6 วิธีแก้นิสัย “ใช้เงินเกินตัว” รับรอง! มีเงินเก็บชัวร์
เชื่อว่าเหล่ามนุษย์เงินเดือนหลายๆ คนคงเคยเจอปัญหาเงินไม่พอใช้ถึงสิ้นเดือน หรือมีเงินใช้แบบเดือนชนเดือน ลำบากเหลือเกิน ไม่มีเงินเก็บเลย ก็รู้สึกว่าเงินที่ได้มามันก็ไม่น้อยนะ แต่พอเลยต้นเดือนมาแล้วเงินหายไปไหนหมดนะ
อุ๊ย! นั่นของ SALE นี่นา ไม่ได้แล้วต้องรีบไปซื้อ อันนี้ก็เซลล์อันนู้นก็เซลล์ ช้อปๆๆ กระจาย มีความสุขมากเลย พอมารู้ตัวอีกทีอ้าว เงินในกระเป๋าหายไปไหนหมด
ถ้าคุณกำลังเจอปัญหาแบบนี้ เป็นไปได้ว่าคุณอาจกำลังเป็นคนที่ “ใช้เงินเกินตัว” อยู่ก็ได้ เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ดีแน่ๆ เพราะอาจจะต้องไปกู้หนี้ยืมสิน และลำบากในอนาคตมากขึ้นไปอีก คนที่เหนื่อยก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นตัวคุณเอง ก่อนที่จะใช้เงินเกินตัวไปมากกว่านี้มาดูเคล็ดลับการแก้นิสัยใช้เงินเกินตัวกันหน่อยดีกว่า
-
ปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้เงิน
พูดน่ะมันง่าย แต่ทำมันยากเหลือเกินค่ะ แต่ก็ต้องพยายามนะคะ ให้คุณนึกไว้เสมอว่าหากเราไม่ยับยั้งชั่งใจที่จะใช้เงินเสียตั้งแต่ตอนนี้ ก็อาจทำให้เราต้องเหนื่อยในอนาคตข้างหน้า ดังนั้น คุณควรฝึกจิตใจให้แข็งแกร่ง และตระหนักถึงความจำเป็นก่อนที่จะควักกระเป๋าจ่ายเงินให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
-
ใช้เงินสดซื้อของ
บัตรเดบิตไม่เท่าไหร่ แต่บัตรเครดิตนี่สิคะ ง่ายในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้คุณเผลอลืมตัวไปว่าใช้เงินไปมากแค่ไหนแล้ว จริงอยู่ที่การใช้บัตรเครดิตสะดวกตรงที่ไม่ต้องพกเงินสดเยอะๆ หนักๆ เอาไว้ในกระเป๋า
แต่การพกเงินสดนั้นก็ดีตรงที่เราจะไปรู้ว่าเราใช้เงินไปเท่าไหร่ และเราเหลือเงินที่สามารถใช้ได้อีกเท่าไร พูดง่ายๆ ก็คือเราจะสามารถจัดระเบียบการใช้เงินได้ง่ายกว่านั่นเองค่ะ
-
เลิกใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ หรูหรา
หากคุณเป็นคนที่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตแบบสะดวกสบาย หรือชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ซื้อของราคาแพง จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ผิดอะไรถ้าเรามีเงินมากพอ แต่ถ้าการใช้ชีวิตแบบนั้นมันทำให้เราเสียเงินที่มีอยู่น้อยนิดไปโดยใช่เหตุ ก็ควรต้องเพลาๆ ลงบ้าง
แล้วลองพิจารณาดูว่าหากเราลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้เราก็จะมีเงินเพิ่มขึ้นนะ อาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ไม่ต้องลำบากในอนาคต
-
เลือกคบเพื่อนที่ไม่พากันไปเสียเงิน
การเลือกคบเพื่อนก็มีอิทธิพลต่อการใช้เงินอยู่เหมือนกันค่ะ ยิ่งขาช็อปแล้วด้วย ก็คงจะพากันซื้อของช็อปกันสนุกสนานเลย ไม่มีใครห้ามใคร เผลออีกทีก็เงินหมดทั้งคู่แล้ว
แต่จริงๆ แล้วข้อนี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ น้อยส่วนนักที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ถ้าเรามีสติในการใช้เงินซะอย่าง เพื่อนช็อปเราก็ห้ามเพื่อน เราช็อปเพื่อนก็ห้าม ผลัดกันเตือนสติน่าจะเป็นอะไรทีด่ีที่สุดเลยล่ะค่ะ
-
วางแผนการเงินให้ชัดเจน
หากคุณไม่มีความหนักแน่นหรือไม่มีเป้าหมายทางการเงิน ทั้งแบบระยะสั้น- ระยะยาว จะทำให้คุณสูญเสียประสิทธิภาพในการจัดลำดับความสำคัญทางการเงิน ว่าเรื่องใดที่สำคัญมาก เรื่องใดที่สำคัญน้อย สุดท้ายแล้วก็จะพ่ายแพ้ต่อกิเลสและใช้เงินไปจนหมด
ทางที่ดีก็คือต้องวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือน ว่าจะใช้จ่ายไปกับอะไรเป็นจำนวนเท่าไร เดือนนี้จะเก็บเงินเท่าไร หรือวางแผนจะซื้อของสักชิ้น ต้องเก็บเงินนานแค่ไหน และทำตามเป้าหมายนั้นให้ได้ หากคุณไม่สันทัดเรื่องการวางแผนก็ลองปรึกษาคนใกล้ตัวที่เก่งเรื่องบริหารเงินดูนะคะ
-
ตั้งสติก่อนจ่าย
เวลาที่คนเรามีเงินเยอะๆ อยู่ในครอบครอง ก็ไม่แปลกที่เราจะอยากนำไปใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองบ้าง แต่เงินที่ว่าเยอะนั้นก็มีวันที่จะหมดไปได้ ถ้าใช้อย่างไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ
ดังนั้น ก่อนที่จะควักเงินจ่ายไปกับอะไรสักอย่าง อยากให้ตั้งสติให้ดีเสียก่อนว่าเราอยากได้ของสิ่งนี้จริงๆ หรือไม่ และมันจำเป็นต้องซื้อในตอนนี้เลยหรือไม่ ลองใช้เวลาในการชั่งใจก่อนหยิบเงินออกมาจ่าย เพราะเงินก็เหมือนสายน้ำจ่ายไปแล้วไม่หวนคืนนะคะ
ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีอย่างเช่นตอนนี้ เราควรเก็บเงินเอาไว้บ้าง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือมีเหตุจำเป็นให้ต้องใช้เงินขึ้นมา เราจะได้มีเงินสำรองเอาไว้ใช้จ่ายในอนาคตค่ะ
เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่เงินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้น อย่าลืมตั้งสติก่อนควักกระเป๋าจ่ายเงินนะคะ จะได้มีเงินเก็บเยอะๆ