“เอสเอ็มอีไทย” อยู่ตรงไหนใน “อีอีซี-ตลาดโลก”?
โครงการเมกะโปรเจคอย่าง “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ อีอีซี เป็นโครงการในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ที่มุ่งหวังจะยกระดับอุตสาหกรรมของไทยไปอีกขั้น และเพื่อกระตุ้นการลงทุนใหม่ๆของภาคเอกชน หลังจากชะงักมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โครงการดังกล่าวสามารถเทียบเคียงกับการลงทุนในยุค “โชติช่วงชัชวาล” ที่ริเริ่มโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่นำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสมัยนั้น โดยโครงการอีอีซีจะมุ่งไปที่อุตสาหกรรมยุคใหม่ 10 อุตสาหกรรม เน้นไปที่อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, การบินและโลจิสติกส์, การแพยท์ครบวงจร, เทคโนโลยีชีวภาพ, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น
ปัจจุบันการประมูลโครงการหรือออกระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยแบ่งเป็นส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
ขณะที่อีกส่วนจะเน้นสิทธิประโยชน์กับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd)
คำถามสำคัญประการหนึ่งคือภายใต้สิทธิประโยชน์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออกครั้งนี้ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้อะไรจากการลงทุนเมกะโปรเจคบ้าง? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงบทบาทของธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยที่ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย เพราะทั้งจำนวนธุรกิจที่มีประมาณ 900,000 ราย และปริมาณการจ้างงานของเอสเอ็มอีมีสัดส่วนกว่า 80% ของแรงงานไทย
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้เคยสัมภาษณ์ นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics ถึงการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ของเอสเอ็มอีไทย ว่าแท้จริงแล้วเอสเอ็มอีไทยมีลักษณะอย่างไร อยู่ที่ไหน และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของประเทศไทยหรือไม่
นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics
- “นริศ สถาผลเดชา” TMB Analytics วิเคราะห์ Big Data เอสเอ็มอี 900,000 ราย ทำธุรกิจแบบไม่คิดเผื่อจะโต
ล่าสุดสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์นายนริศ สถาผลเดชา อีกครั้งเพื่อเจาะลึกโครงสร้างและบทบาทของ “เอสเอ็มอีไทย” ว่าจะมีช่องว่างให้แทรกตัวเข้าไปทำธุรกรรมในห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชนใน EEC หรือไม่อย่างไร จะเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้หรือไม่ หรือจะถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลังอีกครั้ง
รายได้ธุรกิจไทยกระจุกตัว – รายได้ “อีอีซี” 93% กระจุกรายใหญ่
