พระราชกรณียกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม รัชกาลที่ 10 – พื้นฟูป่าที่ หนองอึ่ง เพื่อคนอยู่กับป่าอย่างเกื้อกูล
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่10 ทรงสืบสานแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานไว้ เพื่อให้ราษฎรอยู่ดีกินดี แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทั้งด้านดิน น้ำ ป่า
PHOTO : www.crownproperty.or.th
“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
จากพระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมาสะท้อนถึงพระราชปณิธาน พระราชหฤทัยอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อสานต่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์
ตลอดช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเรียนรู้หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในด้านต่าง ๆ โดยได้ทรงติดตามเสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจพร้อมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในแทบทุกหนแห่ง เมื่อเสด็จขึ้นทรงราชย์ ทรงต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ปวงประชาชนชาวไทยสืบไป
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 (เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)
พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร บ้านคำน้ำสร้าง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร วันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ ด้วยการขุดลอกหนองอึ่งที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ พร้อมการพัฒนาปรับปรุงดินและพื้นที่แห้งแล้ง ด้วยการปลูกป่าและหญ้าแฝก รวมถึงการฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนองอึ่ง ในพื้นที่กว่า 3,006 ไร่ โดยราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมและร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่โดยรอบหนองอึ่ง
โดยพื้นที่หนองอึ่ง มีแม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน คือแม่น้ำชีและลำน้ำยัง พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ลุ่มต่ำและเป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน ทำให้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน เพื่อความอยู่รอด ชาวบ้านจึงต้องบุกรุกป่า สร้างที่อยู่อาศัย ทำไร่เลื่อนลอย บางส่วนต้องย้ายถิ่นฐานออกไปทำงานในเมือง
PHOTO : www.welovethaiking.com
ต่อมาได้จัดตั้งเป็น “ป่าชุมชนดงมัน” ในปี 2546 เพื่อสนองพระราชดำริ “ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล”
ป่าชุมชนดงมันเป็นป่าบกผืนเดียวที่น้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพเป็นป่าดิบแล้งผสมเต็งรัง เป็นแหล่งพึ่งพิงที่สำคัญยิ่งของ 7 หมู่บ้านเป้าหมายโครงการ ในการเป็นแหล่งเก็บหาของป่าไม้ใช้สอย ไม้ฟืน รวมถึงการปลูกพืชไร่ และทำเลเลี้ยงสัตว์ ทรัพยากรป่าไม้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม คงเหลือสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ประมาณ 800 ไร่ ป่าเสื่อมโทรม 1,200 ไร่ และพื้นที่ไร่ร้างประมาณ 800 ไร่
การฟื้นฟูป่าไม้บริเวณพื้นที่หนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม และเป็นแบบอย่างของแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
PHOTO : www.welovethaiking.com
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงตระหนักอย่างดียิ่งในคุณค่าแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมุ่งมั่นสืบสาน ต่อยอด พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ อาทิเช่นงานด้านสิ่งแวดล้อม ฯ เพื่อความก้าวหน้า และประโยชน์สุขแก่พสกนิกรชาวไทย
อ้างอิง : “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ https://bit.ly/2JbS8ui
พระมหากรุณา ฯ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว..พระราชดำริโครงการที่หนองอึ่ง..ฟื้นฟูป่า http://welovethaiking.com
SOURCE : www.seub.or.th