ค่าเงินบาทแข็ง ดีหรือร้าย?
ค่าเงินบาทแข็ง ดีหรือร้าย?
เป็นเวลากว่า 1 ปี ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 จนกระทั่งวันนี้ ที่ ค่าเงินบาท ยังคงมีทีท่าว่าจะแข็งตัวอย่างต่อเนื่องไม่มีอ่อนกำลัง โดยจาก กรกฎาคม 2561 ค่าเงินบาท อยู่ที่ระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ในวันนี้ (8 กรกฎาคม 2562) ค่าเงินบาท แข็งถึง 30.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ออกทริปต่างประเทศ ต้องรีบแลกเงิน
สำหรับผู้ที่เตรียมตัวไปเที่ยวต่างประเทศ คงกำลังนั่งยิ้มกริ่ม เตรียมเงินบาทไปแลกเป็นสกุลเงินต่างประเทศกันทีละหนักๆจนเหมือนกับได้ส่วนลดพิเศษกันเลยทีเดียว โดยพบว่ายอดจองของ ตลาดนักท่องเที่ยวขาออก (Outbound) ของไทยในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 10.8-11 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับปี 2561 และิคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปและตุรกี อาทิ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ที่มียอดการเดินทางเพิ่มขึ้นถึง 10-20%
และสำหรับจุดหมายปลายทางยอดฮิตของคนไทยอย่างประเทศญี่ปุ่น ก็ยังคงมีกระแสจองที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) รายงานว่า ยอดนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น มีมากกว่า 512,700 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 19.4%
นักท่องเที่ยวลด ส่งออกก็กระทบ
สำหรับประเทศไทย ที่เป็นกลุ่ม Emerging Country ถือเป็นแหล่งลงทุนชั้นดีในสายตาต่างประเทศ เนื่องจากการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets : EMs) มักให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการมีเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยเป็นบวกมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น เป็นไปตามหลัก Demand & Supply นั่นเอง
การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออกของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 56% โดยมีการประเมินว่ายอดการส่งออกของไทย อาจลดลงหรือเพิ่มไม่เกิน 3%
ผลกระทบนั้นมาจากสินค้าดูเหมือนว่ามีราคาแพงขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วเกิดมาจากการเปลี่ยนเป็นเงินบาทนั้นมีมูลค่าลดน้อยลง เช่น จากเมื่อปีที่แล้วที่สามารถขายสินค้า 1 ชิ้น ราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ ได้เป็นเงิน 34 บาท แต่ปัจจุบันราคาเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทแล้วเหลือเพียง 30 บาทเท่านั้น
สำหรับรายได้หลักอีกด้านของไทยอย่าง การท่องเที่ยว ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยพบว่าการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นลดลง โดยเมื่อเทียบกับการเติบโตในปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤษภาคม เติบโตขึ้นจากปี 2560 ถึง 11.84% แต่เมื่อเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่ มกราคม-พฤษภาคม ของปี 2561 และ 2562 แล้ว พบว่าเติบโตขึ้นเพียง 1.58% เท่านั้น - เทอร์ร่า บีเคเค