"เสียงที่อยากให้คุณได้ยิน"

เมื่อความหลากหลายทางเพศ ถูกบีบให้สร้างเงื่อนไขความแตกต่างที่เหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการมีสุขภาวะ อะไรคือกลไกสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ อะไรคือจุดตรงกลางที่ความเท่าเทียมจะปรากฏ หรือทั้งหมดอยู่ที่ทัศนคติและความคิดของคนในสังคม?

จุดเริ่มต้นของความไม่เท่าเทียมที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสุขภาวะ การถูกตีตราเพราะเสียงที่เปล่งออกมาไม่มีใครได้ยิน หรืออาจจะได้ยินแต่ขาดการฟังอย่างเข้าใจลึกซึ้ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่ฟังเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยินในเสวนาเชิงปฏิบัติการณ์ “สร้างกลไกความเป็นธรรม เมื่อความเป็นเพศ (หลากหลาย) ทำให้เราไม่เท่ากัน” ในงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ (Voice of the voiceless : the vulnerable populations) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน และเปิดพื้นที่รับฟังเสียงที่แผ่วเบาของประชากลุ่มเฉพาะ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกันทุกคน อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่ตนเอง

“จุดเริ่มต้น” ของความไม่เท่าเทียม

คุณโน๊ต เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พูดถึงจุดเริ่มต้นของความไม่เท่ากันในกลไกของความเป็นธรรมเอาไว้ว่า “สิ่งที่ทำให้ไม่เท่ากัน เริ่มมาจากความคิดความเชื่อของคนในสังคมที่คิดว่าโลกใบนี้มีแต่ผู้หญิงและผู้ชาย ทำให้การออกแบบสวัสดิการ กฎหมาย นโยบายต่าง ๆ รองรับเพียงแค่ความเชื่อ แต่แท้จริงแล้วเราอยู่ในยุคของความหลากหลายทางเพศที่ไม่ได้มีแค่ผู้หญิงและผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีทัศนคติที่มองว่า ความเป็นผู้หญิงและผู้ชายคือสิ่งปกติ อะไรที่ผิดไปจากที่สังคมคาดหวังคือสิ่งผิดปกติ ทัศนคติเหล่านี้ก็ทำให้มองคนไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน”

เสียงที่อยากให้คุณได้ยิน thaihealth

(โน๊ต เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน)

เมื่อความเป็นเพศ (หลากหลาย) ทำให้เราไม่เท่ากัน คุณโน๊ต ได้ให้ความเห็นว่า นโยบายและกฎหมายที่ออกแบบมาไม่เอื้อต่อความเท่าเทียม รวมถึงทัศนคติของคนในสังคม ทำให้เกิดความแตกต่างและไม่เท่ากัน ทางด้าน อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาวะ ได้ขยายภาพให้กว้างขึ้นโดยแสดงความคิดเห็นว่า “ความไม่เท่าเทียมมักเกิดจากการตัดสินความเป็นมนุษย์ที่คนในสังคมมองว่า เขามีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนอื่นในสังคมที่เป็นหญิงชาย อันเนื่องมาจากว่า ‘เขา’ มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง”

“ความเป็นมนุษย์นี่แหละที่เป็นกรอบที่ใหญ่ที่สุด ความเป็นมนุษย์ของความเป็นเพศหลากหลายถูกตัดสินจากอัตลักษณ์ทางเพศ หรือสิ่งที่สังคมมองเข้ามาแล้วพบว่าบุคคลนั้นไม่ได้อยู่ในกล่องของเพศหญิงหรือชาย” อาจารย์แอน ขยายความต่อว่า ความเป็นมนุษย์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกัน สามารถนำไปสู่การกระทำความรุนแรงในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะการถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงจิตวิญญาณ

เสียงที่อยากให้คุณได้ยิน thaihealth

(ดร.ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาวะ)

