เอาความกล้ามาจากไหน? เปิดตำราความสำเร็จ “หัวเว่ย” มังกรที่คิดจะต่อกรกับยักษ์ที่ชื่อ “อเมริกา”
เอาความกล้ามาจากไหน? เปิดตำราความสำเร็จ “หัวเว่ย” มังกรที่คิดจะต่อกรกับยักษ์ที่ชื่อ “อเมริกา”
ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกสายตาทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ลุกลามกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech war) เมื่อแบรนด์ไอทีจากแดนมังกรอย่าง “หัวเว่ย” ไม่ยอมก้มหัวให้สหรัฐฯอีกต่อไป งานนี้สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าหนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัย โดยเฉพาะคนนอกวงการที่เริ่มหันมาติดตามข่าวนี้สงสัยคงหนีไม่พ้น “หัวเว่ย ไปเอาความกล้ามาจากไหน ถึงริต่อกรกับพี่เบิ้มอย่างสหรัฐ และอะไรทำให้พี่เบิ้มต้องควันออกหูขนาดนี้?
หนึ่งในเหตุผลสำคัญมาจากความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของหัวเว่ยที่ทะยานขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ จนทำให้พี่เบิ้มไม่อาจมองข้ามไม่พอ แต่การเติบโตอย่างแข็งแรงของหัวเว่ย จนขึ้นแท่นเป็นแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในจีน และมีมูลค่าบริษัทติด Top 100 ของโลก ยังทำให้แบรนด์ไอทีที่อายุเพิ่งจะ 30 กว่าๆ พกพาความกล้าที่จะยืนหยัดต่อกรกับสหรัฐแบบไม่หวั่นเกรง แต่ถ้าอยากรู้ว่า เคล็ดลับความสำเร็จของหัวเว่ยมาจากไหน ไปเปิดตำราบริหารแบรนด์ฉบับหัวเว่ยพร้อมๆ กัน
1.สร้างธุรกิจบนฐานที่มั่นคงและหยั่งรากลึก แม้คนทั้งโลกจะรู้จัก หัวเว่ย ในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟน แต่ถ้าย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ในปี 1987 ซึ่งก่อตั้งโดยเหริน เจิ้งเฟย อดีตนายทหาร พร้อมพลพรรคอีก 6 คนในเมืองเซินเจิ้น กลับเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ และค่อยๆ เติบโตขึ้นตามสัดส่วนการเติบโตของประชากรจีน ก่อนจะต่อยอดมาสู่ธุรกิจอื่นๆ
หนึ่งในข้อได้เปรียบของหัวเว่ย คือ มาถูกที่ ถูกเวลา เพราะช่วงที่หัวเว่ยก่อตั้งนั้น เป็นจังหวะที่ความเจริญกำลังขยายไปทั่วประเทศจีนทำให้ความต้องการในการใช้เครือข่ายระบบการสื่อสารเป็นที่ต้องการในหลายเมืองใหญ่ ซึ่งอย่างที่ทราบว่า ประชากรจีนมีจำนวนมหาศาล จากการคาดการณ์ของแมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี (McKinsey & Company) เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก ระบุว่า ในปี 2030 จีนจะมีประชากรแตะพันล้านคน และ ในปี 2025 ใน 221 เมืองของจีนจะมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน จากดีมานด์ดังกล่าวไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมหัวเว่ยถึงขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีทีท่าจะแผ่ว
