การออมเงิน คือพื้นฐานของความมั่นคง และจะนำเราไปสู่ความมั่งคั่ง สำหรับแนวทางการเก็บเงิน ออมเงิน เราก็ต้องไม่เบียดเบียนการใช้ชีวิตของเรามากเกินไป ต้องเก็บเงินไม่ให้เราลำบาก หรือต้องอด ๆ อยากๆ ยังได้ใช้ชีวิต มี Life Style แต่จะทำได้อย่างไร ? ไปติดตามกันเลย

วิธีเก็บเงินไม่ให้ตัวเองลำบาก

การเก็บเงินไม่ให้ตัวเองลำบาก เราต้องแยกแยะออกมาก่อนว่า ค่าใช้จ่ายอะไรที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายอะไรที่เกินความจำเป็น ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าอะไรที่เกินความจำเป็นเราต้องตัดทิ้ง ลองมาดูตัวอย่างรายรับ และรายจ่ายดังต่อไปนี้

ตัวอย่าง : นายหนึ่ง มีรายได้ประจำ 20,000 บาทต่อเดือนหลังหักภาษี และประกันสังคมแล้ว ส่วนรายจ่ายของนายหนึ่งมีดังต่อไปนี้

  • ค่าหอ 3,000 บาท ต่อเดือน
  • ค่างวดรถยนต์ 5,000 บาทต่อเดือน
  • ค่ากิน ค่าใช้จ่ายประจำวัน 10,000 บาทต่อเดือน
  • ค่าโทรศัพท์ 300 บาทต่อเดือน
  • เงินออม 1,700 บาทต่อเดือน

จากตัวอย่างของนายหนึ่งเราพอจะสังเกตเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่เยอะเกินไปทำให้เงินเก็บเหลือน้อย … ใช่เลยครับ ! มันคือค่าใช้จ่ายประจำวันต่อเดือนที่สูงถึง 10,000 บาทต่อเดือนนั่นเอง ถ้าลองมาแตกค่าใช้จ่ายต่อเดือน ดังนี้

  • ค่ากาแฟแก้วละ 100 บาท ทานทุกวันเป็นเงิน 3,000 บาท
  • ค่าข้าววันละ 200 บาท ทานทุกวันเป็นเงิน 6,400 บาท
  • ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 600 บาทต่อเดือน

จากตัวอย่างง่าย ๆ ที่ยกมาให้พิจารณาจะพบว่า ค่าใช้จ่ายที่ “เกินจำเป็น” ก็คือ ค่ากาแฟนั่นเอง วิธีที่จะทำให้เงินเก็บเพิ่มในกรณีนี้ก็คือ ลดค่ากาแฟลง อาจทานกาแฟแค่แก้วละ 50 บาท ลดเกรดลงมาหน่อยจะทำให้เงินเก็บเพิ่มทันที 1,500 บาทต่อเดือน แถมทำให้เงินเก็บเรามากขึ้น หรือถ้าใครยังติดใจในรสชาติแบรนด์นี้อยู่ก็กินได้อยู่ แต่อาจจะจำกัดปริมาณบ้าง ไม่ใช่กินทุกวัน แบบนี้ก็จะยิ่งมีเงินเหลือเก็บ

เก็บเงินแล้วเอาไปทำอะไรดี

สำหรับคนไม่ชอบความเสี่ยงการเก็บเงินสดไว้เฉย ๆ ที่บ้าน คงไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ หรือจะเก็บเงินไว้กับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ก็อาจทำให้เราเผลอใจเบิกเงินออกมาใช้แบบง่าย ๆ

ข้อแนะนำ : เราควรแบ่งเก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บ้างเพียงแค่ไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินจริง ๆ และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ควรมีบัตรเอทีเอ็มเพื่อสะดวกในการเบิกถอน

ส่วนเงินเก็บแบบ “จริงจัง” ควรเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากประจำที่เบิกถอนยาก ไม่มีบัตรเอทีเอ็มให้กดง่าย ๆ จะถอนได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนด และต้องไปเบิกถอนที่สาขาของธนาคารทำให้ยากเข้าไว้

ลองมาดูตัวอย่างแค่เงินเก็บที่เพิ่มขึ้นของนายหนึ่ง จากเดิมเก็บเงินได้เดือนละ 1,700 บาท พอเปลี่ยนพฤติกรรมการทานกาแฟที่ย่อมเยาขึ้น ทำให้เงินเก็บเพิ่มเป็น 1,700 + 1,500 = 3,200 บาทต่อเดือน หรือปีหนึ่งสามารถเก็บเงินได้มากถึง 3,200 x 12 = 38,400 บาทต่อปี เป็นเงินก้อนใหญ่ขึ้นมาละ !

Top 5 ธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยมากสุด !

เรามาดูดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 5 อันดับแรก (ข้อมูลปี 2560 – ต้นปี 2561)

  • อันดับแรก “ธนาคาร ซิตี้แบงก์” บัญชีเงินฝากประจำธรรมดา อัตราดอกเบี้ย 1.6 – 2%
  • อันดับสอง “ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” บัญชีเงินฝากประจำพิเศษ อัตราดอกเบี้ย 1.85%
  • อันดับสาม “ธนาคาร ไทยเครดิต” บัญชีเงินฝากประจำพิเศษ อัตราดอกเบี้ย 1.8%
  • อันดับสี่ “ธนาคาร อาคารสงเคราะห์” บัญชีเงินฝากประจำ อัตราดอกเบี้ย 1.55 – 1.75%
  • อันดับสุดท้าย “ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา” บัญชีเงินฝากประจำพิเศษ อัตราดอกเบี้ย 1.75%

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอัตราดอกเบี้ย และรูปแบบการฝากของบัญชีแต่ละธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลที่นำเสนอ สำหรับคนออมเงินอย่างเรา ๆ ถ้าจะฝากเงินกับธนาคารดังกล่าว ควรสอบถามข้อมูลโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ธนาคารเลยจะดีที่สุดครับ

___

เรื่อง : นายแว่นธรรมดา

www.dooddot.com