“สุขภาพ” ที่ไม่เท่ากัน

ในแง่มุมมองสุขภาพ คุณโน๊ต ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่พบเจอเป็นประจำว่า “หากคนข้ามเพศป่วย แม้ว่าจะศัลยกรรมเปลี่ยนเพศแล้วแต่ด้วยคำนำหน้าที่เป็น ‘นาย’ ทำให้ต้องเข้าไปนอนรวมในห้องผู้ป่วยชาย ก็จะทำให้รู้สึกไม่สะดวกใจ ไม่สบายใจ ทำให้คนข้ามเพศไม่อยากเข้าสู่ระบบสุขภาพของรัฐ ต้องเก็บเงินทำงานหนักเพื่อใช้บริการห้องส่วนตัวหรือเข้าสู่บริการภาคเอกชนเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติแบบผู้หญิง”

“การศัลยกรรมเปลี่ยนเพศ ถูกมองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดในลักษณะที่มีความจำเป็นที่ต้องให้ประกันสังคมเข้ามาดูแลหรือเยียวยา” อาจารย์แอน อธิบายต่อว่า ทุกวันนี้ยังขาดสวัสดิการในมิติสุขภาพที่เป็นธรรม ขาดระบบประกันสังคมที่เอื้อต่อความต้องการในอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างให้เชื่อมโยงกับมิติสุขภาพ เพราะผู้หญิงหรือผู้ชายข้ามเพศอาจมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลเนื้อตัวหรือร่างกายเป็นพิเศษกว่า เพราะผ่านกระบวนการศัลยกรรมเปลี่ยนเพศมา ซึ่งสิทธิประกันสังคม บัตรทองหรือว่าอื่น ๆ มันไม่ได้สนับสนุนการรักษาพยาบาลอันเป็นสิทธิการคุ้มครองพื้นฐาน

เสียงที่อยากให้คุณได้ยิน thaihealth

“เสี่ยง” เพราะยังไม่รองรับ

คุณโน๊ต เล่าว่า การเข้าถึงฮอร์โมน การทำศัลยกรรมหน้าอก หรือการเปลี่ยนเพศถือเป็นข้อจำกัด เพราะยังไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยง การที่ทุกคนสามารถเข้าถึงยาฮอร์โมนได้ง่าย ไม่ว่าจะผ่านร้านขายยา สั่งตามอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งตลาดมืด ทำให้ไม่มีการควบคุมความปลอดภัยและมาตรฐาน รวมไปถึงการมีอยู่ของหมอกระเป๋าทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบตามมา และสุดท้าย้มื่อเกิดความผิดพลาดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เป็นสวัสดิการจากรัฐบาล จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนให้การเข้าถึงยาและบริการทางสุขภาพ อาทิ ยาฮอร์โมน การทำศัลยกรรม ให้มีมาตรฐาน ปลอดภัย และสามารถเข้าถึงได้

เสียงที่อยากให้คุณได้ยิน thaihealth

“การตีตรา” ทำให้แตกต่าง

“กลุ่มหลากหลายทางเพศมักจะถูกสังคมมองในลักษณะเหมารวมมากกว่ากลุ่มชายหญิงที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะค่านิยม ทัศนคติ หรือฐานคิดของคนในสังคมมักมองว่าเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติ” อาจารย์แอน อธิบายต่อว่า เมื่อกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐก็อาจถูกปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน

“ดังนั้นการที่ ‘เขา’ เจ็บป่วยอันเนื่องมาจากสาเหตุตรงนี้ แทนที่จะได้รับการดูแลในลักษณะที่เป็นธรรม และได้รับการปฏิบัติแบบหญิงชายทั่วไป อาจทำให้กลุ่มเหล่านี้ไม่กล้าที่จะเข้ารับการรักษา เพราะอึดอัดใจที่จะต้องเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศแก่หมอหรือพยาบาล และกังวลว่าจะถูกตัดสินในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม”