นายนริศเล่าถึงภาพรวมของธุรกิจไทยว่าจากข้อมูลนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์พบว่าธุรกิจไทยที่ยังดำเนินกิจการและส่งรายงานข้อมูลครบถ้วน มีจำนวนทั้งสิ้น 356,000 ราย สร้างรายได้รวมกันปีละกว่า 38 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากแบ่งตามขนาดของธุรกิจพบว่า 72% ของรายได้ธุรกิจไทยทั้งหมด หรือประมาณ 27.6 ล้านล้านบาท ตกอยู่กับบริษัทใหญ่เพียง 4,304 แห่ง ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางมีรายได้ 19% ของรายได้ทั้งหมด หรือประมาณ 7.3 ล้านล้านบาท มีจำนวน 25,294 แห่ง และธุรกิจขนาดเล็กมีรายได้เพียง 9% ของรายได้ทั้งหมด หรือ 3.4 ล้านล้านบาท มีจำนวน 326,156 แห่ง
หากเจาะลึกลงมาในพื้นที่อีอีซี พบว่ามีธุรกิจอยู่เพียง 5,456 ราย สร้างรายได้รวม 11 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ 999 แห่ง สร้างรายได้รวมประมาณ 93% ของรายได้ธุรกิจทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี หรือประมาณ 10.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางมีเพียง 1,869 แห่ง สร้างรายได้ 678,718 ล้านบาท และธุรกิจขนาดเล็ก 2,588 แห่ง สร้างรายได้ 83,700 ล้านบาท รวมกัน(ขนาดกลาง-ขนาดเล็ก)แล้วมีรายได้ประมาณ 7% เท่านั้น
“จริงๆมีหลายประเด็น แต่วันนี้คนพูดกันเยอะเรื่องอีอีซี คำถามแล้วเอสเอ็มอีได้อะไรจากอีอีซี พอดูจากโครงสร้างแบบนี้ เราไปชลบุรีไประยอง เวลาพูดเรื่องอีอีซีกับเอสเอ็มอีแทบไม่ได้สนใจ เขาสนใจเพียงว่าจะไปซื้อคอนโดที่ไหนดีจะได้ปล่อยเช่าได้ แต่เขาไม่รู้ว่าประโยชน์จากโครงการอีอีซีจริงๆคืออะไรบ้าง โครงการอีอีซีด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งโอเคเวลาพูดออกไปข้างนอก(ต่างประเทศ) แต่เวลาพูดกับเอสเอ็มอี มันไกลตัวออกไป อีกด้านในเชิงที่เป็นเม็ดเงินลงทุนจริงๆ มันก็ดูเอื้อธุรกิจใหญ่ๆ ถ้าดูรายชื่ออุตสาหกรรมที่ลงทุนเยอะที่สุด เช่น กลุ่มปิโตรเคมีก็มีกลุ่มใหญ่อยู่1-2 กลุ่ม ยานยนต์ก็มีบริษัทญี่ปุ่น จนมาถึงท่องเที่ยวค่อยกระจายตัวบ้าง จากภาพดังกล่าวนี้ ก็กระตุ้นให้ TMB ทำเครื่องมือขึ้นมา เพื่อดูว่าแล้วมีอะไรสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าเรา แล้วมีอะไรที่จะช่วยให้เขาแตะมือเข้ามาได้มากขึ้น ให้เห็นว่ามันมีโอกาส” นายนริศ กล่าว
“อีอีซี” สิทธิประโยชน์ไม่เชื่อมโยง “เอสเอ็มอี”
นายนริศ กล่าวต่อว่าจากข้อมูลที่ได้รวบรวมในแง่ของโครงสร้างประเภทธุรกิจ พบความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยหากดูโครงสร้างธุรกิจทั้งประเทศ อุตสาหกรรมหลักคือยานยนต์ที่สร้างรายได้ถึง 4.4 ล้านล้านบาทต่อปี รองลงมาคืออุตสาหกรรมพลังงาน สร้างรายได้ 2.9 ล้านล้านบาท อุตสาหกรรมค้าปลีก 2.1 ล้านล้านบาท ปิโตรเคมี 1.7 ล้านล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มใหญ่สุดคืออุตสาหกรรมค้าปลีก มีรายได้รวม 710,000 ล้านบาทต่อปี รองลงมาจะเป็นอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและยานยนต์ที่มีรายได้ประมาณอุตสาหกรรมละ 600,000 ล้านบาท การซื้อขายเครื่องจักร มีรายได้ประมาณ 470,000 ล้านบาท ธุรกิจบริการ มีรายได้ประมาณ 410,000 ล้านบาท
หากเจาะลงมาที่พื้นที่อีอีซี ภาพความแตกต่างระหว่างธุรกิจยิ่งชัดเจนมากขึ้น โดยธุรกิจในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด อุตสาหกรรมหลักคือพลังงานและยานยนต์ มีรายได้อุตสาหกรรมละ 2.6 ล้านล้านบาท รองลงมาคือปิโตรเคมี 1.1 ล้านล้านบาท อุตสาหกรรมค้าปลีก 600,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างละ 400,000 ล้านบาท
