู้อพยพแต่ละปีกว่า 1 ล้านคนพยายามข้ามพรมแดนเข้ามายัง EU โดยเฉพาะมายังเยอรมันที่มีนโยบาย “เปิดพรมแดน”

การอ่อนตัวของเศรษฐกิจหลังจากเกิดวิกฤติปี 2008 ทำให้คนในกลุ่ม EU เกิดความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพ รวมทั้งเกิดความคิดแบบชาตินิยมและกระแสต่อต้าน EU แต่ในท่ามกลางวิกฤติจากการหลั่งไหลของผู้อพยพจากภายนอก EU ก็เผชิญกับเหตุการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น เมื่อคนในสหราชอาณาจักรลงประชามติในเดือนมิถุนายน 2016 ถอนตัวออกจาก EU ที่เรียกกันว่า “เบร็กซิต” (Brexit) ซึ่งเป็นคำย่อที่มาจาก Britain และ Exit

ตามสนธิสัญญาลิสบอน ที่เปรียบเหมือนเป็นรัฐธรรมนูญของ EU กำหนดให้มีกระบวนการที่มีระยะเวลา 2 ปี ในอันที่สมาชิกจะถอนตัวจากออกจากกลุ่ม อังกฤษแจ้งเป็นทางการว่าจะเริ่มกระบวนการนี้นับจากวันที่ 29 มีนาคม 2017 จากนั้น สองฝ่ายก็เจรจาเงื่อนไขการถอนตัว ที่จะทำให้การออกจาก EU มีผลในวันที่ 29 มีนาคม 2019 แต่การออกจาก EU ของอังกฤษก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอังกฤษเป็นสมาชิกมาตั้งแต่ปี 1973 ส่วนการเป็นตลาดเดียวของ EU เกิดขึ้นในปี 1992 ที่ให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีด้านสินค้า การบริการ เงินทุน และแรงงาน ในหมู่ประเทศสมาชิก แต่จนถึงขณะนี้ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเด็นที่กระทบคนจำนวนหลายล้านคน ทั้งคนอังกฤษที่ทำงานอยู่ในยุโรป และคนยุโรปที่ทำงานอยู่ในอังกฤษ

ที่มาภาพ : https://www.bbc.com/news/world-europe-48417191?intlink_from_url=https://www.bbc.com/news/topics/c7zzdg3pmgpt/european-elections-2019&link_location=live-reporting-story

หากโลกไม่มีกลุ่มอียู

สิ่งที่ถือเป็นมงกุฎเพชรของกลุ่ม EU คือ ตลาดเดียว (single market) ที่มีการเคลื่อนย้ายเสรีด้านสินค้า การบริการ เงินทุน และแรงงาน ตลาดเดียวของ EU เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกในเรื่องความมั่งคั่ง แม้แต่พวกที่หวาดระแวงกลุ่ม EU ก็ยอมรับคุณประโยชน์ของ EU ในเรื่องนี้ หากไม่มีกลุ่ม EU ยุโรปจะมีสภาพเป็นตลาดที่กระจัดกระจายของ 28 ประเทศ แม้จีนกับอินเดียจะเป็นตลาดที่มีประชากรมากกว่า แต่ตลาด EU ที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคน เป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีรายได้เหลือใช้สูงสุดในโลก

ผู้บริโภคในยุโรปเป็นกลุ่มคนหลักที่ได้รับประโยชน์จากกฎระเบียบในเรื่องตลาดเดียวของ EU กฎระเบียบการคุ้มครองผู้บริโภคของ EU ยังกลายเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศอื่น อย่างเช่นเรื่อง การปกป้องสิทธิของผู้โดยสาร ในการเดินทางทางอากาศ ที่ประกอบด้วยสิทธิการได้รับข้อมูลเมื่อเที่ยวบินเลื่อนออกไป การได้รับการชดเชย กรณีสายการบินขายที่นั่งเกินจำนวน การยกเลิกเที่ยวบิน และกรณีเที่ยวบินล่าช้า เป็นต้น

หนังสือชื่อ Why Europe Matters for Britain (2016) เขียนไว้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่า หากไม่มีกลุ่มอียูแล้ว โลกเราจะเสียอะไรไปบ้าง อย่างเช่น การที่ประเทศต่างๆ จะมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคคงจะใช้เวลานานมากขึ้น แต่เป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะคาดการณ์ว่า หากอังกฤษออกจาก EU จะสูญเสียอะไร ที่ชัดเจนก็คือ อังกฤษจะไม่ใช่แหล่งการลงทุนของบริษัทต่างๆ ที่ต้องการจะเข้าสู่ตลาดเดียวของ EU อีกต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org