“คนที่ยังไม่ coming out หรือที่ยังไม่เปิดเผยตัวตน อาจมีสภาวะของอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อันเนื่องมาจากผลกระทบจากจิตใจที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว สังคม โรงเรียน ชุมชน ถือเป็นบาดแผลที่รุนแรงมากที่สุด” อาจารย์แอน เพิ่มเติมว่า “คนที่มีลักษณะแบบนี้อาจนำไปสู่การสร้างพลเมืองที่อ่อนแอเพียงเพราะว่าไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกปฏิเสธการมีตัวตนมาโดยตลอด”

เสียงที่อยากให้คุณได้ยิน thaihealth

เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน

“เราพบเห็นกลุ่มหลากหลายทางเพศมากมายในสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะในสื่อบันเทิง เราคิดว่าคนได้ยินเสียงเรา” ในมุมมองของผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุณโน๊ต บอกกับเราว่า “คนได้ยินเสียงของพวกเราแต่ว่ายังไม่เห็นความสำคัญ หรือยังไม่ได้ฟังอย่างลึกซึ้ง การได้มาของเสียงนั้นจะต้องเผชิญกับความกดดัน การบีบบังคับ เผชิญกับสถานการณ์ทางสังคมที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมาฝ่าฟันอุปสรรคขนาดไหน”

คุณโน๊ต เล่าว่า “หากฟังเสียงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อยากให้ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้เห็นว่าต้องเผชิญแรงเสียดทาน เผชิญกับปัญหาเรื่องอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย กว่าจะเติบโตมาอยู่ในปัจจุบัน หลายคนต้องออกจากครอบครัว หลายคนหนีออกจากบ้านเพื่อตามหาฝัน บางคนถูกบังคับ ถูกพาไปบำบัดเพื่อให้กลับมาเป็นเพศที่สังคมคาดหวัง บางคนต้องออกจากสถานศึกษาเพราะไม่สามารถเรียนต่อได้เนื่องจากเพื่อนแกล้ง โดนครูบอกว่าการเป็นกะเทย เป็นสิ่งไม่ดี เป็นต้น”

“เราไม่ค่อยได้ยินเสียงจากโลกภายนอก หรือเสียงจากชายหญิง เพราะกลุ่มหลากหลายทางเพศต้องการ ‘เพื่อน’” ในมุมของ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาวะ อาจารย์แอน บอกว่า เพื่อนในที่นี้คือ เพื่อนที่ยอมรับ ที่โอบกอดด้วยความรัก เพื่อนที่สามารถ Speak out หรือพูดแทนกลุ่มหลากหลายทางเพศได้ “ไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพแบบไหน เราคือกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น ส่งเสียงเหล่านี้แทนเพื่อนของเราที่เป็น LGBT เพราะเขาคือเพื่อนของเรา”   

คุณโน๊ต เล่าทิ้งท้ายว่า “อยากให้ทุกคนลองฟังเสียงให้ลงลึก เราจะพบว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการสิ่งพิเศษนอกจากหญิงและชายเลย สิทธิหรือบริการต่าง ๆ ที่เราต้องการ เป็นแบบเดียวกับสิ่งที่มีในเพศชายเพศหญิง เพียงแค่อยากให้มองเห็นเราในฐานที่เป็นประชากร เป็นพลเมืองเท่านั้นเอง”

เสียงที่อยากให้คุณได้ยิน thaihealth

เดือนมิถุนายนถือเป็นเดือนแห่ง Pride หรือ Pride Month (เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ) มาร่วมกันรณรงค์ช่วยกันเปล่งเสียงให้ทุกคนได้ยินปัญหาของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ในการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ให้เท่าเทียมกับทุกคน เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นในสังคม สสส. และภาคีเครือข่ายจึงสร้างองค์ความรู้ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ

เพราะทุกคนคือเพื่อน ทุกคนมีความหลากหลาย
และเป็นพลเมืองที่สามารถขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง]

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th