และถ้าเจาะลงไปเฉพาะเอสเอ็มอีในพื้นที่อีอีซี รายได้อันดับแรกคืออุตสาหกรรมยานยนต์ที่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ต่างๆ เช่นอะไหล่ ชิ้นส่วน แต่พอดูอุตสาหกรรมรองลงมาหน้าตาจะเปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ที่มีรายได้ 90,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเป็นอุตสาหกรรมไทยแน่นอน คงไม่มีบริษัทข้ามชาติมาลงทุนเปิดบริษัทถุงขวดพลาสติก อีกกลุ่มคืออุตสาหกรรมเหล็ก มีรายได้ 80,000 ล้านบาท เช่น ผลิตน็อต ชิ้นส่วนเหล็ก พวกเครื่องจักรหรือก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มีรายได้รวม 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางทำ อาทิ ชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น
“จะเห็นว่าภาพมันแตกต่างกันไปเลย อันนี้มันเป็นปัญหาของโครงสร้างเอสเอ็มอีไทย จากที่กล่าวข้างต้นภาพธรุกิจขนาดใหญ่คือกลุ่มยานยนต์ พลังงาน ค้าปลีกขนาดใหญ่ ปิโตรเคมี แต่พอมาดูว่าโครงสร้างเอสเอ็มอีทั้งหมดทำอะไร หลักๆคือทำธุรกิจค้าปลีกพวกสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นลักษณะซื้อมาขายไป ทำวัสดุก่อสร้าง กลุ่มเหล่านี้ถูกการแข่งขันจากรายใหญ่เข้ามาเรื่อยๆ รวมทั้ง e-Commerce ตรงนี้ก็เป็นปัญหาแล้วว่าเอสเอ็มอีกว่าครึ่ง ทำธุรกิจซื้อมาขายไป ดังนั้นผมมองว่าในโครงการอีอีซี ธุรกิจอุตสาหกรรมยังมีโอกาสเยอะพอสมควร คืออย่างน้อยมันมีอยู่ 4,500 บริษัท ถ้าเอาบริษัทต่างชาติออกไป ก็ยังเหลืออีก 3,477 ที่เป็นบริษัทไทย มีรายได้รวม 481,000 ล้านบาท เรายอมรับว่าระดับรายได้ ไม่เยอะที่สุด แต่มันมีเม็ดเงิน มีโอกาสที่จะเติบโตได้ ถ้าวันนี้คุณสมบัติอาจจะไม่เข้าข่ายของโครงการอีอีซี แต่ก็มีคำถามว่าอนาคตคุณควรจะวางแผนธุรกิจได้ เพราะคุณอยู่ในพื้นที่อีอีซี มันก็ต้องสร้างการตระหนักว่า ถ้าไม่ใช่วันนี้ วันหน้าต้องไปให้ได้ คงไม่มีใครทำธุรกิจแล้วคิดจะปิด” นายนริศ กล่าว
หนุนรัฐบาลเข้าหาเอสเอ็มอี ยังมีโอกาสโตอีกมาก
นายนริศกล่าวต่อถึงสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลทั้งจากการส่งเสริมการลงทุนและการอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจะได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8-13 ปี หลังจากนั้นอีก 3 ปีได้ลดภาษีอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทใหญ่ๆได้รับสิทธิประโยชน์ อัตราภาษีที่แท้จริงอยู่ที่ 7 % เปรียบเทียบกับเอสเอ็มอีในระบบต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลอยู่ 20%
“เรา roadshow โครงการอีอีซีกับนักลงทุนต่างประเทศ แต่ไม่ได้ roadshow โครงการอีอีซีให้เอสเอ็มอีไทย ผมว่าเป็นช่องว่าง การไปชักชวนนักลงทุนต่างชาติเพราะโครงการต้องการเม็ดเงินที่ใหญ่พอสมควรตอนเริ่มต้น แต่เมื่อตรงนั้นทำได้แล้ว ผมว่าถึงเวลามาหาข้างในบ้าง ไม่ได้บอกว่าให้ไปขายโครงการอีอีซีกับร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่ชลบุรี แต่ยังมีกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กของไทยที่พอจะเข้าข่าย มีศักยภาพอยู่ ก็ดึงเขาขึ้นไปได้ด้วย มันมีโอกาสอยู่ เราอยากเห็นเอสเอ็มอีโต ลูกค้าเราโตขึ้น ดีขึ้น ใหญ่ขึ้น อยู่รอดมากขึ้น ได้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมกันมากขึ้น” นายนริศกล่าว
