โรคแปลก ๆ ของคนขี้ กลัว ที่บั่นทอนสุขภาพแบบไม่รู้ตัว
โรคกลัว (Phobia) เป็นอาการที่แตกต่างจากการกลัวแบบทั่วไป (Fear) โดยผู้ที่มีอาการ Phobia จะมีการแสดงอารมณ์ หรือปฏิกิริยาทางร่างกายที่รุนแรง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่รู้สึกกลัว
วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับโรคกลัวสิ่งแปลก ๆ ที่คุณอาจยังไม่รู้ว่า มีอาการแบบนี้อยู่บนโลกด้วย จะกลัวอะไรบ้างตามมาดูกันเลย
- กลัวการนอนหลับไหล (Somniphobia)
อาการกลัวการนอนหลับไหล หรือการหลับลึกแบบที่คนเรานอนหลับกันอยู่ทุกคืนนี่แหละ คนที่มีอาการกลัวการหลับไหลแบบนี้เพราะเขามีความกังวลว่าหากหลับไปจนไม่รู้สึกตัวแล้ว อาจไม่ได้ตื่นขึ้นมาอีก จึงกลัวและไม่กล้าหลับลึกนั่นเอง
ซึ่งอาการกลัวชนิดนี้ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างแน่นอน เพราะการนอนหลับคือช่วงเวลาที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะได้พักผ่อนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่ถ้าไม่ยอมนอนหลับแบบนี้ ร่างกายก็จะไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ สมองก็จะทำงานหนัก ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และเจ็บป่วยได้ง่าย
- กลัวตัวตลก (Coulrophobia)
ตัวตลก ในที่นี้หมายถึง คนที่แต่งหน้า แต่งตัวเป็นตัวตลกเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับคนทั่วไป โดยส่วนมากจะพบเห็นตามสวนสนุกหรือโรงละคร ถ้าเป็นคนทั่วไปเมื่อเห็นตัวตลกก็จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้เกิดขึ้นได้ แต่คนที่มีอาการกลัวตัวตลก จะไม่รู้สึกอย่างนั้น
คนทั่วไปจะมองว่าการแต่งเติมสีแดงบนปากของตัวตลกนั้นคือรอยยิ้มกว้างที่มาจากความสุขของตัวตลก แต่คนที่กลัวตัวตลกจะรู้สึกว่า รอยยิ้มนั้นช่างเหมือนร่องรอยเลือดที่เปรอะเปื้อนบนปากของตัวตลก เหมือนพวกเขาไปกัดใครมาอย่างนั้นแหละ
อาการกลัวตัวตลกแบบนี้ อาจทำให้รู้สึกวิตกกังวล หัวใจเต้นแรง และหมดสติได้ หากรู้ตัวว่ามีอาการนี้ให้พยายามหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่ตัวตลกมักจะปรากฏตัว เพื่อความสบายใจ
- กลัวการอยู่แบบไร้มือถือ (Nomophobia)
อาการนี้เริ่มปรากฏในผลสำรวจเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่วงที่มีการเข้ามาของสมาร์ตโฟน จะเห็นได้ว่าคนไม่น้อยเลยที่มีอาการติดสมาร์ตโฟน และใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการเล่นมือถือ อาการ Nomophobia จึงมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ติดสมาร์ตโฟนแบบหนักหน่วงนั่นเอง
อาการกลัวการอยู่แบบไร้มือถือนี้ ไม่ใช่แค่กลัวว่าจะไม่ได้เล่นมือถือ แต่ยังหมายรวมไปถึงความรู้สึกกลัวถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และความรู้สึกกลัวเมื่อแบตเตอรี่มือถือใกล้จะหมดอีกด้วย
ซึ่งอาการนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยติดสมาร์ตโฟนมากจนเกินไป และส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายด้าน เช่น แสงสีฟ้าจากจอมือถือที่ทำลายประสาทตา หรือการนิ้วมือและข้อมือจนเกิดพังผืดและมีอาการนิ้วล็อค
- โรคกลัวรู (Trypophobia)
โรคนี้เคยเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลมีเดียกันอย่างกว้างขวาง และมีการแชร์รูปภาพพิลึก ๆ ออกมาแล้วอ้างว่าใครทนดูรูปพวกนี้ไม่ได้ แสดงว่าคุณเป็นโรคกลัวรู แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะรูปภาพเหล่านั้นมักจะเป็นรูปที่ถูกตัดต่อ ตกแต่งให้มีความพรุนที่ผิดแปลกไปจากสภาพปกติ รูปภาพแบบนั้น ไม่ว่าใครก็ต้องรู้สึกขนลุกกันทั้งนั้น ไม่ใช่แค่คนที่เป็นโรคกลัวรูหรอก
บุคคลที่มีอาการของโรคกลัวรู คือคนที่รู้สึกกลัว หรือรู้สึกขนลุก เมื่อต้องพบเห็นสิ่งที่มีรูพรุน เช่น รูบนรังผึ้ง หรือรูพรุนบนฟองน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนทั่วไปก็จะมองว่ามันเป็นสิ่งปกติ ไม่ได้พรุนจนน่าเกลียดน่ากลัวแต่อย่างใด
- โรคกลัวความเป็นนิรันด์ (Apeirophobia)
แม้ว่าเราจะรู้กันอยู่แล้วว่าอะไร ๆ ก็มีวันดับสลายของมัน ไม่มีสิ่งใดที่จีรังยั่งยืนตลอดไป แต่ก็มีความเชื่อที่ส่งต่อกันมาเนิ่นนานถึงเรื่องชีวิตหลังความตาย ทั้งนรก สวรรค์ โดยเชื่อว่าเมื่อคนเราหมดลมหายใจ ก็เพียงแค่เปลี่ยนสถานะและย้ายไปยังอีกที่หนึ่ง ชีวิตไม่ได้จบสิ้นลง ซึ่งหลาย ๆ คน ก็ไม่ได้ต้องการจะมีชีวิตแบบเป็นนิรันด์และอยู่ตลอดไป จึงเป็นอาการของโรคกลัวความเป็นนิรันด์
ผู้ที่อาการของโรคกลัวความเป็นนิรันด์ จะรู้สึกกลัวชีวิตอมตะและสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีวันหลุดพ้นไปได้ ความรู้สึกกลัวนี้จะทำให้วิตกกังวล ไม่สบายใจ นอนไม่หลับ และมีภาวะซึมเศร้า
ความกลัวเป็นเรื่องปกติ แต่อาการกลัวที่ไม่ปกติแบบ Phobia นั้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนเราได้มากกว่าที่คิด เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ตัวว่ามีอาการกลัวสิ่งแปลกและมีปฏิกิริยาตอบรับที่รุนแรง แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา จะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่หวาดระแวงและสบายใจมากขึ้น