ปัจจุบันหัวเว่ยไม่ได้เป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ที่ให้บริการแค่ในประเทศ แต่ยังให้บริการมากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก สร้างบริการให้กับประชากรทั่วโลกถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด แม้จะยังไม่ใช่เบอร์ 1 ในตลาด แต่ก็ครองส่วนแบ่งการตลาดระดับท็อปทรี
2.ตราบที่โลกไม่หยุดหมุน หัวเว่ยก็ไม่หยุดพัฒนา หัวเว่ยได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพื่อให้เห็นภาพ ในปี 2016 หัวเว่ยยอมตัดรายได้ 14.6% เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนา โดยตั้งศูนย์วิจัยของตัวเองถึง 15 แห่ง และ ยังร่วมงานกับ Innovation Center ทั่วโลกอีกกว่า 30 แห่ง เพราะเชื่อในพลังของการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างถึงแก่น ตั้งแต่ดีไซน์ ฟังก์ชั่น และนวัตกรรมล้ำๆ ที่ผู้บริโภคมองหา
3.ใช้ระบบซีอีโอหมุนเวียน แทนที่จะแต่งตั้งซีอีโอเพื่อกุมบังเหียนองค์กรเพียงหนึ่งเดียว หัวเว่ยเลือกใช้วิธีหมุนเวียนซีอีโอ ทุก 6 เดือน โดยใช้ระบบโหวตจากพนักงานกว่า 80,000 คน เพื่อเลือกตัวแทน 60 คน สำหรับไปเลือกแคนดิเดตเพื่อจัดตั้งทีมคณะกรรมการเพื่อเป็นบอร์ดคัดคณะซีอีโออีกที ขณะที่เหรินเจิ้งเฟยยังเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเช่นเดิม
ที่มาของกลยุทธ์นี้ ว่ากันว่ามาจากการศึกษาพฤติกรรมการเป็นจ่าฝูงของสัตว์ 2 ชนิด ได้แก่ ฝูงควายป่าที่มีจ่าฝูงเพียง 1 เดียวเป็นหัวหน้า เมื่อหัวหน้าไปทางไหนหรือตัดสินใจอย่างไร ตัวอื่นในฝูงก็จะทำตามอย่างไร้ข้อกังขา แต่เมื่อใดที่หัวหน้าตายไป ฝูงจะเกิดความวุ่นวาย ซ้ำร้ายอาจสูญสลายตามไป ขณะที่ฝูงนก หากสังเกตให้ดีจะพบว่า พวกมันจะบินเป็นรูปตัววี โดยนกตัวที่บินอยู่ปลายแหลมของตัววีคือนกจ่าฝูงที่คอยนำทางตัวอื่นๆ แต่มันไม่ได้ทำหน้าที่นี้อยู่เพียงลำพัง เมื่อใดที่เริ่มอ่อนกำลัง นกตัวอื่นจะผลัดขึ้นมาทำหน้าที่นี้แทน ซึ่งเหริน เจิ้งเฟ่ยเลือกบริหารงานแบบนกที่มีการกระจายกำลังกันทำงานอย่างเป็นระบบเพราะเขาไม่ต้องการให้บริษัทต้องขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียวเท่านั้น
4.ให้ใจไม่พอ ให้หุ้นไปเลย ปิดท้ายด้วยกลยุทธ์สุดแปลกที่ต้องบอกว่าเอาใจไปเลย หลายคนไม่รู้ว่าหัวเว่ยไม่ได้เป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหุ้น เพราะไม่ต้องการให้ผู้ถือหุ้นเข้ามาแทรกแซงจุดยืนของบริษัทที่เป็นกุญแจสร้างความสำเร็จให้กับแบรนด์ ในทางกลับกัน เขาเลือกซื้อใจพนักงานด้วยการให้เป็นเจ้าของบริษัทร่วมกัน เพราแม้จะเป็นผู้ก่อตั้ง แต่เหริน เจิ้งเฟยถือหุ้นของบริษัทเพียง 1.4% นอกนั้นเขายกให้พนักงานที่ทำงานได้ดีเต็มศักยภาพ เพื่อหวังซื้อใจพนักงานกลุ่มนี้ให้ทำงานให้บริษัทด้วยการสวมหัวใจเจ้าของไม่ใช่พนักงานที่รอรับเงินเดือน
นี่คือ กลยุทธ์เสริมคอนกรีตให้แบรนด์แข็งแกร่ง จนไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมถึงสามารถผงาดเป็นแบรนด์ที่คนทั้งโลกต้องรู้จัก และ ทำให้สหรัฐฯ เต้นได้ขนาดนี้