จากข้อมูลพบว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่อยู่ในพื้นที่อีอีซีที่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจำนวน 2,482 แห่ง มีรายได้รวม 271,887 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมอันดับ 1 คือยานยนต์ มีรายได้รวม 30,000 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมเหล็ก มีรายได้ 27,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง มีรายได้ 24,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ มีรายได้ 19,000 ล้านบาท เป็นต้น(ดูข้อมูลด้านล่าง)
โครงสร้าง “เอสเอ็มอีไทย” ซื้อมาขายไป เน้นนำเข้าเพื่อส่งออก ไม่เชื่อมโยง “โลก”
นายนริศกล่าวต่อว่าอีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับโครงสร้างธุรกิจเอสเอ็มอีไทยคือ ความเชื่อมโยงกับตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลักกว่า 70% ของรายได้ทั้งประเทศ แต่การเชื่อมโยงกับตลาดโลกหรือเข้าถึงตลาดการค้าระหว่างประเทศจากสัดส่วนมูลค่าการค้าทั้งหมดของเอสเอ็มอีไทยมันน้อยมาก มีเพียง 1.32 ล้านล้านบาท จากมูลค่าการค้าของไทยทั้งหมด ที่ 15.5 ล้านล้านบาท หรือเพียง 7 – 8% ของมูลค่าการค้าไทยทั้งหมด และหากดูเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็กจะเหลือเพียงประมาณ 385,000 ล้านบาท หรือ 2.5% ของมูลค่าการค้าไทยทั้งหมด
“ยิ่งไปเทียบกับบริษัทข้ามชาติ ซึ่งมีจำนวนบริษัทน้อยแค่ 358 แห่ง แต่ปริมาณการค้ากินไปเกือบ 70% ของการค้าทั้งหมดแล้ว คือประมาณ 10 ล้านล้านบาท ส่วนบริษัทไทยต่อให้รวมทั้งหมดทั้งขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก ก็แค่ประมาณ 30% เท่านั้นคือประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท เอสเอ็มอีไทยจึงกลายเป็นยิ่งเล็กมากและเข้าไม่ถึงกับตลาดการค้าโลก” นายนริศ กล่าว
นายนริศกล่าวต่อว่าหากดูประเภทอุตสาหกรรมของธุรกิจไทยและต่างชาติ ยิ่งเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน โดย 47% ของการมูลค่าการค้าไทยทั้งหมดหรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท เป็นการค้าของบริษัทข้ามชาติในไทยเพียง 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 25% ของการมูลค่าการค้าไทยทั้งหมด อุตสาหกรรมยานยนต์ 2.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 17% และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 730,000 ล้านบาท หรือประมาณ 5%
ขณะที่ธุรกิจไทยทั้งหมด รวมทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ปรากฏว่าอุตสาหกรรมอันดับ 1 ที่ค้าขายกับต่างชาติคืออุตสาหกรรมอาหาร 780,000 ล้านบาท หรือประมาณ 5% ของการมูลค่าการค้าไทยทั้งหมด รองลงมาคือเคมีภัณฑ์ 480,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3% ของการมูลค่าการค้าไทยทั้งหมด อุตสาหกรรมพลังงาน 370,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3% ของการมูลค่าการค้าไทยทั้งหมด และอุตสาหกรรมยาง 310,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3% ของการมูลค่าการค้าไทยทั้งหมด
“ทั้งหมดนี้ย้อนกลับไปพื้นที่อีอีซี พบว่าธุรกิจของต่างชาติในไทยที่ค้าขายกับโลก คือธุรกิจในพื้นที่อีอีซีทั้งนั้นเลย ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ของไทยสัดส่วนเล็กกว่ากันเยอะมาก และหลักๆธุรกิจที่ทำก็ไม่เกี่ยวกับโครงการของอีอีซี ดังนั้นโครงการอีอีซีที่จะผลักดันเรื่องยานยนต์ เรื่องอิเล็กทรอนิกส์มากๆ ก็เป็นบริษัทต่างชาติ โดยพื้นฐานแล้วกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ มีกำไรก็ส่งกำไรกลับประเทศ ตรงนี้บริษัทไทยจะทำอย่างไร โครงการอีอีซีทำมาเพื่อการค้าระหว่างประเทศ นักลงทุนเขาคงไม่ทำยานยนต์ไฮโซมาขายในไทยอย่างเดียว ส่งออกก็เยอะกว่า 2 เท่าอยู่แล้ว แต่ไทยจะได้อะไร มันกลายเป็นธุรกิจอาหาร เคมีภัณฑ์ พลังงาน ยางพารา เสื้อผ้าแฟชั่น แล้วทางออกประเทศไทยสำหรับเอสเอ็มอีจะทำอย่างไรให้เข้าถึงตลาดแบบนี้ได้” นายนริศ กล่าว
ทั้งนี้ ถ้าแยกให้เห็นกิจกรรมการนำเข้าส่งออกจะพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่และเป็นบริษัทข้ามชาติในไทยส่วนใหญ่จะทั้งนำเข้าและส่งออกและมีขนาดการค้าใหญ่มาก แต่พอดูโครงสร้างธุรกิจเอสเอ็มอีไทย กลับพบว่าส่งออกอย่างเดียวเยอะมาก แล้วถ้าสถานการณ์ค่าเงินแข็งค่าอย่างตอนนี้ กลุ่มนี้จะมีปัญหาขึ้นมาทันทีเพราะไม่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินโดยธรรมชาติเลย
และถ้าหากเจาะลงไปในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก แยกตามประเภทธุรกิจ พบว่าธุรกิจเล็กๆของไทยนิยมนำเข้าสินค้ามาขาย อาทินำเข้าสินค้าจากจีนมาขาย ขณะที่เอสเอ็มอีของไทยที่ทำธุรกิจเพื่อส่งออกมีแค่ 2 ธุรกิจคือเสื้อผ้าแฟชั่นทั้งแบบซื้อมาขายไปกับเย็บเอง และธุรกิจอาหาร อาจจะมีข้อยกเว้นคือสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกจำนวนมากอยู่แล้ว
- “แบบนี้แปลว่าธุรกิจขนาดเล็กของไทยที่เข้าถึงตลาดโลกได้จริงๆมีแค่กลุ่มแฟชั่นและกลุ่มอาหารบางส่วน ซึ่งไม่ได้ล้ออะไรไปกับโครงการอีอีซีเลย คือมันเหมือนภาพอยู่คนละโลก ไม่เชื่อมโยงกันเลย ถ้าภาครัฐสามารถเชื่อมต่อกันได้ครบ บริษัทใหญ่ก็ต้องได้ แต่ก็น่าจะจูงเอสเอ็มอีไทยไปด้วย ตอนนี้เหมือนยิ่งกว่าตกขบวนอีก” นายนริศ กล่าว
แนะรัฐบาล “สื่อสาร-เข้าหา” เอสเอ็มอี
นายนริศ กล่าวต่อไปว่า “สำหรับทางออกสำหรับเอสเอ็มอีหรือรัฐบาลอย่างแรกคือต้องสร้างความตระหนักว่าเอสเอ็มอีมีโอกาสที่จะได้จากโครงการอีอีซี อาจจะเริ่มจากกลุ่มที่มีศักยภาพในพื้นที่อีอีซีก่อนไม่กี่พันราย ตรงนั้นไม่ได้ไกลตัว เพราะจากข้อมูลคือเขาทำธุรกิจมาได้แล้ว 3-4 ปีมีกำไร มีขนาดเติบโต แปลว่าเขามีประสิทธิภาพและศักยภาพอยู่ แล้วหากเข้าถึงโครงการอีอีซีได้เขาก็จะพาห่วงโซ่อุปทานรอบๆตัวเขามาได้อีกด้วย”
ตรงนี้รัฐบาลอาจจะต้องช่วยเหลือ เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ได้มีเวลามาสนใจ แค่ดำเนินธุรกิจแต่ละวันให้ไปต่อได้ก็หมดเวลาแล้ว เอสเอ็มอีต้องทำเองทุกอย่าง การเข้าถึงบริษัทกฎหมายหรือที่ปรึกษาอะไร เพื่อจะพาเข้าอีอีซีคงไม่มีใครทำให้ เป็นหน้าที่ของสำนักงานอีอีซีที่ตอนนี้งานหลายด้านก็เดินหน้าไปได้ดี อยู่ตัวมากขึ้น คิดว่าน่าจะแบ่งหรือหาช่องทางสำหรับให้กลุ่มนี้บ้างก็ได้
“ผมว่าตอนนี้เอสเอ็มอีแอบคับแค้นใจนะ เขามาเข้าบัญชีเดียว เข้าระบบ เสร็จแล้วบอกจะเก็บภาษีนิติบุคคล 20% ก็ต้องให้ทางออกเขาบ้าง แล้วตัวกฎหมายก็มีความดีคือไม่ได้ตัดช่องธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็ก มันวางมาให้เอื้อสำหรับเอสเอ็มอีด้วย เพียงแต่ไม่มีคนมาจับมาเจอกัน ควรมีการกำหนดอย่างเช่น ถ้าจะมาลงทุนในอีอีซี จะต้องพาเอสเอ็มอีเป็นห่วงโซ่เข้ามาด้วยไหม อย่างยานยนต์จะไม่ค่อยกังวล เพราะกลุ่มนี้เขาพาไปอยู่ด้วย ห่วงโซ่อุปทานมันชัดเจนมาก แต่พวกบรรจุภัณฑ์ ผลิตเหล็ก วัสดุก่อสร้าง บางทีมันถูกตัดหายไปเลย เขาไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่ตรงๆ ก็เดินกันเอง ทีละคนๆ มันก็ไม่ถึงที่ที่ควรจะไป แล้วแบบนี้จะอยู่อย่างยั่งยืนอย่างไร” นายนริศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเอสเอ็มอี นายนริศ กล่าวว่า”จะต้องเจ็บปวด การเปลี่ยนแปลงต้องมีผลกระทบค่อนข้างมาก ซึ่งเหมือนกับหลายประเทศที่ก้าวข้ามไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีมีสัดส่วนใหญ่ของประเทศและอยู่ได้ยั่งยืนมา ตัวอย่างเช่นในออสเตรเลียสมัยก่อน 20 ปีที่แล้วทำแค่ฟาร์มโคนม ขายนมแข่งกัน ต่อมาเจอนิวซีแลนด์เริ่มทำฟาร์มโคนมมาแข่งอีก เจอปัญหาเดียวกันกับไทยที่มีธุรกิจค้าปลีกจำนวนมาก ถามว่าออสเตรเลียทำอย่างไร จะเลิกทำก็ไม่ได้ ที่ดินมีมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเลย ออสเตรเลียใช้เวลาเกือบ 10 ปีกว่าจะเปลี่ยนแปลงให้มาผลิตสินค้าที่มูลค่าสูงขึ้น เช่น แปรรูปสินค้าจากนมต่างๆ ซึ่งกรณีนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่อาจจะมีช่องทางการเปลี่ยนผ่านง่ายกว่า”
แต่กรณีของไทยโครงสร้างเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจซื้อมาขายไปและนำเข้ามาขายด้วย คำถามคือจะอยู่อย่างไร ยิ่งในยุคสมัยนี้ที่มี e-Commerce ที่ทำให้อำนาจในการตั้งราคาที่เคยมีมันหายไปหมดเลย แปลว่าธุรกิจเอสเอ็มอีไทยซื้อมาขายไป 1.5 ล้านรายจะไปต่ออย่างไร มันยากมาก และทุกวันนี้ก็เริ่มส่งสัญญาณไม่รอดชัดเจนขึ้น เช่น เอ็นพีแอลในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 460,000 ล้านบาท 250,000 ล้านบาท หรือ 50% คือเอสเอ็มอี แล้วในนี้จำนวนมากคือกลุ่มค้าส่งค้าปลีก
“จริงๆภาพมันเปลี่ยนไปแล้วด้วย มันไม่ใช่แค่ต้องปรับตัว มันต้องหาทางออกแล้วนะ ว่าจะออกอย่างไร จะไปทำอะไร ในขณะที่ยังไม่เสียทุกอย่างไปหมด ตลาดมันก็กินขึ้นมาเรื่อยๆ ก็อยากจะพูดว่าทำแบบญี่ปุ่นสิ ทำโอท็อปเพิ่มคุณภาพ แต่อันนั้นมันก็เป็นอุตสาหกรรมการผลิต มันยังมีของอะไร แต่ซื้อมาขายไป มันไม่มีทางอะไรเลย แล้วถ้าให้ตลาดจัดการมันสุดท้ายคือตลาดจะบังคับให้ออกไป เขาต้องเลิกกิจการ แล้วจะมีแผนรองรับอย่างไร มันเจ็บปวดอยู่แล้ว แต่ที่เจ็บกว่านั้นคือเรายังไม่มีแผนรองรับ เรายังไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ แล้วการจ้างงานผมก็คิดว่ากลุ่มนี้ก็เป็นส่วนใหญ่ด้วยแต่อาจจะไม่เป๊ะจากข้อมูลมันไม่ได้บอกละเอียดขนาดนั้น แต่คิดว่าน่าจะเกือบๆครึ่งหนึ่งจาก 20 ล้านคน พวกนี้จะเป็นจ้างงานตัวเองด้วย” นายนริศ กล่าว
SOURCE : www.thaipublica.org